Tetra Pak Index 2023 (เต็ดตรา แพ้ค อินเด็กซ์ 2023) ผู้นำเสนอโซลูชันบรรจุภัณฑ์และกระบวนการผลิตอาหารชั้นนำของโลก เปิดเผยผลการศึกษาจากงานวิจัยระดับโลก “Tetra Pak Index 2023” จากการสำรวจใน 10 ประเทศ โดยบริษัทวิจัยตลาด IPSOS ครอบคลุมทั้งการสำรวจทางออนไลน์ 5,000 คน (ประเทศละ 500 คน), สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ 14 คน และจากการวิจัยเชิงลึก พบ 4 ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค
– สุขภาพและความเป็นอยู่ (Health & Wellness)
– สภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืน (Climate & Sustainability)
– ค่าครองชีพ และปัจจัยความไม่แน่นอนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Cost of Living & Geopolitical Uncertainty)
– เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Technology & Innovation)
หนึ่งในไฮไลต์ของรายงานฉบับบี้พบว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความจริงจังในการพิจารณาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับสุขภาพส่วนบุคคลเมื่อเลือกซื้ออาหาร โดยผู้บริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ที่เรียกกันว่า “Climatarians” หรือกลุ่มผู้บริโภคเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศนั้น พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินดื่มของตนเอง เพื่อปกป้องสวัสดิภาพของโลก
นิยาม “สุขภาพดี” ต้องดีทั้งร่างกายและจิตใจ
จาก 3 ปีที่ผ่านมา COVID-19 เป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการมีสุขภาพดีมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง โดยพบว่า
– 70% ของผู้บริโภคที่ทำสำรวจบอกว่าต้องการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งนิยามคำว่าสุขภาพที่ดีในทีนี้ หมายถึงการมีสุขภาพร่างกาย (Physical Health) และสุขภาพจิตใจที่ดี (Mental Health Well-being)
– 3 สิ่งที่ผู้บริโภคทำมากขึ้น เพื่อให้ตัวเองมีสุขภาพดีคือ การดื่มน้ำ (57%), ออกกำลังกาย (57%) และการรับประทานอาหาร-เครื่องดื่มที่มีประโยชน์ (48%) เพื่อช่วยป้องกันการเจ็บไข้ได้ป่วย
– 69% ของผู้บริโภคบอกว่าต้องการดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน (Preventive) มากกว่าเพื่อรักษาในอนาคต
เมื่อถามถึงคุณประโยชน์ด้านสุขภาพที่ผู้บริโภคมองหา หรือต้องการมากที่สุดใน 3 อันดับแรกคือ
– 43% ของผู้บริโภคต้องการมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อป้องกันจากโรคภัยต่างๆ
– 39% ของผู้บริโภคมองหาคุณประโยชน์ด้านสุขภาพทั้ง Physical Health และ Mental Well-being
– 30% ของผู้บริโภคมองหาคุณประโยชน์ด้านการควบคุมน้ำหนัก
นอกจากนี้พบว่า 74% ของผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างบอกว่าสนใจ และพิจารณาซื้อสินค้าที่ระบุและสื่อสารถึงคุณประโยชน์ด้านสุขภาพที่เฉพาะเจาะจงเหมาะกับตัวเองอย่างชัดเจน (Specific Health Benefit) นั่นหมายความว่าผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่เหมาะกับตัวเองมากขึ้น ดังนั้นแบรนด์ควรระบุคุณประโยชน์สินค้าให้ชัดเจนว่ามีคุณประโยชน์อย่างไร
ขณะที่คุณค่าโภชนาการ (Nutrition) ที่ผู้บริโภคต้องการจากอาการและเครื่องดื่ม พบว่า
– 48% ผู้บริโภคมองหาอาหารและเครื่องดื่มน้ำตาลน้อย (Low Sugar)
– 35% มองหาอาหารและเครื่องดื่มไขมันต่ำ (Low Fat)
– 34% มองหาอาหารและเครื่องดื่มให้ไฟเบอร์
– 34% มองหาผลิตภัณฑ์ผลไม้
– 32% มองหาผลิตภัณฑ์ผัก
– 32% มองหาอาหารและเครื่องดื่มไม่มีสารปรุงแต่ง ไม่มีสารกันบูด
– 32% ต้องการอาหารและเครื่องดื่มที่เกลือน้อย/เค็มน้อย
– 30% ต้องการอาหารและเครื่องดื่มที่ให้โปรตีนสูง
รู้จักผู้บริโภค “Climatarians” พร้อมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินดื่ม เพื่อปกป้องโลก
มีการคาดการณ์ว่าเทรนด์การบริโภคเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ (climatarian) จะเติบโตขึ้นอีกด้วย เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นนั้นเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง โดยผู้บริโภคคาดหวังให้ผู้ผลิตอาหารส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ทั้งดีต่อสุขภาพและคำนึงถึงความยั่งยืนควบคู่กันไป
ในรายงานระบุว่าผู้บริโภคในปัจจุบันมีความจริงจังในการพิจารณาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับสุขภาพส่วนบุคคลเมื่อเลือกซื้ออาหาร
โดยผู้บริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ที่เรียกกันว่า “Climatarians” คือ ผู้บริโภคที่ต้องการปกป้องสภาพภูมิอากาศ หรือสิ่งแวดล้อม พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินดื่มของตนเองเพื่อปกป้องสวัสดิภาพของโลก
ซึ่งเชื่อมโยงกับตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค เนื่องจากมีความตื่นตัวในการแสวงหาผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพร่างกายมากยิ่งขึ้น และคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีมุมมองแบบองค์รวมมากขึ้น โดยมองถึงด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
– 70% ของผู้บริโภคเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพไม่ควรส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการปลูกวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง ไปจนถึงจัดจำหน่ายถึงมือผู้บริโภค
– 54% ของผู้บริโภคยินดีที่จะรับผิดชอบต่อโลก โดยปรับเปลี่ยนมื้ออาหารของตนเพื่อโลกที่น่าอยู่ขึ้น
– 66% หรือ 2 ใน 3 ของผู้บริโภคบอกว่าให้ความใส่ใจกับสิ่งที่ตนเองซื้อรับประทาน หรือซื้อดื่มมากขึ้นว่าจะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่
การให้ความสำคัญกับประเด็นสุขภาพและสิ่งแวล้อม สะท้อนจากแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่ตั้งใจลดปริมาณการรับประทานเนื้อสัตว์ลง หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น” (flexitarians) โดยมีผู้บริโภคเกือบครึ่งหนึ่งชี้ว่าพวกเขาตั้งใจลดการบริโภคเนื้อสัตว์หรือไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลย จากรายงานฉบับนี้พบว่าแนวโน้มในการลดการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยพบว่า
– ผู้ตอบแบบสำรวจถึง 56% ระบุเหตุผลด้านสุขภาพในการเลือกรับประทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (flexitarian) มังสวิรัติปลา (pescatarian) มังสวิรัติแบบเคร่งครัด หรือวีแกน (vegetarian) และมากกว่าหนึ่งในสาม (36%) ยังระบุว่าแรงจูงใจหลักมาจากการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ผู้บริโภคยังบอกว่าผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ต้องมาคู่กับ “บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Packaging) โดยบรรจุภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเพื่อโลก ที่ผู้บริโภคพิจารณาในการตัดสินใจซื้อคือ
– 37% บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ (Recyclable Packaging)
– 31% บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ (Biodegradable Packaging)
– 25% บรรจุภัณฑ์ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล
– 23% บรรจุภัณฑ์ที่ปราศจากพลาสติก
– 22% บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุหมุนเวียน หรือวัสดุทดแทนได้ตามธรรมชาติ (Renewable Materials Packaging)
จากผลสำรวจดังกล่าว จะเห็นได้ว่าถ้าแบรนด์อยากจะชนะใจผู้บริโภคสายรักษ์โลกและสุขภาพ ที่นับวันจะ Consumer segment นี้จะเป็นตลาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ผลิตหรือแบรนด์ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือส่งผลกระทบน้อยที่สุด พร้อมทั้งสื่อสารให้ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร รวมทั้งบนบรรจุภัณฑ์ต้องระบุรายละเอียดข้อมูลชัดเจนด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้แม้ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับสุขภาพและความยั่งยืนมากขึ้นเพียงใด แต่อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพนั้น ต้องมาพร้อม “รสชาติที่ดี” ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นด้านสุขภาพ เปี่ยมด้วยโภชนาการ หรือใส่ใจความยั่งยืนแค่ไหนก็ตาม ผู้บริโภคยังคงต้องการอาหารรสชาติที่ดี
ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่ผู้บริโภคยังใช้จ่ายกับ “อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ–คุณภาพสูง”
ในรายงานฉบับนี้ ยังสะท้อนถึงความกังวลใหญ่ของผู้บริโภคคือ “ค่าครองชีพ” เป็นผลมาจากเงินเฟ้อสูงขึ้น และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคมีต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาปลายทางที่จำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคสูงขึ้นตามมา
จากผลสำรวจพบว่า 2 ปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคตระหนักและเป็นกังวลต่อการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในยุคค่าครองชีพสูงขึ้น คือ
– 42% ของผู้บริโภคบอกว่ารู้สึกกังวลว่าอาหารและเครื่องดื่มคุณภาพดี ราคาจะสูงขึ้น
– 40% ของผู้บริโภคบอกว่าอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ราคาจะสูงขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตามในอีกมุมหนึ่ง แม้ค่าครองชีพสูงขึ้น และข้าวของต่างๆ จะแพงขึ้น แต่สำหรับ “อาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพสูง และมีประโยชน์ จะเป็นสิ่งท้ายๆ ที่ผู้บริโภคจะตัดทิ้ง ตอกย้ำให้เห็นว่าวิกฤตค่าครองชีพไม่ได้มีผลต่อความมุ่งมั่นเพื่อสุขภาพแต่อย่างใด
– มีผู้บริโภคเพียง 17% เท่านั้นที่ยอมละเว้นอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในความกังวลเรื่องค่าครองชีพ แต่ผู้บริโภคก็ยังคงให้ความสำคัญกับคุณภาพ และสุขภาพ
เทคโนโลยีทวีความสำคัญต่อสุขภาพมากขึ้น
ส่วนในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม พบว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพมากมาย เช่น Tracking Device ที่ใส่เพื่อดูอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการเดิน การเผาผลาญพลังงาน และการวัดผลสุขภาพอื่นๆ รวมทั้งมีแอปพลิเคชันให้ผู้ใช้ใส่รายละเอียดอาหารแต่ละมื้อที่รับประทาน เพื่อคำนวณแคลอรี่ และสารอาหารที่ได้รับในแต่ละวันว่าเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายหรือไม่
เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่พัฒนาขึ้นมาเหล่านี้ ต่อไปจะมี Solution ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้บริโภคแต่ละคน เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจด้านสุขภาพได้ดีขึ้น โดยผลสำรวจพบว่า
– 65% หรือราว 2 ใน 3 ของผู้บริโภคเชื่อว่าเทคโนโลยีจะทวีความสำคัญต่อสุขภาพมากขึ้น
– 62% บอกว่าเทคโนโลยีจะมีบทบาทในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น
อย่างไรก็ตามในอีกมุมหนึ่งพบว่า ผู้บริโภคมีความกังวลต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป พบว่า
– 69% ของผู้บริโภคบางกลุ่มยังมองว่าการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ต้องสดและผ่านกระบวนการให้น้อยที่สุด เพื่อความปลอดภัยและคงคุณค่าของสารอาหาร
– 48% กังวลว่าการใช้นวัตกรรมอาหารที่มากเกินไป อาจไม่ส่งผลดีต่อพวกเขา
สรุป 10 ประเด็นสำคัญ Tetra Pak Index 2023
– สุขภาพสำคัญกว่าเดิม
– ห้ามมองข้ามการดูแลสุขภาพจิต
– สุขภาพเกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อม (Health & Sustainability)
– อาหารเปลี่ยนแปลงโลกได้ ซึ่งต่อไปจะมีอาหารแบบรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยมาตอบโจทย์เทรนด์ความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค
– แม้ผู้บริโภคจะกังวลค่าครองชีพ แต่ยอมจ่ายเพื่อสุขภาพ
– ความตึงเครียดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
– มุ่งสู่ยุคปลอดน้ำตาล
– ปฏิวัติวงการอาหารและเครื่องดื่มด้วยโภชนาการส่วนบุคคล เช่น มีเทคโนโลยี หรือแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพได้แบบ personalization
– ความยั่งยืนของระบบอาหารต้องอาศัยกระบวนการคิดหลายมิติ เพราะอนาคตข้างหน้าโลกจะมีประชากร 10,000 ล้านคน จากปัจจุบัน 8,000 ล้านคน ดังนั้นการผลิตอาหารรูปแบบเดิมอาจไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ในการผลิตอาหารต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมี supply อาหารเพียงพอต่อความต้องการของคนทั่วโลก
– การเปลี่ยนแปลงต้องมาพร้อมรสชาติที่ดี
“ในประเทศไทยมีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดว่าผู้คนหันมาให้ความใส่ใจในการเลือกบริโภคมากขึ้น และในขณะเดียวกันเรากำลังเผชิญหน้ากับความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคชาวไทยเป็นจำนวนมากตระหนักถึงความสำคัญของปัจจัยเหล่านี้ต่อสุขภาพและความยั่งยืน
สิ่งสำคัญอีกประเด็นก็คือการเปลี่ยนแปลงใดๆ นั้นต้องมาพร้อมรสชาติที่สอดคล้องไปกับรสนิยมของผู้บริโภคเสมอ เพราะไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นด้านสุขภาพ หรือใส่ใจความยั่งยืนเพียงใดก็ตาม ผู้บริโภคยังคงต้องการอาหารที่มีรสชาติตรงใจ” คุณสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ขยายความเพิ่มเติม
ทางด้าน คุณรัตนศิริ ติลกสกุลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า Tetra Pak มีการดำเนินงานมาอย่างยาวนานในระดับโลกที่คำนึงถึงการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนให้ผู้คนทั่วโลกเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น รายงาน Tetra Pak Index ฉบับล่าสุด ได้ย้ำให้เห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของการนำเสนอปัญหาเร่งด่วน เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ”
“บริษัทของเรายังคงมุ่งมั่นดำเนินการต่อไปเพื่อลดปริมาณขยะอาหารและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ โดยหาวิธีนำส่วนประกอบที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้จากกระบวนการการผลิตอาหารกลับมาใช้ใหม่ เดินหน้าสำรวจแหล่งโปรตีนทางเลือก และนำเสนอโซลูชันด้านเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ในระบบอาหารทั่วโลกในปัจจุบัน”
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของ รายงาน Tetra Pak Index 2023 ได้ที่นี่