พฤติกรรม ‘เออ-ออ’ การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยกระแสสังคม
ปัจจุบันพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลถูกแชร์อย่างเรียลไทม์ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้การตัดสินใจซื้อเกิดขึ้นเร็วขึ้นกว่าที่เคย ผู้บริโภคจำนวนมากไม่ได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึก แต่เลือกซื้อตามกระแส เพราะเชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะเลือกสิ่งที่ถูกต้อง หากไม่ตามอาจพลาดโอกาสดีๆ ไป
แนวคิดนี้เรียกว่า พฤติกรรมเออ-ออ ซึ่งได้รับอิทธิพลจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
– Social Influence – อิทธิพลทางสังคมที่ส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรม
– Bandwagon Effect – พฤติกรรมซื้อตามกันเพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
– FOMO (Fear of Missing Out) – ความกลัวว่าจะพลาดสิ่งสำคัญไป
จากผลการศึกษาของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) พบว่าผู้บริโภคไทยนิยมซื้อสินค้าตามกระแสใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม, เทคโนโลยี และการลงทุน
3 กลุ่มธุรกิจที่พฤติกรรมเออ-ออมีอิทธิพลมากที่สุด
1. อาหารและเครื่องดื่ม: การบริโภคที่ขับเคลื่อนด้วยโซเชียลมีเดีย
– 60% ของผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าหมวดนี้ตามกระแส
– ผู้หญิง Gen Z เป็นกลุ่มที่เออ-ออตามกระแสมากที่สุด โดยประเภทอาหารยอดนิยม ได้แก่ บุฟเฟ่ต์, คาเฟ่, และร้านอาหารนานาชาติ
– ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจ: รีวิวใน TikTok และ Instagram เป็นช่องทางหลักที่ทำให้เกิดกระแส “กินตามกัน”
– แนวคิดที่ได้รับความนิยม: “Camera Eats First” และ “Instagrammable” – อาหารต้องถ่ายรูปสวยและแชร์ได้
2. เทคโนโลยี ความเร็วคือกุญแจสำคัญ
– ผู้ชาย Gen Y เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเออ-ออด้านเทคโนโลยีมากที่สุด
-สินค้ายอดนิยม ได้แก่ สมาร์ตโฟน, แท็บเล็ต และเครื่องใช้ไฟฟ้า
– ผู้บริโภคเลือกซื้อตาม YouTube Reviewers และ Influencers ที่มีความน่าเชื่อถือ
– ปัจจัยที่กระตุ้นให้คนซื้อ: ต้องการใช้เทคโนโลยีก่อนใคร และต้องมีฟีเจอร์ที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์
3. การลงทุน: เออ-อออย่างมีเหตุผล
– ทองคำ เป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมในการลงทุนมากที่สุด
– Gen Z มองหาการลงทุนที่ทันสมัย คล่องตัว และมีแนวโน้มเติบโตระยะยาว
– แหล่งข้อมูลที่มีอิทธิพล: YouTube, Facebook, และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน
– ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ: ความกังวลว่าจะพลาดโอกาส (FOMO) และสถานะทางสังคม
ER-OR Strategy: 4 กลยุทธ์การตลาดสำหรับพฤติกรรมเออ-ออ
เพื่อให้แบรนด์สามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ CMMU ได้สรุปกลยุทธ์ ER-OR ที่ช่วยให้แบรนด์สร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับผู้บริโภคและกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ ดังนี้
E – Engagement: กระตุ้นการมีส่วนร่วมผ่านประสบการณ์ร่วม
– ใช้โซเชียลมีเดียสร้างปฏิสัมพันธ์ เช่น โพลล์, คอมเมนต์, แชร์ประสบการณ์
– จัดแคมเปญให้ลูกค้าได้เป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ เช่น รีวิวจากลูกค้า หรือการท้าทายออนไลน์
R – Reliability: สร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์
– เน้นการรักษาคุณภาพสินค้าและบริการ
– ใช้รีวิวจากผู้ใช้จริงและการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญ
– โปร่งใสและให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินค้า
O – Outstanding: สร้างความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง
– ชูจุดขายที่แตกต่าง เช่น คุณภาพที่เหนือกว่า หรือฟีเจอร์ที่ไม่เหมือนใคร
– หลีกเลี่ยงการเป็นเพียง “กระแสชั่วคราว” โดยพัฒนาแบรนด์ให้มีคุณค่าในระยะยาว
R – Relationship: สร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน
– ฟังความคิดเห็นของลูกค้าและตอบสนองอย่างจริงจัง
– มอบสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าประจำ เช่น โปรแกรมความภักดี หรือของรางวัลพิเศษ
– ให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการเพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจ
สรุป ER-OR Marketing เป็นมากกว่าการตลาดตามกระแส
การเข้าใจพฤติกรรมเออ-ออของผู้บริโภคเป็นกุญแจสำคัญในการทำตลาดยุคใหม่ ธุรกิจที่สามารถใช้กลยุทธ์ ER-OR อย่างมีประสิทธิภาพจะไม่เพียงแค่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในระยะสั้น แต่ยังสามารถสร้าง Brand Loyalty และความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน ได้ในระยะยาว การตลาดแบบเออ-ออจึงไม่ใช่เพียงแค่การตามกระแส แต่เป็นการเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งและใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด