“วันเดอร์แมน ธอมสัน” (Wunderman Thompson) บริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารการตลาดระดับโลก ในเครือดับบลิวพีพี กรุ๊ป (WPP Group) เผยผลสำรวจล่าสุดจัดทำโดยกลุ่มธุรกิจ Thompson Intelligence ของวันเดอร์แมน ธอมสัน ซึ่งเป็นการสำรวจเรื่อง “เศรษฐกิจสุขภาพในประเทศไทย (The Well Economy Thailand)” ในกลุ่มคนจำนวน 500 คน พบข้อมูลแปลกใหม่ที่น่าสนใจในกลุ่มผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่ดำเนินชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกและความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น 4 บริบทที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนไทยในยุคปัจจุบัน ได้แก่
– นิยามของคำว่าสุขภาพ
– สาเหตุที่สุขภาพไม่ดี
– การรักษา
– สุขภาพและเทคโนโลยี
นิยามของสุขภาพดี ต้องดี 5 ด้าน! และ Diet คือเทรนด์มาแรงสุดในการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง!
เพียงสุขภาพกายใจที่ดี ยังไม่เพียงพอ เพราะความหมายของคำว่าสุขภาพดีในยุคปัจจุบันได้มีบริบทความกว้างขึ้น โดยมิได้หมายถึงแค่เพียงการที่ร่างกายไม่เจ็บป่วยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงด้านอื่นๆ ผลการสำรวจล่าสุดพบว่าผู้คนในยุคนี้ให้คำนิยามของ “สุขภาพดี” ต้องครอบคลุมถึง สุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพทางเพศ สติสัมปชัญญะ ความสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิต โดยนิยามของคำว่าสุขภาพดี ในแต่ละ Generation แตกต่างกัน คือ
– กลุ่มคน “Gen X” และ “Baby Boomer” รู้สึกว่า “สุขภาพจิต” เป็นส่วนสำคัญในนิยามของคำว่า “สุขภาพ”
– กลุ่มคน “Gen Z” และ คนรุ่น “Millennials” จะเชื่อมโยงสุขภาพกับ “สุขภาพด้านร่างกาย” และ “ความสมบูรณ์แข็งแรง”
ที่สำคัญประเด็นด้านการควบคุมดูแลอาหาร (Diet) เช่น การเลือกอาหาร หรือการให้ความสำคัญกับการอ่านผลิตภัณฑ์ถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอันดับหนึ่ง มากกว่าการออกกำลังกาย ที่จะช่วยในการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี
แรงจูงใจหลักในการดูแลร่างกายของคนไทย คือ ต้องการให้ภาพลักษณ์ของตัวเองดูดี (Positive Self Image) ผ่านการมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และไม่มีโรคร้ายแรง
โดยพบว่า 82% ผู้คนคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ฉันจะต้องดูดี ซึ่ง 50% ของ “Gen Z”, “Gen Millennials” และ “Gen X” จดจ่ออยู่กับการดูแลรักษาร่างกายให้ดูดีสมส่วนและสมบูรณ์แข็งแรง และมักจะกังวลเรื่องน้ำหนักตัวของตนเอง หรือการที่พวกเขาไม่กำยำล่ำสันมากพอ
และ 89% มองว่าปัจจุบันนี้ การเลือกสิ่งที่ดีต่อสุขภาพได้กลายเป็นกระแสนิยมที่ห้ามตกเทรนด์
แล้วถ้าเป็นเรื่องสาเหตุที่สุขภาพไม่ดีล่ะ? คนคิดว่าเกิดจากอะไร
คนไทย 90% เชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา แทนที่จะกล่าวหาพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตส่วนตัวของตนเอง! นอกจากนี้ ยังหวังให้ภาครัฐออกมาทำหน้าที่ดูแลประชาชนอีกด้วย
ส่วนปัจจัยอันดับหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพไม่ดี คือ “เรื่องเงินทอง และการเงินส่วนบุคคล” ถูกตั้งประเด็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้คนยุคนี้เกิดความเครียด (58%) เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย (52%) จีน (42%) อินโดนีเซีย (60%) ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของพวกเขาโดยตรง และนำไปสู่วัฏจักรการหาเงินมาแก้ไขปัญหาสุขภาพวนเวียนอยู่ไม่รู้จบ
เข้าข่ายที่ว่า “เงินน้อย (ลง) ส่งผลให้เกิดความเครียด เมื่อเกิดสภาวะเครียดกดดัน ก็กระทบกับสุขภาพกายและใจ จึงทำให้เจ็บป่วย เมื่อเจ็บป่วย จึงต้องเสียเงินเพื่อเยียวยารักษา” โดยพบว่าคน “Gen X” มีแนวโน้มจะมีความเครียดมากที่สุดในทุกแง่มุมของชีวิต
คนไทยใช้ “ยาแก้ปวด-ลดไข้” ยามป่วยมากสุด และพึ่งคำแนะนำสุขภาพ ทั้ง “Offline” และ “Online”
เมื่อพบว่าป่วย คนไทยจะรักษาตนเองด้วยยาแก้ปวด ลดไข้ จากร้านขายยา มากที่สุด โดยกลุ่มคนรุ่น Millennials (65%) และ Gen X (73%) จะรักษาตัวเองโดยใช้ยาแก้ปวดทั่วไปเพื่อให้ผลในทางรักษารวดเร็วประหยัดเวลา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าคนในรุ่นอื่นๆ นอกจากนี้พวกเขายังใช้ยา “ธรรมชาติ” เป็นทางเลือกอีกด้วย
อีกหนึ่งกระแสที่มาแรงและส่งผลต่อพฤติกรรมการรักษา คือ คนไทยในทุกกลุ่มอายุ จะใช้ช่องทาง Online เป็นทางออกที่ช่วยเสริมคำแนะนำที่ได้รับจากช่องทาง Offline
โดย 46% ของ “Baby Boomer” จะไปคลินิก ตลอดจนค้นหาข้อมูลของอาการและวิธีการรักษาเพิ่มเติมจากช่องทางออนไลน์ ส่วน “Gen Z” (30%), คนรุ่น “Millennials” (27%) และ “Gen X” (25%) จะเสาะหาคำแนะนำจากช่องทางโซเชียลมีเดีย และยังพบว่า “Gen Z” (19%) เลือกการรักษาด้วยการคุยกับแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่า
“พุทธศาสนา” ส่งผลดีในด้านการรักษาตนเอง
นอกจากนี้คนไทยมองว่าแนวคิดทางพุทธศาสนาส่งผลทางบวกต่อสุขภาพ โดยคนไทยมีอัตราการทำสมาธิและบำบัดตนเองสูงสุดทั้งในแง่ของร่างกายและอารมณ์ อาทิ
– การทำสมาธิ 78% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 51%
– การผ่อนคลายด้วยสปา 60% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 53%
– รักษาโดยนักบำบัด 50% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 30%
“แอปฯ สุขภาพ” คือ ความหวังใหม่ที่มาแรง!
ปัจจุบันเทคโนโลยีมีศักยภาพสูงในการช่วยรักษาสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน แต่จำเป็นต้องให้ความรู้ความเข้าใจในการใช้งาน และให้ความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล กว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ยังไม่มีการใช้แอปพลิเคชั่นด้านสุขภาพเพื่อติดตามตรวจสอบสุขภาพของตน แม้จะอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างมากก็ตาม
เช่น ญี่ปุ่น ซึ่ง 78% ของ “Baby Boomer” ระบุว่าพวกเขาไม่มีการใช้แอปพลิเคชัน โดยเหตุผลหลักที่ไม่ใช้แอปพลิเคชัน มีความแตกต่างกันตามอายุ เช่น กลุ่มคนรุ่นเก่าไม่มีความรู้ตลอดจนไม่ได้ติดตามว่าแอพที่เกิดขึ้นใหม่ๆ นั้น ทำอะไรได้บ้าง และเชื่อถือแพทย์มากที่สุด
ส่วนคนรุ่น “Millennials” (56%), “Gen X” (47%) และ “Gen Z” (44%) คือ กลุ่มหลักที่มีโอกาสจะเป็นกลุ่มผู้ใช้แอปพลิเคชันสุขภาพ
แต่เมื่อสำรวจในกลุ่มผู้ใช้แอพสุขภาพแล้ว พบว่าพวกเขารู้สึกว่าหากใช้อย่างถูกต้อง สิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขาไปถึงเป้าหมายตามนิยามของคำว่า “สุขภาพดี” ได้อย่างแน่นอน เพราะมองว่าแอปฯ สุขภาพ มีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยมอนิเตอร์เรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ น้ำหนัก อัตราการเต้นของหัวใจ และการควบคุมดูแลอาหาร/โภชนาการในแต่ละวัน
โดย 87% เชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้ 81% ชอบที่จะติดตามแอพตรวจสอบสุขภาพของตนที่บ้านมากกว่าที่จะไปพบแพทย์
สถานการณ์ “เศรษฐกิจสุขภาพ” ของคนไทยในระดับ Micro Segment คือ ดัชนีชี้วัดสำคัญของความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพของประเทศ สุขภาพกายใจของคนคือผลสรุปของ ระดับความเป็นอยู่ของประชาชน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ และสภาพสังคมในระดับมหภาค
เพราะ “คนที่มีคุณภาพ” ย่อมสร้าง “ประเทศชาติที่มีคุณภาพ” เช่นกัน ยิ่งโดยเฉพาะในโลกที่มีการแข่งขันสูง และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การรู้เท่าทันสุขภาพทั้ง สุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพทางเพศ สติสัมปชัญญะ ความสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิต จึงเป็นวาระสำคัญ ที่ทุกภาคส่วน รวมถึงคนไทยทุกคน ที่จะต้องหันมารณรงค์ในการดูแลป้องกันก่อนที่ ปัญหาสุขภาพ จะกลายเป็นวัฏจักร “จน – เครียด – ป่วย” จนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในที่สุด