พฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ ทัศนคติ หรือมุมมองความคิด ความชอบ ความสนใจของผู้บริโภคมักปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา บริบททางสังคม และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในรายงาน “เจาะเทรนด์โลก 2023” โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA โดยหนึ่งในหัวข้อคือ “Consumer Profiles 2023” ได้แบ่งผู้บริโภคในปี 2023 ออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่คือ
กลุ่มที่ 1 ช้อปเพื่อจุดประกายความสุข
ในช่วงปี 2020 – 2021 ที่สถานการณ์ COVID-19 แพร่ระบาดหนัก ทำให้หลายคนต้องอยู่กับบ้าน และมองว่าใช้ช่วงเวลานี้ในการเก็บเงิน หรือลดการใช้จ่าย เพราะไม่ได้เดินทางออกไปไหน แต่หลังจากนั้นกลับพบปรากฏการณ์ “ช้อปล้างแค้น” หรือ “Revenge Shopping” เพราะรู้สึกอัดอั้นมานาน จึงอยากระบายออกด้วยการช้อปปิ้ง โดยเฉพาะซื้อสินค้าพรีเมียม หรือสินค้าราคาแพง สินค้าฟุ่มเฟือยทั้งหลาย แม้สิ่งนั้นอาจไม่ได้จำเป็นต่อการใช้ชีวิตก็ตาม แต่ซื้อเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองล้วนๆ
ธุรกิจ หรือแบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ด้วย “กลยุทธ์ Buy Now, Pay Later” เพราะแม้ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะรู้ว่าของสิ่งนั้นเป็นของฟุ่มเฟือย หรือมีราคาแพง แต่ถ้าแบรนด์มีตัวเลือกให้ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง หรือโปรแกรมอื่นๆ เช่น ผ่อนชำระ 0% จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น
กลุ่มที่ 2 จิตดี พร้อมมี Community บำรุงใจ
ผู้บริโภคกลุ่มนี้มองโลกแง่บวก จิตดี จะหากิจกรรม หรือทำอะไรก็ตามที่มองว่าจะช่วยยกระดับชีวิตของตัวเองให้สดชื่นมากขึ้น เพราะฉะนั้นจะเห็นกิจกรรม Workshop มากขึ้น, กิจกรรม Outdoor จัดขึ้นในสวน, ร้านอาหารส่งมอบประสบการณ์การรับประทานอาหารที่แฟนซีมากขึ้น
ธุรกิจ หรือแบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ด้วยการมีพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ที่ทำให้รู้สึกถึงความสบาย อบอุ่น เช่น ภายในร้าน มีกลิ่นหอมให้ความรู้สึกถึงความสงบ หรือจัดมุมเล็กๆ เป็นโซนนั่งพัก เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตัดขาดจากความเหนื่อยล้า ณ ช่วงเวลาหนึ่ง หรือมีมุม หรือโซนให้ผู้บริโภคได้อยู่ใน Community ตามความสนใจ
กลุ่มที่ 3 กำหมัดช้อป เมื่อทุกการซื้อคือการปฏิวัติ
การใช้จ่ายของผู้บริโภคทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นการซื้อ เพื่อให้ได้มากซึ่งสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีความหมายมากกว่านั้น โดยเฉพาะผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ มองว่าเงินทุกบาท ใบเสร็จทุกบิล ต้องสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ ดังนั้นผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ จึงเลือกสนับสนุนแบรนด์ หรือธุรกิจที่มีจุดยืนประเด็นทางสังคมต่างๆ ชัดเจน เช่น ความเท่าเทียม, การสนับสนุนท้องถิ่น, สิ่งแวดล้อม
ธุรกิจ หรือแบรนด์ที่จะเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ ต้องเป็นแบรนด์ที่กล้าแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน เช่น สนับสนุนความเท่าเทียม, จัดหาและใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น หากดำเนินการได้ จะสามารถครองใจผู้บริโภค Gen Z มากขึ้น
กลุ่มที่ 4 นักช้อปพันมือ “F” แล้วพร้อมโอนในทุกแพลตฟอร์ม
เป็นผลมาจากในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาในช่วง COVID-19 เราทุกคนพัฒนาทักษะมากขึ้นจนมี Multi-skill รวมถึงพฤติกรรมการซื้อของที่สลับแพลตฟอร์ม หรือแอปฯ ช้อป-เพจต่างๆ พร้อมกดซื้อ – กด F สินค้า หรือที่เรียกว่านักช้อปพันมือ ต้องการเส้นทางการช้อป (Customer Journey) ที่ไร้รอยต่อ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่ต้องกรอกข้อมูลเยอะ
ธุรกิจ หรือแบรนด์ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มนักช้อปพันมือ ต้องออกแบบเส้นทางการช้อปของผู้บริโภคให้ไร้รอยต่อ และผสานแต่ละช่องทางเข้าด้วยกัน รวมทั้งการ Live ในแพลตฟอร์มต่างๆ จะทำให้นักช้อปกลุ่มนี้ กดซื้อ กดจองได้สะดวก
นอกจากนี้เมื่อมองไปยังอนาคต กลุ่มนักช้อปพันมือยังซื้อสินค้า หรือ Item ที่เป็น Virtual ในโลกเสมือนจริง หรือ Metaverse นับเป็นอีกหนึ่งช่องทาง Omnichannel ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้เช่นกัน