นับตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การครองอำนาจความเป็น “พี่ใหญ่” ของโลก (Hegemony) อยู่กับสหรัฐอเมริกา และยุโรปมาโดยตลอด แต่แล้วเวลานี้ศูนย์กลางอำนาจของโลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค “Asian Century” หรือ “ศตวรรษแห่งเอเชีย” โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย เริ่มมีบทบาทขึ้นมากำหนด Agenda ของโลก นำโดย “จีน” มหาอำนาจตัวจริงแห่งยุคนี้
เพราะนอกจากนโยบายรัฐบาลจีน มุ่งผลักดันไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ได้พิสูจน์ให้ชาวโลกเห็นแล้วว่า “แบรนด์จีน” ที่ในอดีตใครๆ ต่างพากันส่ายหน้าในเรื่องคุณภาพสินค้า และชื่อเสียงของแบรนด์ แต่ทุกวันนี้หลายประเทศทั่วโลก ต่างเปิดรับแบรนด์จีนเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน รถยนต์ไฟฟ้า โดรน หุ่นยนต์ รวมไปถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และ e-Payment ขณะเดียวกัน “ประชากรจีน” กลายเป็นผู้บริโภคที่มีพลังการใช้จ่ายมากที่สุดในเวลานี้
ในจำนวนประชากรจีนกว่า 1,300 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปี 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,400 ล้านคน หนึ่งในกลุ่มคนที่มีศักยภาพ คือ “คนจีนรุ่นใหม่” (Modern Chinese Consumers) โดยส่วนใหญ่เป็นคนมิลเลนเนียล คาดการณ์ว่าปัจจุบันประชากรมิลเลนเนียลในจีนมีมากกว่า 400 ล้านคน และนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นผู้บริโภคกลุ่มสำคัญที่แบรนด์ไม่ควรมองข้าม !!!
คนรุ่นใหม่เหมือนกัน แต่ใช่ว่าจะมี Urban Lifestyle ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ด้วยความที่จีนเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน และความเจริญไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึง “คนจีนรุ่นใหม่” จึงมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ “คุณอิทธิชัย อรรถกระวีสุนทร ผู้ก่อตั้งร่วม บริษัท เลเวลอัพ โฮลดิ้ง จำกัด” เอเยนซีการตลาดออนไลน์ในจีน ฉายภาพพื้นที่ในจีนว่าแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่
“First Tier City” เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของจีน เช่น ปักกิ่ง, เซียงไฮ้, กวางโจว และเซินเจิ้น โดยพฤติกรรม หรือวิถีชีวิตของคนที่อยู่ในเมืองใหญ่เหล่านี้ จะเสพติดความเป็นอินเตอร์มาก ชอบอัพเดทเทรนด์ใหม่ แสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่ และมีกำลังซื้อสูง อีกทั้งเมืองเหล่านี้ยังเป็นศูนย์รวมผู้บริโภคกลุ่มมหาเศรษฐี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ธุรกิจไทยควรจับตลาด
“Second Tier City” คือ หัวเมืองหลักของมณฑลนั้นๆ เช่น เฉิงตู มณฑลเสฉวน, คุนหมิง มณฑลยูนนาน ทั้งนี้เมืองเฉิงตู เป็นเมืองที่น่าสนใจ และกำลังมาแรง เนื่องจากรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนการค้าการลงทุน ทำให้เกิดการย้ายฐาน หรือขยายฐานโรงงานผลิตไปที่เมืองแห่งนี้ ส่งผลให้ภาคแรงงานเติบโต ประชากรมีรายได้ดี หลายคนเปลี่ยนสถานะกลายเป็น “คนรวย” และพร้อมใช้จ่ายหากถูกใจสิ่งนั้น เป็นการตัดสินใจซื้อโดยใช้ “Emotional” เป็นหลัก
“Third Tier City” และ “Fourth Tier City” เป็นเมืองที่อยู่ในสังคมชนบท วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนชนบทในจีน ยังไม่เปิดกว้างเท่ากับสองกลุ่มแรก และยังยึดมั่นกับวัฒนธรรมดั้งเดิม ชื่นชอบธรรมชาติ ไม่ได้มีวิถีชีวิตแบบ Urban Lifestyle และไม่ได้เสพความหรูหราเหมือนกับคนที่อยู่ในเมืองใหญ่
“Young Affluent” คนจีนคลื่นลูกใหม่ เป้าหมายของแบรนด์หรู – โอกาสของแบรนด์ไทย
ปัจจุบันจีนเป็นตลาดสินค้า Luxury Brand ใหญ่สุดในโลก สะท้อนได้จากผลวิจัย “Chinese Luxury Consumers” จัดทำขึ้นโดย “McKinsey & Company” เผยว่าในปี 2016 คาดการณ์ว่ามีคนจีน 7,600,000 ครัวเรือน ซื้อสินค้าหรู โดยแต่ละครัวเรือนมีการใช้จ่ายสินค้าหรูเฉลี่ยอยู่ที่ 71,000 หยวนต่อปี และในปี 2018 จะเป็นปีที่จีนมีประชากรกลุ่มมหาเศรษฐีมากที่สุดในโลก ขณะที่ปี 2021 คาดการณ์ว่าจีนจะกลายเป็นประเทศที่มีครัวเรือนมั่งคั่งมากที่สุดของโลก
ความนิยมสินค้าหรูในจีน เห็นชัดเจนมากขึ้นนับตั้งแต่เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2008 เวลานั้นมีผู้บริโภคจีน 12% ที่ใช้จ่ายสินค้าหรูทั่วโลก จากมูลค่าตลาด Luxury Brand โดยรวมอยู่ที่ 1,263,000 ล้านหยวน และสัดส่วนของผู้บริโภคจีนที่ใช้จ่ายสินค้าหรูเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าในปี 2025 มูลค่าตลาด Luxury Brand ทั่วโลกจะอยู่ที่ 2,700,000 ล้านหยวน ในจำนวนนี้มาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวจีน 44%
นอกจากการซื้อ Luxury Brand ผ่านช่องทาง Brick and mortar แล้ว คนจีนหันมาซื้อสินค้าหรูผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยเช่นกัน และบรรดา Luxury Brand ที่เจาะตลาดจีน ได้พัฒนาช่องทางการขายและการให้บริการรูปแบบ “O2O” (Offline to Online) เพื่อเชื่อมต่อประสบการณ์การช้อปปิ้งและการให้บริการทั้งในช้อป กับออนไลน์ได้อย่างไร้รอยต่อ และเพื่อรองรับแนวโน้มในอนาคตที่ความต้องการซื้อสินค้าหรูผ่านทางออนไลน์จะมากขึ้น
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนจีนมั่งคั่ง มีเซ็กเมนต์ใหม่ที่กำลังเป็นที่จับตามองของ Luxury Brand จากทั่วโลก คือ “Young Affluent” ซึ่งเป็นคนจีนรุ่นใหม่ที่เติบโตในยุคดิจิทัล โดยส่วนใหญ่อยู่ในเมืองเศรษฐกิจของจีน ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีลักษณะ
– ด้วยความที่อยู่ในเมืองใหญ่ จึงมีความเป็น Globalization และ Urbanization ทำให้มีไลฟ์สไตล์เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ในมหานครใหญ่ของโลก
– อายุไม่มาก และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
– เป็นนักช้อปที่ฉลาด ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
– ชอบซื้อสินค้าแบรนด์เนม และมีคุณภาพคุ้มค่าคุ้มราคา
– ต้องการมอบรางวัลให้กับตนเอง
– ต้องการแสดงสถานะของตนเองในสังคม
“คนจีนเริ่มมีความเป็น “Urban Lifestyle” เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว แต่ช่วงแรกยังไม่ได้กว้างขวางมากนัก เพราะ Social Media ยังไม่กระจายตัว แต่ในช่วง 3 ปีหลังมานี้ Social Media เข้าถึงง่าย ประกอบกับในเมืองใหญ่ เช่น เซียงไฮ้, เซินเจิ้น มี Global Brand เข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้น รวมทั้งคนจีนเดินทางไปเรียนต่างประเทศมากขึ้น ทำให้มี Mindset แบบสากล และนักธุรกิจ คนมีฐานะ ก็เดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง และนิยมซื้อสินค้าแบรนด์เนมกลับมา” คุณอิทธิชัย ขยายความเพิ่มเติม
สอดคล้องกับ คุณเธียรศักดิ์ ธรรมเจริญกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่องไทย มีเดีย แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ฉายภาพว่า “พฤติกรรมการช้อปปิ้งของคนจีนเวลาที่เดินทางออกนอกประเทศ นิยมซื้อสินค้า 2 อย่าง คือ 1. สินค้าแบรนด์เนม เพราะคนจีนมองว่าซื้อสินค้าแบรนด์เนมที่ต่างประเทศ ถูกกว่าซื้อในประเทศจีน และไม่เสี่ยงของปลอม
2. จีนมีวัฒนธรรมเวลาไปเที่ยว ต้องซื้อของฝาก อย่างเวลาไปเที่ยวเกาหลี – ญี่ปุ่น คนจีนนิยมซื้อผลิตภัณฑ์ความงาม ขณะที่มาเที่ยวเมืองไทย คนจีนชอบซื้อผลไม้อบแห้ง เพราะเมืองไทยเด่น Tropical Fruit แต่นอกจากผลไม้อบแห้งแล้ว เราควรสร้างสินค้าอื่นๆ ที่ทำให้คนจีนนึกถึง และต้องซื้อเป็นของฝากเวลามาเมืองไทย”
เพราะฉะนั้นผู้บริโภคกลุ่ม “Young Affluent” บรรดาสินค้าหรูระดับโลกหมายปองอยู่นั้น ในฝั่ง “แบรนด์ไทย” ควรหันมาเจาะกลุ่มผู้บริโภคเซ็กเมนต์นี้เช่นกัน เพราะมีกำลังซื้อสูง อย่างไรก็ตามการกำหนด Target Market ที่คนจีนกลุ่มนี้ ไม่จำเป็นเสมอไปที่แบรนด์ไทยต้องวางตำแหน่งเป็นแบรนด์หรูเช่นเดียวกับ Luxury Brand ระดับโลก แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การเน้นคุณภาพสินค้า/การบริการ – ภาพลักษณ์แบรนด์ – ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ที่ช่วยสะท้อนตัวตน หรือส่งเสริมภาพลักษณ์ของผู้บริโภคคนนั้นๆ เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นนักช้อปฉลาด มองหาสินค้ามีคุณภาพ
“ออกแบบทริปเอง – เที่ยวเอง ไม่ง้อทัวร์” วิถีท่องเที่ยวคนจีนมิลเลนเนียล
“ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสุดฮิตของคนจีน และปัจจุบัน “คนจีน” เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มใหญ่สุดของไทย คาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 9.8 ล้านคน เป็น 10.4 – 10.6 ล้านคน โดย 50% มากับกรุ๊ปทัวร์ และอีก 50% เป็นนักท่องเที่ยวอิสระ (Freedom Independent Traveler : FIT)
สัดส่วนของนักท่องเที่ยวสองกลุ่มนี้ เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยเมื่อก่อนคนจีนที่มาเที่ยวเมืองไทย ส่วนใหญ่มาในรูปแบบกรุ๊ปทัวร์กลุ่มใหญ่ และเส้นทางท่องเที่ยว – กิจกรรมระหว่างทริป เป็นรูปแบบเดียวกันหมดตามที่บริษัททัวร์จัดให้ โดยส่วนใหญ่มากรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ แต่ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT ขยายเพิ่มขึ้น
“Media Intelligence” (MI) บริษัทโฆษณา เผยผลวิจัยนักท่องเที่ยวจีนมาไทย พบว่าค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยระหว่างอยู่ในประเทศไทย อยู่ที่ 25,000 – 50,000 บาทต่อคนต่อทริป (ระยะเวลาเที่ยวเฉลี่ย 5 – 7 วัน) โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างทริป ประกอบด้วย
– 27% ช้อปปิ้ง
– 27% ที่พัก
– 18% อาหาร
– 11% กิจกรรมผ่อนคลาย
– 9% การเดินทาง
– 5% แหล่งท่องเที่ยว
– 3% อื่นๆ
พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT จะใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นหาข้อมูล เพื่อออกแบบทริปเอง และด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่ เติบโตในยุคดิจิทัล จึงเชื่อมต่อกับ Social Network ตลอด ขณะเดียวกันชอบท่องเที่ยวอิสระ และแสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่
3 แพลตฟอร์มการตลาดที่แบรนด์ไทย ต้องใช้เจาะตลาดคนจีน
จากข้อมูลข้างต้น เป็นคำตอบแล้วว่าทำไมแบรนด์ไทยไม่ควรมองข้าม “ผู้บริโภคคนจีนรุ่นใหม่” แม้จะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีศักยภาพสูง แต่ด้วยความที่จีน เป็นประเทศที่ไม่เปิดให้แพลตฟอร์มระดับโลก เช่น Google, Facebook ใช้งานได้ในจีน แต่ใช้วิธีพัฒนาแพลตฟอร์มของตนเอง ฉะนั้นถ้าแบรนด์ต่างประเทศจะเจาะตลาดจีน ก็ต้องรู้จัก และใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลยอดนิยมในจีน
คุณอิทธิชัย แนะนำว่า การทำการตลาด หรือการสื่อสารการตลาดไปยังผู้บริโภคคนจีนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไทย ที่ตั้งใจบุกเข้าไปเจาะตลาดประเทศจีน หรือแบรนด์ไทยที่อยากทำตลาดนักท่องเที่ยวจีน จำเป็นต้องรู้จัก 3 แพลตฟอร์มหลักที่คนจีนใช้กันมากที่สุด นั่นคือ Baidu – Weibo – WeChat
1. “Baidu” เป็น Search Engine อันดับ 1 ที่จีน เปรียบได้กับ Google ที่คนทั่วโลกใช้ ซึ่งคนจีนใช้แพลตฟอร์มนี้ในการค้นหารีวิวเป็นหลัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ “แบรนด์ไทย” ต้องทำ ไม่ว่าจะในกลุ่มธุรกิจไหนก็ตาม จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าแฟชั่น หรืออยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจบริการ คือ ทำให้แบรนด์มีรีวิวติดอยู่ในบน Baidu เพื่อเวลาผู้บริโภคค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต จะได้เจอคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์รีวิวจากลูกค้าจริง และคอนเทนต์จากการที่แบรนด์ใช้กลยุทธ์ “KOL” (Key Opinion Leader) ในการทำรีวิว เช่น Blogger เนื่องจากคนจีนเชื่อ Blogger มากกว่าแบรนด์
“การโปรโมทแบรนด์โดยใช้การสื่อสารที่ออกมาจากฝั่งแบรนด์เพียงอย่างเดียว ผู้บริโภคจะไม่ค่อยเชื่อ เพราะคนจีนกลัวการโดนหลอกมากที่สุด นี่จึงเป็นที่มาว่ารีวิวจากลูกค้าจริง และการใช้กลยุทธ์ KOL ผ่าน Blogger หรือทำ Micro-influencer จึงมีความสำคัญในการสื่อสารเข้าถึงผู้บริโภคจีน” คุณอิทธิชัย ขยายความเพิ่มเติม
Photo Credit : บริษัท เลเวลอัพ โฮลดิ้ง จำกัด (Level Up Holding)
2. “Weibo” เป็นแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อันดับ 1 ในจีน ลักษณะเช่นเดียวกับ Facebook ซึ่งวิธีการสร้าง Engagement ระหว่างแบรนด์ กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย แบรนด์ไม่ควรมุ่งแต่ดันแมสเสจที่ต้องการจะสื่อสารกับผู้บริโภคออกไปทางเดียว แต่แบรนด์ต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็น “เพื่อน” กับคนในเครือข่ายสังคมออนไลน์ และสร้าง “Community” บนแพลตฟอร์มเหล่านี้
ตัวอย่างประสบความสำเร็จจากการใช้แพลตฟอร์ม “Weibo” คือ Sasa ร้านเครื่องสำอางชื่อดังจากฮ่องกง ได้เปลี่ยนตัวเองกลายเป็นกูรูด้านเครื่องสำอาง โดยแนะนำเคล็ดลับความสวยความงาม และการแต่งหน้า เป็นที่โดนใจสาวๆ ชาวจีน
3. “WeChat” คล้ายกับแอปพลิเคชัน “LINE” แต่มีความครบวงจรกว่า เพราะกลยุทธ์ของ WeChat ต้องการปั้นตัวเองเป็น Super Application ทั้งค้นหาข้อมูล จองตั๋วหนัง จองรถ ฯลฯ ทำให้คนจีนนิยมใช้ WeChat เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวัน
“แต่ด้วยความที่ WeChat เป็นแพลตฟอร์มไม่ค่อยเอื้อต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์ กับผู้บริโภค ทำให้แบรนด์ต้อง Push แมสเสจไปเรื่อยๆ ทว่าการสร้าง Engagement ที่คนจะแชร์คอนเทนต์ของแบรนด์ ต้องเป็นคอนเทนต์สนุกสนาน สร้างความรู้สึกร่วมกับผู้บริโภคได้” คุณอิทธิชัย อธิบายเพิ่มเติม
นี่คือ 3 แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ “แบรนด์ไทย” ถ้าต้องการเจาะตลาดจีน ต้องใช้ในการสื่อสารเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน
นอกจากนี้ทาง “Media Intelligence” เผยว่า คนจีนชื่นชอบดารา-นักร้องไทย และซีรีย์วัยรุ่นไทย – ซีรีย์วาย ดังนั้นแบรนด์ที่ใช้พรีเซนเตอร์เป็นศิลปินดาราไทยยอดนิยมในกลุ่มคนจีน อาจต่อยอดด้วยการนำศิลปินดาราไปจัดงาน Meet & Greet พบปะแฟนคลับชาวจีนที่ประเทศจีน จะเป็นกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าแบรนด์ไปยังกลุ่มคนจีนมากขึ้น หรือบางแบรนด์ เลือกใช้ดารา-นักร้องไทยที่ฮิตในกลุ่มคนจีน พร้อมทั้งแมสเสจสื่อสารต้อง Localize ให้เป็น “ภาษาจีน”
ขณะเดียวกัน แบรนด์ที่งบโฆษณา ต้องการสร้าง Brand Awareness และ Remind Brand ในกลุ่มผู้บริโภคคนจีน ควรใช้ Media Touchpoint ประเภทสื่อนอกบ้านตรงที่มีคนจีนหนาแน่น เช่น สื่อในสนามบิน, สื่อในศูนย์การค้า และการ Push สินค้าเข้าช่องทางจำหน่ายที่ปัจจุบันคนจีนนิยมไปช้อปปิ้ง เช่น วัตสัน, เซเว่น อีเลฟเว่น ที่บางสาขาจัดมุมสินค้ายอดนิยมของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ
จะเอาสินค้าไปขายบนอีคอมเมิร์ซจีน ใช่ว่าจะเข้าไปง่ายๆ ?!?
เมื่อยุคดิจิทัลเปลี่ยนโลกใบนี้ให้กลายเป็น “โลกไร้พรมแดน” ที่ใครๆ ก็สามารถซื้อ-ขายสินค้าถึงกันได้ทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง – เล็กบางส่วน มองว่าการออกไปลุยตลาดจีน สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ติดต่อขอเอาสินค้าไปวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีน เท่านี้ก็กระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภคชาวจีนแล้ว
ทว่าในความเป็นจริงแล้ว…ไม่ง่ายอย่างที่คิด !! เพราะมีขั้นตอนต่างๆ และต้องตอบคำถามกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอีกว่า สินค้าของคุณมี Volume การผลิตเพียงพอต่อ Demand ในตลาดจีนหรือไม่ ยิ่งธุรกิจขนาดกลาง – เล็กอยากออกไปลุยเดียว ย่อมมีอำนาจการต่อรองน้อย หรือไม่มีอำนาจการต่อรองเลย ?!?
คุณเธียรศักดิ์ ฉายภาพว่า การเอาสินค้าเข้าไปขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน เป็นเรื่องยากที่ผู้ประกอบการไทยทั่วไปจะเข้าไปเองได้ แบรนด์ที่เข้าไปวางสินค้าบนออนไลน์จีนได้ ต้องติดต่อกับ “Service Provider” ที่จีน ซึ่งแต่เดิมบริษัทเหล่านี้ทำนำเข้า-ส่งออกมาก่อน จากนั้นผันตัวเองมาทำ Service Provider ให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการเอาสินค้าไปวางจำหน่ายบนอีคอมเมิร์ซใหญ่ของจีน
“แบรนด์ไทยที่ไปเจาะตลาดจีน มักจะเจอปัญหาขอบเขตข้อจำกัดด้าน Volume การผลิต ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ กำลังร่วมกลุ่มผู้ประกอบการไทย เช่น กลุ่มสินค้าข้าว ถ้าผู้ประกอบการไทยรายเดียวไป ต้องเจอคำถามกลับมาว่า แล้วคุณมี Volume เท่าไร เพราะถึงอย่างไรกำลังการผลิตจากผู้ประกอบการรายเดียว ไม่เพียงพอต่อตลาดจีนอย่างแน่นอน
ดังนั้น การไปตลาดจีน ผู้ประกอบการไทยต้องรวมกลุ่ม ไปเดี่ยวไม่ได้ ไม่รอด ซึ่งทุกประเทศที่เจาะตลาดจีนใช้แนวทางรวมกลุ่ม นอกจากนี้ ต้องทำ Packaging Design มี “ภาษาจีน” บนบรรจุภัณฑ์ และสินค้าต้องรองรับการจ่ายเงินผ่าน WeChat Pay และ Alipay”
แบรนด์ไทยรายใด ที่มีความพร้อม และกำลังหาทางในการขยายฐานลูกค้า โดยเล็งไปที่ผู้บริโภคจีน ไม่ควรมองข้าม “คนจีนรุ่นใหม่” ที่มีทั้งกำลังซื้อ ความกล้าในการเปิดรับ หรือทดลองสิ่งใหม่ๆ