ส่องความพร้อมคนไทย สู่ ‘สังคมไร้เงินสด’ เต็มรูปแบบ จากผลสำรวจโดย VISA

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

VISA-Digital

 

ย้อนกลับไปเมื่อราว 9 ปีก่อน ในปี 2015 กับการเปิดตัว ‘พร้อมเพย์’ (Promptpay) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เป็นเหมือนรากฐานสำคัญของโครงสร้าง Digital Payment ไทย ซึ่งเปรียบเสมือนการสร้างถนนขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อพรมแดนการเงินเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ที่ไม่เพียงแต่ทำให้การซื้อขายเป็นเรื่องง่าย แต่ยังทำให้คนทั่วไป และภาคธุรกิจเข้าถึงบริการทางการเงินจากภาครัฐได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือมีความปลอดภัย และโปร่งใสสามารถตรวจสอบรายการย้อนหลังได้

ความแข็งแกร่งของพร้อมเพย์นับเป็นประตูบานใหญ่ที่พาประเทศไทยไปสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบได้อย่างเป็นรูปธรรม ลองนึกกันเล่นๆ ดูว่าจากเมื่อก่อนที่เราต้องนับแบงก์ นับเหรียญเพื่อใช้จ่ายซื้อของ ข้ามมาสู่การพิมพ์เลขบัญชีธนาคารเพื่อโอนจ่าย วันนี้การซื้อขายทำได้แค่การสแกนผ่าน QR Payment Code บนแอปพลิเคชัน Mobile Banking ทุกธนาคารซึ่งใช้เวลาแค่หลักวินาทีเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้คนไทยขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านความถี่การใช้งานต่อสัปดาห์ของแอปพลิเคชัน Mobile Banking ที่สัดส่วนกว่า 97% จากกลุ่มตัวอย่างสำรวจชาวไทยกว่า 1,050 คนที่มีช่วงอายุ 18-65 ปี และมีรายได้ขั้นต่ำต่อคนที่ 15,000 บาทในรายงาน Consumer Payment Attitudes Study โดยความร่วมมือระหว่าง VISA และ CLEAR ในขณะที่อันดับสองอย่างเวียดนามตามมาด้วยสัดส่วน 95% และอินโดนีเซียที่ 90%

หากเจาะไปที่ Real-time Payments (RTP) เช่น พร้อมเพย์, Apple Pay หรือ Google Pay เพียงอย่างเดียว ก็จะพบว่าคนไทยก็ยังขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งด้านความถี่การใช้งานต่อสัปดาห์ที่สัดส่วน 86% โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือการมี RTP อย่างพร้อมเพย์เป็นของตัวเอง ตามด้วยอันดับสองคือ เวียดนาม (84%) และอินโดนีเซีย (69%) 

 

Cashier,Employee,And,Buyer,At,The,Shopping,Market.,Cashless,Payment

 

เจาะ 3 ปัจจัย หนุนไทยสู่ ‘Cashless Society’

 

ด้านคุณปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ได้ให้มุมมองว่า ปัจจุบันช่องทางการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายทั้งในภาคธุรกิจขนาดย่อม ไปจนถึงธุรกิจใหญ่ ทำให้ Digital Payment Ecosystem ในไทยนั้นง่าย และสะดวก แม้จะไม่ได้พกเงินสดติดตัวแม้แต่บาทเดียว ก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ติดขัด ตั้งแต่การเดินทาง การจับจ่ายใช้สอยทุกอย่างล้วนทำได้บนสมาร์ตโฟนเครื่องเดียว

ผลสำรวจโดย VISA ยังเผยอีกว่า ชาวไทยกว่า 47% พกเงินสดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นำโดยเบอร์หนึ่งอย่าง เวียดนามที่ 56% และมาเลเซีย 49% จากค่าเฉลี่ยทั่วภูมิภาคที่ 46% และคนไทยยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องพึ่งเงินสดได้นานถึง 9.2 วันในปี 2023 เพิ่มขึ้นจาก 8.6 วันในปีก่อนหน้า

นอกจากนี้คนไทยกว่า 3 ใน 5 คาดหวังว่าประเทศจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบภายใน 4 ปีข้างหน้า และมองว่ามีปัจจัยสนับสนุน ดังนี้

 

1. ช่องทาง Contactless ในไทยเริ่มมีมากขึ้น การใช้จ่ายผ่าน Digital Payments โดยเฉพาะ RTP จึงง่ายขึ้น แต่ 44% ยังกังวลเรื่องความปลอดภัย

2. มุมมองการพกเงินสดนั้นมีความเสี่ยง ทั้งจากการสูญหาย และการลักขโมย

3. ความรู้ ความเข้าใจในการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดเพิ่มมากขึ้น แต่ 41% มองว่ายังใช้งานยาก

 

Online,And,Mobile,Payments,For,Web,Page,,Social,Media,,Documents,

 

‘ภาคการท่องเที่ยว’ อีกหนึ่งตัวแปรสนับสนุนสังคมไร้เงินสด

 

อย่างที่เราทราบกันดีว่าช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของหลายประเทศต้องหยุดชะงักลงรวมถึงไทยเอง ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวดีขึ้น และมีนักท่องเที่ยวกลับเข้าประเทศมามากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยเองก็เริ่มไปเยือนต่างแดนมากขึ้นเช่นกัน

ความเคลื่อนไหวของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ มาพร้อมกับพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ตามรายงานการสำรวจพบว่า

 

– นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติใช้จ่ายแบบไร้เงินสดในไทยเพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่องก่อนโควิด 

– นักท่องเที่ยวชาวไทยใช้จ่ายยังต่างประเทศแบบไร้เงินสดเพิ่มขึ้น 80% เมื่อเทียบกับช่องก่อนโควิด

 

จากข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่า เมื่อเทียบกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยไม่ใช่แค่ประเทศที่ใช้ Mobile Banking มากที่สุด แต่ยังมีความพร้อม และความคาดหวังในหลายด้านสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบมากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค แม้จะยังมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัย และความซับซ้อนอยู่บ้าง แต่นับว่าทิศทางการเติบโตยังมีให้เห็นชัดเจน และต่อเนื่องอยู่เสมอ ซึ่งอาจพาเราไปสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเป็นรูปธรรมได้ในไม่ช้า


  •  
  •  
  •  
  •  
  •