3 อุตสาหกรรมที่ COVID-19 เปลี่ยนโฉมให้ต้องใช้ AI

  • 336
  •  
  •  
  •  
  •  

ผลจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้ทุกองค์กรรวมถึงภาคธุรกิจต้องปรับรูปแบบการทำงาน นอกจากรูปแบบการทำงานจากนอกออฟฟิศ หรือ work from home ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย การนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กร ทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และเพื่อบริการลูกค้าให้ดีขึ้น ก็ถูกนำมาใช้เพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้พบว่า 3 อุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากสถานการณ์ COVID-19 ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจบริการการศึกษา และธุรกิจให้บริการสุขภาพ ทั้งการช้อปปิ้งออนไลน์ เรียนออนไลน์ และปรึกษาแพทย์ออนไลน์ เป็นต้น

เทคโนโลยีหนึ่งที่เติบโตมากในยุค COVID-19 และถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นปัจจัยที่เปลี่ยนโลกธุรกิจตลอดไปคือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence)

จากรายงาน State of AI 2020 Report ที่จัดทำโดย Appen ระบุว่า 41% ของภาคธุรกิจเพิ่มการลงทุนใน AI หรือมุ่งใช้กลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับ AI มากขึ้นจากสถานการณ์  COVID-19

ภาคธุกิจระบุเหตุผลที่เพิ่มการลงทุนใน AI และระบบอัตโนมัติมากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะทำให้การปฏิบัติงานจากนอกออฟฟิศมีประสิทธิภาพขึ้น ดูแลลูกค้าได้ดีขึ้น และควบคุมต้นทุนได้มากขึ้น ทั้งนี้พบว่า สาเหตุส่วนหนึ่งยังมาจากธุรกิจเหล่านี้มีประสบการณ์ได้ประโยชน์จากการลงทุนใน AI ในช่วงที่ผ่านมา โดยสามในสี่ของธุรกิจที่ Appen สำรวจให้ข้อมูลว่า ความสำเร็จหรือความก้าวหน้าทางธุรกิจที่สำคัญๆ ในปี 2020 มาจากการลงทุนใน AI ทั้งสิ้น

COVID-19 เร่งให้การลงทุน AI ของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้โลกธุรกิจในยุคหลัง  COVID เปลี่ยนไป โดยสามารถสรุปความเปลี่ยนแปลงสำคัญได้อย่างน้อยใน 3 อุตสาหกรรม

 

  1. อุตสาหกรรมค้าปลีก

 

ธุรกิจบริการค้าปลีกมุ่งสู่ระบบปราศจากการสัมผัสระหว่างบุคคลในทุกขั้นตอน ทั้งการซื้อสินค้า สั่งจอง รับส่ง นัดหมายไปรับสินค้าที่ร้าน หรือร้านค้าปลีกรูปแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบที่ไม่ใช้พนักงานเลย ขณะเดียวกันระบบการบริหารจัดการในร้านก็ใช้คนน้อยลง ใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น ทั้งการบริหารหน้าร้าน บริหารการจัดส่ง บริหารสินค้าคงคลัง

 

สอดคล้องกับในประเทศไทย เราเห็นธุรกิจค้าปลีกทุกรายมุ่งสู่การค้าออนไลน์ สั่งออนไลน์และส่งถึงบ้าน หรือให้ไปรับที่สาขาใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ห้างโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ กระทั่งห้างจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี หรืออย่างล่าสุดห้าง Lotus’s โฉมใหม่ที่พึ่งรีแบรนด์หลังจาก CP ซื้อกิจการจากเจ้าของเดิมเครือเทสโก้ ก็ประกาศว่าหนึ่งในพันธกิจหลังรีแบรนด์คือมุ่งสู่ Seamless omni-channel experience หรือค้าขายทุกช่องทาง

 

  1. อุตสาหกรรมบริการการศึกษา

 

สถานศึกษาทุกแห่งทุกระดับถูก COVID บังคับให้ต้องมุ่งสู่การเรียนการสอนออนไลน์อย่างเลี่ยงไม่ได้ หลายโรงเรียนแม้ในระดับอนุบาลหรือประถมต้น ก็ต้องให้นักเรียนเรียนออนไลน์อย่างไม่มีทางเลือก ปัจจุบันพบว่ามีเทคโนโลยี AI ด้านการศึกษาจำนวนมากช่วยให้การเรียนมีประสิทธิภาพขึ้น ครอบคลุมตั้งแต่ระดับอนุบาลจนมัธยม โดยช่วยสร้างเนื้อหาการเรียนที่เฉพาะเจาะจงแก่นักเรียน เนื้อหาที่ AI สร้างขึ้นมีคุณภาพไม่ต่างจากครู ปัจจุบันระบบ AI สามารถสร้างคุณครูหรือติวเตอร์จำลอง (Virtual Tutor) ได้ นำเนื้อหาเดียวมาปรับสอนได้หลายภาษา ผลสำรวจพบว่า การสอนโดยใช้ AI มาเป็นเครื่องมือประกอบ ช่วยเพิ่มความสนใจของผู้เรียนและช่วยเก็บข้อมูลผู้เรียนด้วย โดยเฉพาะการสอนด้านโปรแกรมมิ่ง หรือโค้ดดิ้ง ที่ระบบ AI ก้าวหน้ามาก

ในต่างประเทศ มีการเก็บข้อมูลตัวอย่างโรงเรียนในซิดนีย์ ที่ช่วงเดือน มี.ค. 2020 COVID-19 มีการระบาดหนักๆ ผลสำรวจพบว่า บางโรงเรียนเช่น Trinity Grammar School ที่ปรับมาสอนบางวิชาผ่านระบบอัตโนมัติ ช่วยให้ประสิทธิภาพการสอนดีขึ้น เห็นพฤติกรรมและเข้าใจผู้เรียนมากขึ้น

ในประเทศไทย โรงเรียนอาจยังไม่ถึงขั้นนำระบบ AI มาใช้ในการสอน แต่ทุกโรงเรียนต้องปรับไปสอนออนไลน์มากขึ้น ตลอดจนบางวิชา เช่น โค้ดดิ้ง คุณครูก็นำโปรแกรมออนไลน์มาประกอบการสอน ช่วยให้นักเรียนสนุก และพัฒนาความเข้าใจได้ดีขึ้น

 

  1. อุตสาหกรรมบริการสุขภาพ

 

ผลจากมาตรการเว้นระยะทางสังคม เพื่อความปลอดภัยของทั้งแพทย์ พยาบาล และคนไข้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต้องรักษาระยะห่างกับผู้ป่วย หลายโรงพยาบาลมีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น เช่น ให้คนไข้สามารถลงทะเบียนแบบอัตโนมัติ บางโรงพยาบาลนำระบบปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (Telehealth) มาใช้ดูแลคนไข้ช่วงไปโรงพยาบาลไม่ได้ บางโรงพยาบาลมีการนำระบบถามตอบอัตโนมัติ (Chatbots) มาใช้ตอบคำถามง่ายๆ ให้ผู้ป่วย

เช่นเดียวกับในประเทศไทย หลายโรงพยาบาลนำระบบอัตโนมัติมาใช้ เช่น ระบบคัดกรอง ประเมินความเสี่ยงผู้ที่จะไปโรงพยาบาล ว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่ โดยให้ทำผ่านไลน์หรือเว็บไซต์ตั้งแต่ที่บ้าน ก่อนไปโรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงแพร่ระบาด โรงพยาบาลที่นำมาใช้ เช่น โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นต้น

หรือแม้กระทั่งการตรวจ COVID-19  ก็มีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ เพื่อช่วยให้ตรวจได้ไว และลดความเสี่ยงติดเชื้อ เช่น กรณีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่นำเครื่องตรวจหาเชื้อ COVID -19 อัตโนมัติเครื่องแรกในประเทศไทยมาใช้

ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต หน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่า ระบบอัตโนมัติของเครื่องดังกล่าว ช่วยให้ไม่ต้องใช้คนเข้าไปเกี่ยวข้อง ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ป้องกันเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ให้ไม่เสี่ยงติดเชื้อ

ทั้งนี้นอกจากประเด็นเรื่องลดความเสี่ยงแล้ว ผลตรวจของเครื่องอัตโนมัติดังกล่าวยังยืนยันผลได้ถึง 99% ตรวจได้มากถึง 1,440 ตัวอย่างต่อวัน และรู้ผลได้เร็วด้วย (ภายใน 3 – 5 ชั่วโมงสำหรับการทำงานในช่วงแรก หลังจากนั้นสามารถรู้ผลการตรวจภายในเวลาเพียงแค่ 90 นาที)

การมาของ COVID-19 กระตุ้นให้ทุกองค์กรปรับตัว นำเทคโนโลยี ทั้งระบบอัตโมัติและ AI มาใช้มากขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ขนาดระบบไม้กั้นเข้าออกที่จอดรถ หลายแห่งยังเปลี่ยนมาเป็นระบบอัตโนมัติ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัส

หลังยุค COVID-19 ระบบอัตโนมัติและ AI จะยิ่งเป็นตัวกำหนดความสามารถทางการแข่งขันของทุกองค์กร องค์กรใดไม่ปรับตัว เหนื่อยแน่นอนครับ

 

แหล่งที่มา:

Appen, Chula, Chulalongkorn Hospital, Covid19.rajavithi, MarketingOops!, Searchenterpriseai.techtarget, Weforum


  • 336
  •  
  •  
  •  
  •  
ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล
ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล หรือ ดร.ชาย จบปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศอังกฤษ ดร.ชายเป็นเจ้าของธุรกิจ และสวมหมวกเป็นอาจารย์พิเศษด้านเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาให้หลายองค์กร ดร.ชายขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในน้อยคนที่ทำเรื่องเศรษฐศาสตร์ให้ง่ายและสนุกได้