Google, Temasek และ Bain & Company เปิดรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉบับที่ 8 (e-Conomy SEA 2023 Report – Reaching new heights: Navigating the path to profitable growth) ครอบคลุม 6 ประเทศ ได้แก่อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม ระบุว่าปี 2023 เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้เติบโตแค่มูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value: GMV) เท่านั้น แต่ยังเห็นการเติบโตด้านรายได้ และการสร้างผลกำไร ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืนสำหรับ Digital Economy ในภูมิภาคนี้
Marketing Oops! สรุป 12 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยจากรายงาน e-Conomy SEA 2023
1. รายได้เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2023 แตะ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ – คาดทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจ ทั้งเงินเฟ้อ และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย แต่ยังสามารถเติบโต ซึ่งส่งผลต่อ “เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) ในปี 2023 ด้วยเช่นกัน โดยพบว่า
– รายได้เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Revenue) ปี 2023 อยู่ที่ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโตมากกว่ามูลค่าสินค้ารวมของภูมิภาคฯ (GMV) ถึง 1.7 เท่า
– ขณะที่ GMV เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2023 อยู่ที่ 218,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าปี 2025 GMV จะเพิ่มขึ้นเป็น 295,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– คาดการณ์ว่าในปี 2030 เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะแตะ 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ – 1 พันล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีหลายปัจจัยสนับสนุน เช่น การขยายตัวของผู้บริโภคดิจิทัล, เกิดธุรกิจใหม่ใน Digital Economy, บริษัทสามารถทำรายได้และกำไรมากขึ้น, ธุรกิจดิจิทัลมีแผน Exit มากขึ้น
2. Growth Driver หลักของเศรษฐกิจดิจิทัล มาจาก 5 กลุ่มธุรกิจ
รายได้เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2023 อยู่ที่ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาจาก
– 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วย อีคอมเมิร์ซ (E-commerce), การท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel), การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ (Transport & Food Delivery) และสื่อออนไลน์ (Online Media)
– 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาจากบริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services)
3. เพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน ธุรกิจจำเป็นต้องมีแนวทางการทำ “กำไร” ที่ชัดเจน”
การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลจากภาคเอกชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีหลังจากที่เตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกในเรื่องของต้นทุนของเงินลงทุน และประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวงจรการระดมทุน ซึ่งแนวโน้มถดถอยนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคฯ รวมถึงประเทศไทย
– ประเทศไทย ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023 การลงทุนจากภาคเอกชนในเศรษฐกิจดิจิทัลลดลง 66%
– เพื่อให้สามารถหลุดจากภาวการณ์ลงทุนที่ยากลำบากนี้ ธุรกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการสร้างการเติบโต ควบคู่กับการสร้างผลกำไร
นั่นหมายความว่าต้องแสดงให้นักลงทุนที่มุ่งเน้นเรื่องแผนทางออกสำหรับธุรกิจ และผลตอบแทนจกาการลงทุนเห็นว่ามีมูลค่าประเมินราคาเข้าสู่ตลาดที่สอดคล้องกับความเป็นจริง โมเดลการสร้างรายได้ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล และแผนทางออกสำหรับธุรกิจที่สามารถทำได้จริง
“เศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศไทย” ใหญ่อันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
4. เศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศไทย คาดแตะ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ปี 2023 เศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศไทย มีมูลค่า GMV 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– คาดการณ์ว่าปี 2025 เศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศไทย จะมีมูลค่า GMV เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– คาดการณ์ว่าในปี 2030 เศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศไทยจะมีมูลค่า GMV อยู่ที่ 100,000 – 165,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย
– การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ตัวขับเคลื่อนหลักมาจาก 5 กลุ่มคือ อีคอมเมิร์ซ, การท่องเที่ยวออนไลน์, การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์, สื่อออนไลน์ (โฆษณา, เกมมิ่ง, เพลง, วิดีโอ ออนดีมานด์) และบริการด้านการเงินดิจิทัล
5. อีคอมเมิร์ซไทย (E-commerce) มูลค่า 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ – เพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านดออลลาร์สหรัฐในปี 2025
อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย คิดเป็นสัดส่วน 66% ของมูลค่าสินค้ารวม (GMV) ในปี 2023 ซึ่งในภาพรวมผู้ประกอบการจะลดการจัดโปรโมชั่น และปรับส่วนลด เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตและการสร้างผลกำไร
– ปี 2023 อีคอมเมิร์ซในไทยมีมูลค่าสินค้ารวม (GMV) 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราการเติบโต 10% เทียบกับปีก่อน
– ปี 2025 คาดการณ์อีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าสินค้ารวม (GMV) 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยอัตราการเติบโต 16% เทียบกับปีก่อน
– ปี 2030 คาดการณ์อีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าสินค้ารวม (GMV) 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
6. การท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel) เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลปี 2023
การท่องเที่ยวออนไลน์ของไทย มีอัตราการเติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคฯ และเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปี 2023
อย่างไรก็ตามเมื่อมองสถานการณ์ภาพรวมการท่องเที่ยวไทยในปีนี้ พบว่ายังไม่กลับสู่ระดับก่อน COVID-19 ที่สูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 นับว่าการท่องเที่ยวไทยขาเข้าฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่
อย่างไรก็ตามคาดว่าการประกาศใช้นโยบายใหม่ของรัฐบาล เช่น การยกเว้นวีซ่าสำหรันนักท่องเที่ยวชาวจีน และโครงการอื่นๆ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะช่วยปูทางไปสู่การฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบในปี 2024
– ปี 2023 GMV การท่องเที่ยวออนไลน์ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 85% จากปีก่อน
– คาดว่าปี 2025 GMV การท่องเที่ยวออนไลน์ จะเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– คาดว่าปี 2030 GMV การท่องเที่ยวออนไลน์ จะเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
7. สื่อออนไลน์ (โฆษณา, เกมมิ่ง, เพลง, วิดีโอสตรีมมิ่ง) ไทยครองตลาดบริการวิดีโอสตรีมมิ่งเรียกเก็บค่าสมาชิกใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
– ไทยเป็นหนึ่งในตลาดสื่อออนไลน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคฯ ในช่วงปี 2023 – 2050 แม้จะมีข้อจำกัดทางด้านคอนเทนต์ที่เป็นภาษาถิ่น แต่ผู้บริโภคไทยก็เต็มใจสมัครใช้บริการวิดีโอ และแพลตฟอร์ม On Demand
– ปี 2023 ภาคธุรกิจสื่อออนไลน์ของไทย คาดว่าจะมีมูลค่า GMV อยู่ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12% จากปีที่ผ่านมา
– คาดว่าปี 2025 ธุรกิจสื่อออนไลน์ของไทย GMV จะเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 16%
– คาดว่าปี 2030 จะแตะที่ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
8. การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ แม้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่การสั่งอาหารออนไลน์ยังคงเหมือนเดิม
ผู้ประกอบการด้านการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์มีกลยุทธ์ที่คล้ายคลึงกับธุรกิจอีคอมเมิร์ช โดยลดจำนวนโปรโมชั่นและแคมเปญจูงใจลูกค้า เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตและการสร้างผลกำไร
– แม้ว่าจะมีการยกเลิกข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 และผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้ว แต่พฤติกรรมการสั่งอาหารออนไลน์ยังคงเหมือนเดิมหลังการระบาดใหญ่ ในขณะที่ความต้องการเดินทางคืนสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19
– ปี 2023 ภาคธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์จะ GMV อยู่ที่ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1% จากปีที่ผ่านมา
– คาดการณ์ปี 2025 ธุรกิจขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ GMV เพิ่มขึ้นเป็น 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตโดยเฉลี่ย 15%
– คาดการณ์ปี 2030 จะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
9. บริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services) ขยายตัว – สินเชื่อดิจิทัลในไทยเติบโตเร็วสุดในภูมิภาคฯ
นโยบายของรัฐที่มุ่งเน้นให้การสนับสนุนกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของภาคบริการด้านการเงินดิจิทัลต่อไป ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีแผนที่จะออกใบอนุญาตประกอบการธนาคารดิจิทัลในปี 2024 ที่ออกแบบมาเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า และช่วยให้คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงบริการด้านการเงินได้มากขึ้น การขยายระบบผูกบัญชีพร้อมเพย์ จะเข้ามารองรับในเรื่องนี้ โดยจะช่วยให้คนไทยเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินได้มากขึ้น
– บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล มีการเติบโตเร็วที่สุดถึง 65% โดยในปี 2023 มียอดสินเชื่อ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าปี 2025 ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าปี 2030 ยอดสินเชื่อเพิ่มเป็น 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– บริการด้านความมั่งคั่งทางดิจิทัล คาว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีถึง 39% และจะมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการอยู่ที่ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 โดยคาดว่าบริการด้านการเงินดิจิทัลของไทยจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคในปี 2030
10. กลุ่มผู้ใช้จ่ายออนไลน์สูง (High-value users) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
ผู้ใช้จ่ายออนไลน์สูง หรือ High-value users: HVUs ถือเป็นกลุ่มที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล นั่นเพราะ 70% ของมูลค่าการทำธุรกรรมออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาจากผู้ใช้จ่ายออนไลน์สูงสุด 30%
– ประเทศไทย ผู้ใช้จ่ายออนไลน์กลุ่ม High-value users มีการใช้จ่ายสูงกว่ากลุ่ม Non-High value users โดยเฉลี่ยถึง 7 เท่า โดยเฉพาะการใช้จ่ายเกี่ยวกับเกม การขนส่ง และการท่องเที่ยว
– คาดว่ากลุ่ม High-value users ในไทย จะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 64% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า นับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในภูมิภาคนี้
– แม้กลุ่ม High-value users เป็นกลุ่มสำคัญต่อการสร้างผลกำไรของธุรกิจในเศรษฐกิจดิจิทัล แต่กลุ่ม Non-High value users ในภูมิภาคนี้ ก็มีโอกาสในการเติบโตมากกว่ากลุ่ม High-value users ถึง 1.9 เท่า ดังนั้นการขจัดอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลของกลุ่ม Non-High value users จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาว
11. ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ด้วยการสร้าง Digital Inclusion
การขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตจำเป็นต้องอาศัยการยกระดับการมีส่วนร่วมทางดิจิทัล (Digital Inclusion) ที่ลึกซึ้งขึ้น แม้ว่าความเท่าเทียมทางดิจิทัลในประเทศไทยจะคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่เขตนอกเมืองยังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในแง่ของการมีส่วนร่วมทางดิจิทัล
นั่นหมายถึงการมีส่วนร่วมอย่างตื่นตัวในเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการดิจิทัลในภาคธุรกิจต่างๆ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเศรษฐกิจดิจิทัลทุกฝ่าย การขจัดอุปสรรคในด้านต่างๆ เช่น อุปทาน และประเด็นด้านความปลอดภัย สามารถช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่ม Non-High value users (Non-HVUs) ได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลไทยเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพอีกด้วย
12. จับตาเศรษฐกิจดิจิทัล “เวียดนาม” มีโอกาสแซงไทยในอนาคต
– อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ที่สุด ในปี 2023 GMV อยู่ที่ 82,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าปี 2025 จะเพิ่มขึ้นเป็น 109,000 ล้านดออลาร์สหรัฐ
– ประเทศไทย มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่า GMV 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 คาดว่าปี 2025 จะมีมูลค่า GMV เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2030 จะอยู่ที่ 100,000 – 165,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้ปัจจุบันประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาคฯ แต่น่าจับตามองว่าในปี 2030 อาจมีโอกาสที่ขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศเวียดนามจะแซงไทย หนึ่งในปัจจัยหลักคือ “จำนวนประชากร” ทั้งเวียดนามมีประชากรมากกว่าไทย
– เวียดนาม ปี 2023 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าปี 2025 จะเติบโตอยู่ที่ 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2030 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 – 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยยังคงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวอย่างน่าทึ่ง และคาดว่ามูลค่าสินค้ารวมจะก้าวสู่ระดับ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 แม้จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจมหภาคก็ตาม การให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างด้านการมีส่วนร่วมทางดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ และการขจัดอุปสรรคต่างๆ
อย่างจริงจังเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลได้มากยิ่งขึ้นจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถปลดล็อกศักยภาพเพื่อการเติบโตต่อไปในทศวรรษแห่งดิจิทัล ทั้งนี้ Google จะยังคงเดินหน้าให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ และสานต่อความมุ่งมั่นของเราในการส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยผ่านโครงการต่างๆ เช่น “Samart Skills” ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้ Grow with Google ที่ริเริ่มขึ้นสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ”
Willy Chang, Associate Partner, Bain & Company กล่าวว่า “การเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระดับเลขสองหลักของมูลค่าสินค้ารวมและรายได้ของเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทะลุถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566
นับเป็นสิ่งที่น่าทึ่ง และแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้ ผู้นำในภาคธุรกิจต่างๆ ก็มีความก้าวหน้าในการพัฒนาหน่วยเศรษฐกิจและโมเดลธุรกิจที่มั่นคงและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น การมีส่วนร่วมทางดิจิทัลในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ นอกจากนี้ การผลักดันกฎระเบียบการออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตของบริการด้านการเงินดิจิทัล ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับคนไทยมากขึ้นอีกด้วย”