Work From Home เป็นเหตุ…สังเกตได้! เช็คเทรนด์ “อีคอมเมิร์ซ” นักชอปไทยถูก COVID-19 เปลี่ยนสู่ New Normal จริงหรือ ?

  • 362
  •  
  •  
  •  
  •  

E-commerce Trend by Priceza

ไม่ใช่แค่สงสัย แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่กำลังรอดู “พฤติกรรม” ผู้บริโภคกับการ “ชอปออนไลน์” ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ผลักดันให้ผู้คนได้ลองใช้แพลตฟอร์มหลากหลายบนออนไลน์ ระหว่างที่ไม่สามารถไปใช้ชีวิตตามปกติได้

เรื่องนี้ คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด (Priceza) เพิ่งเปิดเผยทิศทางตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในช่วงที่ผ่านมาและท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ว่า…

– ปี 2019 ไทยมีมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ (ทั้ง B2C และ C2C) รวม 163,300 ล้านบาท

– คาดว่าปี 2020 มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยอาจเติบโตขึ้นถึง 35% กับมูลค่า 220,000 ล้านบาท หรือขยับสัดส่วนขึ้นเป็น 4-5% เท่านั้น

E-commerce Trend by Priceza 01

E-commerce Trend by Priceza 02

แต่หากเทียบสัดส่วนความนิยม “อีคอมเมิร์ซ” กับ “ตลาดค้าปลีก” ในแต่ละประเทศ จะพบว่า…

“จีน” มีสัดส่วนอีคอมเมิร์ซสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 25%

ตามด้วย “เกาหลีใต้” และ “อังกฤษ” อยู่ที่ 22%

“สหรัฐอเมริกา” อยู่ที่ 11%

“ญี่ปุ่น” อยู่ที่ 9%

ส่วน “อินเดีย” และ “ไทย” อยู่ที่ 3%

ยังมี “โอกาส” อีกมากบนโลก “อีคอมเมิร์ซ”

จากตัวเลขและสัดส่วนข้างต้น จะพบว่า…โอกาสในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังมีอีกมาก เนื่องจากมีตัวเลขการซื้อออนไลน์เพียง 3% เทียบกับค้าปลีกออฟไลน์ที่มีถึง 97% และจากที่คาดการณ์ก็พบว่ามีแนวโน้มที่อีคอมเมิร์ซไทยจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยในปี 2020 อาจอยู่ที่ 4-5% เท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่คาดว่าจะได้เห็นตัวเลขเช่นนี้ เป็นเพราะ… “คนไทยยังคุ้นชินกับการซื้อสินค้าออฟไลน์”

แม้ว่าอีคอมเมิร์ซจะได้อานิสงส์จากการหยุดอยู่บ้านและ Work From Home ที่ทำให้ผู้คนหันมาซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น แต่ “ความชื่นชอบ” และ “ความสุข” ของผู้คน คือ “การได้ออกไปใช้ชีวิตในห้างสรรพสินค้า” ส่วน “การชอปออนไลน์ก็กลายเป็นพฤติกรรมใหม่” เพราะถูกใจความสะดวกสบาย ขณะที่ การได้เลือกซื้อสินค้าด้วยตาตนเองจากห้างร้านก็ยังเป็นความสุขแต่ก็ต้องเปิดออนไลน์เพื่อหาข้อมูลและเปรียบเทียบสินค้าด้วย นั่นจึงเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมเราจึงไม่ได้เห็นสัดส่วนตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างก้าวกระโดดในแม้คนไทยจะเริ่มคุ้นชินกับการชอปออนไลน์มากกว่าที่เคย

E-commerce Trend by Priceza 03

E-commerce Trend by Priceza 04

อีคอมเมิร์ซไหน “ถูกใจ” นักชอปมากกว่ากัน…

หากแบ่งแพลตฟอร์มการซื้อขายอีคอมเมิร์ซออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่…

โซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram, LINE, Twitter

อีมาร์เก็ตเพลส เช่น Lazada, Shopee, JD Central, WeMall, PChome Online

แบรนด์ดอทคอม เช่น CENTRAL, KING POWER, Home Pro, TESCO Lotus, JIB, Lnw Shop เป็นต้น

จะพบว่า ปี 2018 สัดส่วนความนิยมของแพลตฟอร์มทั้งหมด แบ่งเป็นโซเชียลมีเดีย 40% อีมาร์เก็ตเพลส 35% และแบรนด์ดอทคอม 25% แต่ปี 2019 จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นโซเชียลมีเดีย 38% อีมาร์เก็ตเพลส 47% และแบรนด์ดอทคอม 15%

สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนดังกล่าว อาจมาจาก…การที่ปี 2019 ผู้บริโภคหันไปใช้แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะ Lazada (46%) และ Shopee (54%) ขณะที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีสัดส่วนเป็น Facebook 42%, Instagram 19%, LINE 34%, Twitter 5%

E-commerce Trend by Priceza 05

E-commerce Trend by Priceza 06

ส่วนตัวเลขการซื้อจากแบรนด์ดอทคอมที่ลดลง เป็นสาเหตุจาก…ตลาดอีคอมเมิร์ซนั้นมีการแข่งขันสูง ทั้งยังต้องใช้งบประมาณมากและต้องมีความเข้าใจในการทำตลาดเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค ดังจะเห็นได้จากการทำตลาดของกลุ่มอีมาร์เก็ตเพลสที่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แพลตฟอร์มได้แล้ว ก็ยิ่งเป็นการ “ยากสำหรับผู้เล่นรายใหม่” ประกอบกับแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสในปัจจุบันพยายามปรับตัวเป็นโซเชียลคอมเมิร์ซมากขึ้น มีการเติมฟีเจอร์และการใช้งานที่เรียนรู้จากพฤติกรรมผู้บริโภคมาแล้วว่าชื่นชอบการพูดคุยกับคนขาย อย่างการแชท และการเปิดไลฟ์คอมเมิร์ซ เป็นต้น เพื่อทำให้ผู้ใช้รู้สึกตอบโจทย์ความต้องการและใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มนานขึ้น

ช่วง COVID-19 สินค้าไหน “ปัง – แป้ก”

เมื่อเปรียบเทียบยอดขาย 10 กลุ่มสินค้า ในระหว่างเดือน “มกราคม – กุมภาพันธ์” และ “มีนาคม – เมษายน” ปี 2020 จะพบว่ามี 6 กลุ่มสินค้าที่มียอดขาย “เพิ่มขึ้น” และ 4 กลุ่มสินค้าที่ยอดขาย “ลดลง”

สินค้าที่มียอดขายเพิ่มขึ้น ได้แก่… สุขภาพและความงาม (+34%), สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน (+34%), หนังสือ (+27%), เครื่องใช้ไฟฟ้า (+22%), คอมพิวเตอร์ (+4%) และเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ภายในบ้าน (+2%)

สินค้าที่ยอดขายลดลง ได้แก่… โทรศัพท์ อุปกรณ์สื่อสาร (-27%), กีฬา สัตว์เลี้ยง Outdoor และของสะสม (-28%), เสื้อผ้าและแฟชัน (-41%) และรถ ยานพาหนะ (-44%)

E-commerce Trend by Priceza 07

– สินค้าที่เติบโตมากที่สุดในกลุ่มสุขภาพและความงาม คือ “แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ” โดยเฉพาะยี่ห้อศิริบัญชา และเสือดาว ซึ่งมีความสนใจซื้อเพิ่มขึ้นถึง 131%

– ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าที่มีความสนใจซื้อถึง 145% คือ “เครื่องดูดฝุ่น” โดยเฉพาะยี่ห้อ Xiaomi Deerma

– ส่วนสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคในครัวเรือนที่คนสนใจซื้อ มากขึ้นถึง 269% คือ “น้ำยาฆ่าเชื้อโรค” โดยเฉพาะยี่ห้อ Dettol

– ขณะที่สินค้ากลุ่มเสื้อผ้าและแฟชัน ที่ลดลงถึง 46% ในช่วงนี้ คือ “รองเท้าผ้าใบ”

E-commerce Trend by Priceza 08

E-commerce Trend by Priceza 09

E-commerce Trend by Priceza 10

นอกจากนี้ ยังมีความน่าสนใจของ “ประเภทสินค้า” ซึ่งมียอดขายเพิ่มขึ้นในแต่ละกลุ่ม อาทิ…

“สมุนไพรฟ้าทะลายโจร” ที่ทียอดขายเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม – เมษายนนี้ ติดอยู่ในกลุ่มสุขภาพและความงามด้วย เพิ่มเติมจากหน้ากากอนามัย, เครื่องวัดอุณหภูมิ, เจลล้างมือ

“ตู้เย็น – หม้อทอดไร้น้ำมัน” ก็เป็นสินค้าขายดีในช่วงดังกล่าว เช่นเดียวกับเครื่องกรองอากาศ และเครื่องซักผ้า

“กุนเชียง” กลายเป็นหนึ่งม้ามืดในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ที่ได้รับความสนใจซื้อจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก รวมถึง ข้าว สุรา และทิชชู่เปียก

E-commerce Trend by Priceza 11

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกธุรกิจจะสามารถ “ตั้งรับ” สถานการณ์ที่จะต้องก้าวสู่ “ออนไลน์” อย่างกะทันหันได้ทั้งหมด เรื่องนี้ คุณธนาวัฒน์ อธิบายว่า ในช่วง COVID-19 ทำให้เราเห็นธุรกิจ 2 รูปแบบ คือ “ธุรกิจที่ปรับตัวได้ดี” และ “ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ได้” ซึ่งปัญหาหลักมาจากการที่แบรนด์ไม่ได้สร้าง Digital Access เอาไว้ก่อน เช่น ไม่มีช่องทางหรือฐานการติดตามบนแพลตฟอร์มออนไลน์เอาไว้เลย ทำให้ลูกค้าไม่รู้ว่าจะติดตามแบรนด์อย่างไร และ COVID-19 ก็เป็นสาเหตุหลักที่บีบบังคับผู้บริโภคให้ถือตะกร้าชอปปิ้งออนไลน์ นั่นทำให้แทบทุกแบรนด์ต้องหันมาทำธุรกิจบนอีคอมเมิร์ซ มีการทำไลฟ์คอมเมิร์ซซึ่งพบว่าเติบโตมากในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนนี้ หรือแม้แต่ธุรกิจที่เคยขายผ่านหน้าร้านเท่านั้น อย่าง “โอมากาเสะ” ซึ่งมีราคาหลายพันหรือหลักหมื่นบาทก็ต้องปรับตัวมาขายผ่านออนไลน์หรือบริการเดลิเวอรี่ เช่นเดียวกับ “ค็อกเทล” ซึ่งเป็นการผสมเครื่องดื่มโดยบาร์เทนเดอร์ก็ยังต้องเปลี่ยนรูปแบบการขายมาเป็นการส่งส่วนผสมผ่านบริการออนไลน์และให้ลูกค้าได้ผสมเครื่องดื่มด้วยตนเอง


  • 362
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน