หากถามถึงสถานการณ์ธุรกิจในขณะนี้ เชื่อว่าภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่ ผู้ประกอบการ SME และนักการตลาด ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก! และมีแนวโน้มจะหนักกว่าช่วง COVID-19 จากปัจจัยความท้าทายรายล้อมมากมาย ทั้งด้านธุรกิจ และการตลาด ส่งผลให้ยอดขาย-กำไรลด หรือบางรายอาจกำลังเผชิญภาวะขาดทุน
อย่างไรก็ตามในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ Marketing Oops! ได้สรุป 10 แนวทางธุรกิจและการตลาดไทยจาก สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (Marketing Association of Thailand: MAT) พร้อมด้วยมุมมอง ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย และ กูรูด้านการตลาด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทยนำไปปรับใช้รับความท้าทายในปี 2024 – 2025
5 ความท้าทายภาคธุรกิจและการตลาดต้องเจอ!
ก่อนเจาะลึก 10 แนวทางธุรกิจและการตลาดไทย เรามาดูกันก่อนว่าความท้าทายที่ภาคธุรกิจ และนักการตลาดต้องเจอมีอะไรบ้าง ?!?
1. เศรษฐกิจโตต่ำ: ทั้งเศรษฐกิจระดับโลก ที่คาดการเติบโตจะอยู่ในระดับกว่า 2% รวมถึงประเทศตลาดหลักของไทย เช่น จีน ในอดีตเศรษฐกิจโตร้อนแรง ปัจจุบันโตลดลง คาดว่าจะอยู่ที่ 5%, ญี่ปุ่น และยุโรป คาดว่าเศรษฐกิจขยายตัวไม่ถึง 1% ในขณะที่ของเศรษฐกิจไทย ตกอยู่ในสถานการณ์โตต่ำเช่นกัน โดยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่กว่า 2% ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศเพื่อนบ้านไทย เช่น เวียดนาม, อินโดนีเซีย อยู่ในทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง
2. การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี: ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ต้องใช้เทคโนโลยี IoT, AI, Robotic, Clean Tech, Bio Technology ในขณะที่ด้านการตลาด เปลี่ยนผ่านจากในอดีตเน้นปฏิสัมพันธ์แบบพบหน้า (Physical) มายังการตลาดดิจิทัล และในอนาคตจะกลายเป็นแบบ Immersive หรือการหลอมรวมกันระหว่าง Physical – Digital
นอกจากนี้ AI จะเป็นเครื่องมือในชีวิตประจำวันของผู้คน รวมถึงด้านการตลาดเช่นกัน ทำให้จะยิ่งเป็น Prosumer ดังนั้นนักการตลาดที่ปรับตัว เรียนรู้ พร้อมนำ AI มาช่วยเป็นเครื่องมือไม่ได้ จะได้รับผลกระทบมากสุด
3. โลกาภิวัฒน์ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics): ทำให้เปลี่ยนจาก Globalization กลายเป็นการแบ่งแยก แบ่งฝ่ายมากขึ้น
4. การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น: ปัจจุบันเข้าสู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ที่ส่งผลให้สภาพอาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง
5. หนี้สินและกำลังซื้อภาคครัวเรือนซบเซา: ทำให้การทำธุรกิจมีความยากขึ้น และขนาดตลาดไม่โต
“นักการตลาดไม่มีคำว่าวิกฤต เพราะทุกวิกฤตคือโอกาส ในช่วงตลาดไม่เป็นใจ ต้องมองหาโอกาสใหม่ หาสิ่งใหม่ๆ และสิ่งนั้นต้องมีมูลค่าและคุณค่า เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้บริโภค และนักลงทุน” ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) กล่าวถึง Mindset นักการตลาดที่ต้องมองหาโอกาสใหม่เสมอ
สรุป 10 แนวทางธุรกิจและการตลาด รับมือความท้าทาย พร้อมสร้างโอกาสการเติบโตใหม่
1. จาก Mass Production สู่ Fragmentation
ในอดีตเป็นยุคอุตสาหกรรมการผลิตแบบ Mass Production คือ ผลิตสินค้าแต่ละครั้งในจำนวนมาก เพื่อให้ได้ Economy of scale และเน้นแข่งขันราคา แต่การตลาดทุกวันนี้ ด้วยความที่ความต้องการของผู้บริโภคซับซ้อนขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว มีความชอบ-ความสนใจที่แตกต่างกัน เทคโนโลยีรุดหน้าอย่างก้าวกระโดด ทำให้ธุรกิจและการตลาดในยุคนี้ต้องเป็น “Fragmentation” ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เฉพาะบุคคลมากขึ้น
2. ใช้ประโยชน์จาก AI
ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อขับเคลื่อนความเท่าเทียม และการเข้าถึงที่มากขึ้นสำหรับทุกคน
3. สนับสนุน Green ที่เป็นของจริง ไม่ใช่จำแลง (Green Washing)
ผลักดันแนวคิด Sustainability และ Responsible Marketing เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจ และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
4. Empower SME สนับสนุนผู้ประกอบการให้มี Own Channel, Own Content
ธุรกิจ SME มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย คิดเป็น 35% ของ GDP ประเทศไทย ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว 50% ของ GDP มากจากธุรกิจ SME เพราะฉะนั้นยังมีช่องว่างในการพัฒนา SME ไทยอีกมาก ขณะเดียวกันองค์กรใหญ่ต้องช่วยสนับสนุน SME เนื่องจากถือเป็นฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย
รูปแบบการส่งเสริม เช่น สนับสนุนให้ SME มี Own Channel, Own Content, ปรับตัวและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล – AI มาเป็นเครื่องมือด้านการตลาด ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีถูกลง จึงเพิ่มโอกาส SME ในการเข้าถึงเทคโนโลยี และช่วยให้ต้นทุนธุรกิจลดลง, ทำการตลาดบนความเข้าใจ Insight ผู้บริโภค
5. ขยายตลาดสู่ Asia Market
ขนาดของตลาดเอเชีย 2 ใน 3 ของ GDP โลก และเศรษฐกิจหลายประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้นธุรกิจไทย โดยเฉพาะ SME ควรมุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าสู่ตลาดเอเชียที่มีการเติบโตสูง อย่างอาเซียน เช่น เวียดนาม, อินโดนีเซีย, กัมพูชา รวมทั้งจีน และอินเดีย ผ่านช่องทาง E-commerce และการสร้างความสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อมาท่องเที่ยวไทย แล้วประทับใจในแบรนด์สินค้า/บริการ จะนำไปสู่การบอกต่อ
6. การสร้าง Branding ที่แข็งแกร่งยังสำคัญ
แม้ปัจจุบันกลยุทธ์การตลาดของสินค้า/บริการหลายแบรนด์ เน้นที่ Lower funnel นั่นคือ ยอดขายเป็นหลัก แต่อันที่จริงควรเป็น Full-funnel Marketing คือ ตั้งแต่สร้าง Awareness – Consideration – Conversion ไปจนถึงสร้าง Loyalty และ Advocacy ดังนั้นการตลาดจึงควรสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง โดยเน้นการสร้างมูลค่าและคุณค่าที่แตกต่าง มุ่งเน้นการรสร้าง “กำไร” จากลูกค้าที่เห็นคุณค่าแบรนด์ มากกว่าเน้นยอดขายเพียงอย่างเดียว
7. Collaboration เสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน
ส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ และเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน ซึ่งการทำ Collaboration สามารถสร้างความร่วมมือมิติต่างๆ ที่มากไปกว่าด้านแบรนด์ และการตลาด เช่น การจับมือด้านการผลิต เพื่อบริหารจัดการต้นทุนได้มีประสิทธิภาพขึ้น
8. นำเสนอ Solutions เพื่อเป็นมากกว่าการขายสินค้า
ในสภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อหดตัวเช่นนี้ ซึ่งมีผลต่อการทำธุรกิจและการตลาดยากขึ้น แต่ขณะเดียวกันนักการตลาดยังคงต้องปรับตัว พร้อมมองหาโอกาสใหม่ โดยธุรกิจที่จะชนะใจผู้บริโภคยุคนี้ ต้องไม่ขายเพียงสินค้า หรือบริการเท่านั้น แต่ต้องขาย “Solutions” ครอบคลุมทุกช่องทาง ทั้ง Physical และ Digital channel ที่สามารถตอบโจทย์ Personalization ของลูกค้า เช่น Solutions ช่วยแก้ปัญหาลูกค้า, Solutions ช่วยทำให้การใช้ชีวิตสะดวกขึ้น ง่ายขึ้น และอยู่ในราคาจับต้องได้
9. เชื่อมต่อกับผู้บริโภคด้วย Emotional Marketing
การตลาดทุกวันนี้ จะเน้นแต่การนำเสนอ Functional Value เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เหตุผลในการคิดพิจารณาตัดสินใจซื้อคงไม่เพียงพอ ต้องเชื่อมต่อกับผู้บริโภคด้วย “Emotional Marketing” เพื่อสร้างคุณค่าทางจิตใจ เช่น แม้เศรษฐกิจจะไม่เป็นใจ แต่ตลาดสัตว์เลี้ยงกลับเติบโตอย่างรวดเร็ว หรือตลาด Art Toy จะเห็นคนต่อคิวซื้อแถวยาว และคนนิยมสะสมกัน โดยที่คาแรกเตอร์บางตัว บางคอลเลคชั่น ราคารีเซลพุ่งไปแตะหลักหมื่น!
10. Change – Innovate – Transform
คัมภีร์สำคัญของการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ หรือผู้ประกอบการ SME คือ Change การปรับเปลี่ยน – Innovate การพัฒนา/ใช้นวัตกรรมใหม่ – Transform การนำพาธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคต