เพราะเราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาท…เกือบทุกจังหวะชีวิต! จึงไม่น่าแปลกใจที่ ไทยแลนด์ 4.0 จะเต็มไปด้วยบริการที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ทุกอย่างสามารถเข้าถึง ใช้งาน และควบคุมได้จากสมาร์ทโฟน อวัยวะอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่บนมือทุกคน และอันที่จริงก็ไม่ใช่แค่รูปแบบการให้หรือการใช้บริการ ที่เปลี่ยนรูปแบบไป เพราะแม้แต่ เงิน ในรูปแบบธนบัตรที่คุณคุ้นเคย ได้หยิบจับ เบิกถอน เพื่อใช้จ่ายกันมาเนิ่นนาน ก็กำลังจะถูกแปรสภาพด้วยเทคโนโลยี!
ในงานใหญ่อย่าง Digital Thailand Big Bang 2017 ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เพื่อแสดงศักยภาพทางดิจิทัลเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนวัตกรรมที่แต่ละหน่วยงานและผู้ให้บริการพากันมาเปิดบูธจัดแสดง ภายในงานยังมีเวทีเสวนามากมายแต่ละประเด็นก็น่าสนใจไม่แพ้กัน แต่ที่โดดเด่นและน่าสนใจเป็นพิเศษคือหัวข้อ “The Future of Payment : How digital and blockchain technology revolutionize the future of money?” ซึ่งบอกตามตรงว่าเห็นหัวข้อน่าสนใจแล้ว แต่บรรดา Speaker นั้นน่าสนใจมากขึ้นอีกเท่าตัว เพราะเป็นช่วงเสวนาที่รวมพลผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรต่างๆ ทั้งธนาคารกสิกรไทย , Mastercard, Visa, ธนาคารไทยพาณิชย์ และยังมี คุณสิริเกียรติ์ บุญวรเศรษฐ์ (Sirikiat Bunworaset) กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริดจ์ คอนซัลติ้ง จำกัด (Bridge Consulting) ที่ปรึกษาทางธุรกิจด้านการวางแผนยุทธศาสตร์และการพัฒนาองค์กร และให้คำปรึกษาด้าน Blockchain เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อวิเคราะห์แนวทางในการก้าวสู่สังคมไร้เงินสดของประเทศไทย
รูปแบบการใช้เงินของคนไทยจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างไร…?
คุณศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย แสดงความเห็นว่า จากการสนับสนุนของรัฐบาลทำให้ยุคสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี สู่แนวคิด QR Payment ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยผลักดัน รวมถึงบริการกระเป๋าเงินออนไลน์ (e-Wallet) ที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมพยายามผลักดันสร้างความคุ้นเคยให้ผู้บริโภค จนนำมาสู่บริการใช้จ่ายผ่านเทคโนโลยี QR Code
“คนไทยปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีได้เร็ว โดยเฉพาะ Gen Z กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ปรับเปลี่ยนและรับเทรนด์การใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ดี เช่นเดียวกับอนาคตของ Blockchain (บล็อคเชน) แม้ว่าคนส่วนใหญ่อาจยังมองไม่เห็นภาพว่าเทคโนโลยีของสังคมไร้เงินสดจะมีประโยชน์อย่างไร แต่ขณะนี้ก็สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าสกุลเงินอิเลกทรอนิกส์นั้นมีความปลอดภัยกว่าทั้งในแง่การใช้งานและข้อมูลที่สามารถป้องกันการโจรกรรมได้ แม้จะมีข้อเสียจากการเก็งกำไรที่ทำให้ค่าเงินบางสกุลอย่าง Bitcoin (บิทคอยน์) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไปจากเดิม 400 เหรียญสหรัฐในปีที่ผ่านมา กลายเป็น 4,000 เหรียญสหรัฐภายในเวลา 1 ปี แต่ก็ยังมีข้อดีด้านอื่นๆ เช่น ไม่มีค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น”
อะไรคือปัจจัยกระตุ้นให้คนไทยอยากใช้เงินดิจิทัล…?
คุณณัชสิชา วรพฤกษ์พิสุทธิ์ รองประธานและหัวหน้าฝ่ายการพัฒนาตลาด Mastercard ประเทศไทย แสดงความเห็นว่า คนส่วนใหญ่เลือกใช้บริการจากสถาบันการเงินเนื่องจากมีความเชื่อมั่นในบริการ ดังนั้น เมื่อผู้ให้บริการและสถาบันการเงินเข้าสู่บริการรูปแบบ Digital Payment ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกกล้าใช้งานและเข้าใจบริการมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ให้บริการก็จำเป็นต้องมีความรู้ด้านบริการดิจิทัลด้วย เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ประทับใจผู้บริโภค
“เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค สถาบันการเงินต้องสร้างความเชื่อมั่นและมอบบริการที่ตอบสนองความต้องการได้ตรงใจผ่านเทคโนโลยีที่ใกล้ชิดผู้บริโภค แต่แม้ว่าเทคโนโลยีจะถูกพัฒนาเพื่อให้บริการได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นเพียงใด เรื่องความปลอดภัยยังคงต้องถูกคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ไม่ใช่แค่ป้องกันภัยจากแฮกเกอร์แต่ต้องทำให้ระบบปราศจากความเสี่ยงและช่องโหว่ แม้ว่าประเทศไทยยังไม่เป็นสังคม Cashless ทั้งหมด แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็ทำให้ Digital Payment สามารถแทรกซึมอยู่ในไลฟ์สไตล์คนจำนวนหนึ่งแล้ว ทั้งยังอยู่ในรูปแบบที่ช่วยให้การใช้งานเป็นไปได้ง่ายขึ้น เช่น การใช้จ่ายผ่านสมาร์ทวอทช์ หรือตู้เย็น ซึ่งผู้ให้บริการจำเป็นต้องให้เวลาผู้บริโภคในการเรียนรู้และเปิดรับเทคโนโลยีด้วย”
ความท้าทายของผู้ให้บริการทางการเงินในปัจจุบัน คือ…?
คุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการ Visa ประจำประเทศไทย แสดงความเห็นว่า เพราะธนบัตรถือเป็นเพียงเงินรูปแบบหนึ่งเท่านั้น และในโลกยังประกอบด้วยสกุลเงินหลากหลาย เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นจึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันให้คนเข้าสู่ยุค Cashless Society ได้
“Mobile Payment ถูกพูดถึงในประเทศไทยมานานแล้ว นับ 10 ปี แต่เนื่องจากโครงสร้างเทคโนโลยี อุปกรณ์ และอินเทอร์เน็ต ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพเช่นปัจจุบันซึ่งมีความพร้อมทั้งตลาด ผู้ให้บริการ และหน่วยงานภาครัฐ จึงเป็นไปได้อย่างมากที่ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนเกิดขึ้น ประกอบกับโอกาสจากพฤติกรรมการใช้งานของคนไทยซึ่งมีการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์เพียง 20% เท่ากับยังเหลือโอกาสเติบโตอีกกว่า 80% ซึ่ง PromptPay (พร้อมเพย์) ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ Disruption อย่างไรให้เกิด Impact และควรใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ในขณะนี้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงโดยมีผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง”
Digital Payment แบบใดที่ถูกใจและถูกเวลาสำหรับประเทศไทย…?
คุณสีหนาท ล่ำซำ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Payments and Disruptive Technology Office ธนาคารไทยพาณิชย์ แสดงความเห็นว่า คนไทยมีบัญชีธนาคารราว 70-80% ของจำนวนประชากร ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวถือเป็นโอกาสนำผู้บริโภคเข้าสู่ยุค Digital Payment ได้อย่างแน่นอน โดยมีความท้าท้ายเพียงแค่การเข้าถึงเทคโนโลยีและความรู้ความเข้าใจในบริการเท่านั้น
“ขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว เนื่องจากหลายฝ่ายต่างมีนโยบายและมองเห็นแนวทางในการดำเนินการร่วมกัน รูปแบบของ Digital Payment กำลังพัฒนาสู่ Virtualization ด้วยรูปแบบอุปกรณ์เสมือนที่เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นใกล้ตัวยิ่งขึ้น เพื่อแฝงเข้าไปอยู่ในชีวิตและพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคแบบ Seamless Payment ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงการพกเงินสด กระเป๋าสตางค์ หรือแม้แต่บัตรเครดิต เพราะทุกอย่างถูกเชื่อมต่อถึงกันอยู่แล้ว”
นอกจากมุมมองของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเงินแล้ว ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มและคาดการณ์ถึงยุค Cashless Society และ Blockchain Technology จาก คุณสิริเกียรติ์ บุญวรเศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริดจ์ คอนซัลติ้ง จำกัด (Bridge Consulting) ที่ปรึกษาทางธุรกิจด้านการวางแผนยุทธศาสตร์และการพัฒนาองค์กร และให้คำปรึกษาด้าน Blockchain อีกด้วย
“อนาคตของประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างแน่นอนเริ่มต้นจากการที่คนสามารถใช้จ่ายดำเนินชีวิตประจำวันได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเงินสดกระเป๋าเงินหรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือเพราะรูปแบบ Cashless Society ในอนาคตอันใกล้จะเป็นการชำระเงินผ่านนาฬิกาและเทคโนโลยีอื่นๆที่ถูกย่อส่วนและติดอยู่บนร่างกายของมนุษย์เรียกว่าเงินสามารถอยู่บนร่างกายคุณได้โดยไม่ต้องติดกับดีไวซ์
อนาคตยังจะเกิดระบบที่เรียกว่า Machine-to-Machine Payment เชื่อมโยงกับระบบ Internet of Things (IoT) เช่นรถยนต์เมื่อถูกขับเข้าไปเติมน้ำมัน รถยนต์ของเราจะสามารถจ่ายเงินให้กับหัวปั๊มจ่ายน้ำมันโดยตรง เพราะ sensor ตรวจจับอยู่แล้วว่าน้ำมันประเภทใด ได้ถูกเติมลงในถังเท่าใด พูดง่าย ๆ ว่าไม่เพียงแค่เป็นการจ่ายเงินแบบดิจิทัล แต่เป็นการทำธุรกรรมแล้วเสร็จโดยที่เราไม่ต้องแม้แต่จ่ายเงิน” คุณสิริเกียรติ์ กล่าวถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับรูปแบบการใช้จ่ายในอนาคต และอธิบายอีกว่า…
ทั่วโลกใช้เงินเหมือนกัน แต่ทำไมสกุลเงินต้องมีหลากหลาย
อยากให้ลองคิดดูว่า เวลาเราไปต่างประเทศ เรายังสามารถใช้ Facebook เดียวกัน ดู Netflix เหมือนกัน ใช้ โทรศัพท์มือถือเครื่องเดิม แต่ทำไมเงินต้องมีสกุลแตกต่างกัน ทำให้ต้องพกพาเงินหลายสกุล และต้องเสียค่าแลกเปลี่ยนไปมา เงินดิจิทัล (Digital Currency) เช่น Bitcoin หรือ Ethereum ที่ใช้ได้เหมือนกันทั่วโลก จึงเกิดขึ้นเพื่อเชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกันและแก้ปัญหาดังกล่าว
Blockchain เปลี่ยนโลก! คนเริ่มก่อน = โอกาส
Blockchain ไม่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาสู่การใช้จ่ายรูปแบบใหม่เท่านั้น แต่หมายถึงการทลายข้อจำกัดเรื่องสกุลเงิน สู่เงินดิจิทัลที่มีมูลค่าเท่ากันทั่วโลก ไม่มีต้นทุนในการพิมพ์ธนบัตร ไม่มีส่วนต่างระหว่างสกุลเงิน และไม่มีค่าธรรมเนียมในการโอนระหว่างบัญชี ระหว่างประเทศ (หรือมีแต่ก็น้อยมาก เมื่อเทียบกับระบบปัจจุบัน) ภายใต้รูปแบบ Decentralized Economy ที่เป็นการกระจายอำนาจไปสู่ผู้ใช้งาน ไม่ได้รวมอำนาจการเงินไว้ที่ตัวกลางเหมือนเช่นเคย
“คนไทยยังมีข้อจำกัดด้านความเข้าใจในเทคโนโลยี โดยเฉพาะ Blockchain ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมหาศาลในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ยกตัวอย่างโลกโซเชียลมีเดียแบบใหม่ บนระบบ Blockchain ซึ่งมีลักษณะการทำงานคล้ายกับ Facebook, Twitter แต่แตกต่างเนื่องจากผู้ใช้งานจะได้รับเงินเมื่อนำเสนอคอนเทนต์ที่น่าสนใจลงในโซเชียลมีเดียแบบใหม่ ผู้ให้ความสนใจในคอนเทนต์มาก ก็หมายถึงมูลค่าเงินที่ผู้นำเสนอคอนเทนต์จะได้รับมากขึ้นด้วย แตกต่างจากเดิมที่เงินส่วนใหญ่ที่ได้จากการโฆษณาจะเป็นรายได้ของผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย
ซึ่งรูปแบบธุรกิจบน Blockchain ดังกล่าวสามารถต่อยอดการใช้งานสู่หลาย ๆ อุตสาหกรรม เช่น การศึกษา สุขภาพ บันเทิง เป็นต้น แล้วจะทำให้เศรษฐกิจ กลายเป็น Decentralized Economy ไม่ใช่เป็นเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ในองค์กรใหญ่ ๆ เหมือนในปัจจุบัน”
เทคโนโลยีพร้อมใช้งาน รอผู้ที่สามารถเข้าใจและเห็นถึงโอกาส
การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ เช่น Digital Payment และ Blockchain นั้น ทุกภาคส่วนจะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้และสร้างโอกาสให้ได้ก่อนคนอื่น คุณสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นแค่ผู้ใช้งานหรือเป็นผู้สร้างโอกาสทางธุรกิจจาก Blockchain และเทคโนโลยีต่าง ๆ ถ้าเราเข้าใจ และมองให้ทะลุถึงความสำคัญและโอกาส เราจะพร้อมในการสร้างโอกาสให้ตัวเองก่อนคนอื่น
หากสนใจ session เต็ม “The Future of Payment: How Digital and Blockchain Technology Revolutionise the Future of Money?” สามารถติดตามผ่าน YouTube ได้ที่นี่.