จุดคบไฟใต้ฟ้าคะนอง: วิเคราะห์ผลสำรวจ EIC ‘ท่องเที่ยวและบริการ’ ช่วยเศรษฐกิจไทยได้ระยะสั้น แต่ ‘เงินเฟ้อและ Recession’ ทั่วโลกอาจเป็นผลเสียในระยะยาว 

  • 12
  •  
  •  
  •  
  •  

 

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2022 คุณสมประวิณ มันประเสิรฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center: EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ได้เผยถึงเศรษฐกิจไทยในภาพรวมไตรมาสสองและคาดการณ์ในส่วนที่เหลือของปี ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า GDP ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 2.7 ในปี 2021 เป็นร้อยละ 2.9 จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงภาคการเกษตรที่จะได้อานิสงส์จากการเกิดปรากฏการณ์ลา นินญา (ปรากฎการณ์ที่ทำให้ไทยฝนตกบ่อยขึ้นและอากาศเย็นลง) อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในระดับโลกยังคงน่ากังวล ด้วยการเกิดเงินเฟ้อ และอาจส่งผลถึง Recession (สภาวะเศรษฐกิจถดถอย) ทำให้ตอนนี้ ประเทศไทย จึงอาจเหมือนกำลัง ‘จุดคบไฟใต้ฟ้าคะนอง’ อย่างไรอย่างนั้น 

 

ท่องเที่ยวและบริการช่วยได้ แต่ไม่ใช่ผู้วิเศษ

 

สัญญาณที่ดี ‘แทบจะ’ ที่สุดของเศรษฐกิจไทย ประหนึ่ง ‘คบไฟลุกโชติช่วง’ ณ ตอนนี้ คือภาคการท่องเที่ยวและบริการ โดยเข้ามาเป็น ‘เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย’ แทนที่ภาคการส่งออกที่ปรับตัวดิ่งลงหลังราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้น จากข้อมูลของ EIC ตัวเลขนักท่องเที่ยวประมาณการอยู่ที่ 7.4 ล้านคน ในช่วงสองไตรมาส โดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวจากอินเดีย ที่คาดว่าจะทะลักเข้ามากว่า 500,000 คนในปีนี้ (ดูเพิ่มที่ ภารตะมาโปรด! เมื่อ ‘นักท่องเที่ยวอินเดีย’ อาจเป็นตัวแปรใหม่ช่วยไทยฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว)

 

สิ่งที่เป็นผลสืบเนื่องตามมาคือ ภาคบริการต่างๆ ย่อมได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย เนื่องจาก เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ร้านค้า ร้านอาหาร ต่างๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยวก็จะขายของได้มากขึ้น โรงแรมที่พักก็มียอดจองมากขึ้น ภาคบริการอื่นๆ อาทิ การขนส่ง หรือสถานบันเทิงเริงรมย์ ก็ได้รับการใช้บริการมากขึ้นเช่นกัน สิ่งที่อาจตามมาก็คือ จะเกิด ‘การจ้างงาน’ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

อย่างไรเสีย คุณสมประวิณได้ให้แง่มุมอีกแง่ว่า ถึงตอนนี้ภาคส่วนดังกล่าวยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่องเศรษฐกิจไทย แต่ ‘ไม่ใช่ผู้วิเศษ’ ที่จะช่วยพยุงไปได้ตลอด นั่นเพราะ ตัวเลขนักท่องเที่ยวยังห่างไกลต่อการกลับไปอยู่ ณ จุดเดิม ที่ประมาณ 40 ล้านคน (ในช่วงก่อนโควิด) รวมถึงในอนาคต ที่ประเทศต่างๆ ทยอยลดมาตรการการเข้าประเทศมากขึ้น ค่าเดินทางที่แพงขึ้น (จากราคาน้ำมัน) หรือประเทศต้นทางอาจประกาศห้ามออกนอกประเทศ อาจทำให้ตัวเลขลดลง และอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอีกระลอกหนึ่ง 

 

เกษตรกรไทย ยิ้มได้เมื่อภัย ลา นินญา (La Niña) มา

 

นอกจากปัจจัยช่วยที่เราสามารถ ‘คาดการณ์ได้’ ยังมีปัจจัยช่วยที่ ‘คุมไม่ได้’ อย่างภัยธรรมชาติ เข้ามาเกี่ยวข้อง คุณสมประวิณได้ออกโรงชี้ชัดว่า เกษตรกรไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมาก จากการที่โลกเกิดปรากฏการณ์ ‘ลา นินญา (La Niña)’ ปรากฎการณ์น้ำมากฝนมากและอุณหภูมิต่ำลงในประเทศไทย เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะ สินค้าปฐมภูมิ (Primary Goods) ที่จำเป็น คนขาดไม่ได้ อย่างพวกข้าว หรือธัญพืชต่างๆ ที่ตอนนี้กำลังขาดแคลนจากภัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ยิ่งทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในตลาดนี้เป็นอย่างมาก หรือก็คือ ตอนนี้ ประเทศไทย ‘มีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า’ (ร่วมกับเวียตนามที่ผลิตสินค้าคล้ายกัน) ไปโดยปริยาย

 

ประเด็นนี้ มีจุดหนึ่งที่สามารถคิดต่อไปได้ว่า แม้เราจะมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าตลาด แต่ ‘ระบบขนส่งสินค้า (Logistic)’ ก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะตอนนี้ ราคาน้ำมันโลกดีดตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ย่อมกระทบต่อการขนส่งโดยตรง ฉะนั้น คำถามสำคัญคือ ข้อได้เปรียบดังกล่าว ได้เปรียบมากพอที่จะทำให้ไทย ‘ใช้ประโยชน์’ (ทั้งจากลา นินญา และอำนาจต่อรอง) จริงหรือไม่?

 

เงินเฟ้อและ Recession อาจทำให้ไม่เป็นดั่งหวัง

 

แม้ว่าตอนนี้ ไทยยังคงมีสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ หากแต่ลอง ‘แหงนหน้าขึ้นฟ้า’ ก็จะพบว่า เศรษฐกิจโลกนั้นยังประสบกับปัญหาอีกนานับประการ ประหนึ่ง ‘ฟนฟ้าคะนองกระจาย’ ที่เห็นได้ชัดที่สุด นั่นคือ ปัญหาเงินเฟ้อ (Inflation) ทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงนโยบาย Zero Covid ซึ่งทำให้เงินเฟ้อดังกล่าวเป็น ‘การเฟ้อที่ต้นทุน’ เป็นสำคัญ 

 

การเฟ้อดังกล่าว เห็นได้ชัดจากปัญหาอุปทาน (Supply Disruption) จากพลังการบริโภคอันดับต้นๆ ของโลกอย่างจีน หยุดชะงัก ราคาน้ำมันและพลังงานที่สูงขึ้นจากภาวะสงคราม และการคว่ำบาตรประเทศที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดน้ำมันโลกร้อยละ 12 อย่าางรัสเซีย สินค้าที่ไม่เพียงพอและขาดแคลนต่อตลาดหลังการเปิดเมือง ทำให้ราคาสูง อาจรวมถึงปัญหา ‘Greenflation’ ที่เกิดจากผู้คน ‘พยายามลดการใช้พลังงานน้ำมัน’ ทำให้ผู้ผลิตลดการผลิต หรือปรับราคาให้สูงขึ้นเผื่ออนาคต เช่นกัน

 

กระนั้น ผลพวงจากการควบคุมเงินเฟ้อโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อเป็นการดึงเงินออกนอกระบบเศรษฐกิจ ที่อาจตามมานั่นคือ ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ หรือ Recession ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าจะเกิดขึ้นรุนแรงมากน้อยเพียงใด โดยที่คุณสมประวิณให้ทรรศนะว่า Recession เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ หากจะควบคุมเงินเฟ้อ แต่ไม่ควบคุมเงินเฟ้อก็ไม่ได้ เพราะเงินเฟ้อจะ ติดลมบน อยู่ยาว อยู่นาน อาจจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่าเดิม

 

Fed ตัวร้าย ทำนักลงทุนคล้ายจะ ‘หลอน’

 

อีกหนึ่งประการสำคัญ ที่คุณสมประวิณเสนอแนะว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่มากก็น้อย นั่นคือเรื่อง ‘การคาดการณ์’ สภาพเศรษฐกิจโดย ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed นั่นเพราะ หลายครั้งหลายคราวที่ Fed ออกโรงคาดการณ์ มักทำให้บรรดานักลงทุน ‘หลอน’ ได้เสมอ อาทิ เศรษฐกิจในตอนนี้อาจได้รับผลกระทบประมาณหนึ่ง หากแต่ผ่าน Fed ผลกระทบอาจรุนแรงไปเป็นร้อยๆ เท่า หรือก็คือ นักลงทุนมัก ‘กังวลเกินความเป็นจริง’ ในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และ ‘เชื่อสนิทใจ’ ต่อ Fed จนเกินไป หลายครั้งหลายคราว Fed ก็แก้ไขเงินเฟ้อจนเกิด Recession เช่นกัน ฉะนั้น คุณสมประวิณจึงแนะนำว่า ให้พิจารณาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดูทีละไตรมาส และยอมรับ After Shock ที่ตามมาว่าเป็นเรื่องปกติให้ได้

 

โปรดจับตาการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

 

แม้ตอนนี้คบไฟที่ไทยจุดยังติดๆ ดับๆ ด้วยฝนฟ้าคะนองจากเศรษฐกิจโลก แต่ ‘ความหวัง’ อยู่ที่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า จะต้องมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินออกนอกระบบเท่าไรจึงจะลดเงินเฟ้อ หรือมีปัจจัยใดที่ทำให้ได้เปรียบในตลาด แต่อยู่ที่ การแก้ไขดังกล่าว ‘ตรงจุด’ หรือไม่เป็นสำคัญ อาทิ จากที่กล่าวไปว่า เงินเฟ้อดังกล่าวมาจาก ‘ต้นทุน’ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงแทบไม่ช่วยอะไร เพราะปัจจัยต้นทุนเป็นปัจจัยที่คุมยาก ดอกเบี้ยปรับขึ้นแต่น้ำมันก็ยังคงแพง และสงครามก็ยังคงอยู่ แม้จะช่วยขจัดการเฟ้อค้างเป็นเวลานานและสร้างความน่าเชื่อถือให้ธนาคารกลางได้ แต่ผลเสียที่ตามมาอาจทำให้เกิด Recession หรือ Stagflation (เงินเฟ้อแต่เศรษฐกิจไม่ดี) ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงกว่าเดิมมาก 

 

ยิ่งไปกว่านั้น ในภาคธุรกิจ ยิ่งต้องตระหนักถึงการพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่ดังกล่าวให้ครบถ้วน เพื่อ ‘เตรียมพร้อมรับศึก 2 ด้าน’ คือรับมือกับทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงเอาแน่เอานอนไม่ได้ และนโยบายที่ตอนนี้ยังคงแก้ไขไม่ตรงจุด เพราะหากหลุดโฟกัสปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงเสี้ยววินาที นั่นหมายถึง ‘คาวเคราะห์’ ที่อาจมาถึงรวกเร็วเสียยิ่งกว่าอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงจำเป็นต้องเตรียม ‘การหาทางออกด้วยวิธีการใหม่ๆ’ เพราะปัญหาดังกล่าวไม่สามารถรอความช่วยเหลือจากภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งได้ เพราะหากรอแล้วได้รับการแก้ไขแบบ ‘เกาไม่ถูกที่คัน’ ก็อาจเป็น ‘คาวเคราะห์’ ที่ประสบแบบไม่ทันตั้งตัว

 

ดังนั้น จึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการ ‘กำหนดนโยบาย’ แก้ไขปัญหาดังกล่าวในอนาคตอันใกล้ รวมถึงบรรดา C-Suites อาจต้องเพิ่ม ‘แว่นตา’ ในการมองสภาพการณ์โลกให้รอบด้านขึ้น เพื่อเป็น ‘เชื้อ’ ให้คบไฟที่จุดขึ้นมา ‘โชติช่วงชัชชวาล’ ต่อไป

Photo Credit:

ที่มา:

 

 

 


  • 12
  •  
  •  
  •  
  •  
Hayden Wiesz
A rookie of Tech columnist with disciplined from Faculty of Political Science, Thammasat University. Writing related with Metaverse, Cryptocurrency, Digital Asset, Financial Technology, Fiscal/ Monetary Policy, Macroeconomics and any Current Affairs. Fully passionate with Political Theory, Political (Ontological) Turn, Agonistic Democracy, Post-marxism, and Korean Studies.