เป็นที่ทราบกันดีว่าหนึ่งในเซ็กเมนต์ผู้บริโภคที่มีศักยภาพ คือ “กลุ่มนักศึกษา” หรือที่เรียกว่า “U-Gen” เนื่องจากเป็นกลุ่มใหญ่ มีอำนาจการตัดสินใจด้วยตัวเอง ทั้งเป็นผู้เลือก และผู้ซื้อ รวมไปถึงเป็นกลุ่มที่แบรนด์ต้องการปักธงเป็นแบรนด์ในดวงใจ เพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ carry brand ไปถึงวันที่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่
แต่โจทย์สำคัญของแบรนด์ที่ต้องการครองใจผู้บริโภคกลุ่ม “U-Gen” ในยุคดิจิทัล คือ ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความเป็นปัจเจกสูง และด้วยความที่กลุ่ม U-Gen เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี จึง adopt และ adapt สิ่งต่างๆ ได้รวดเร็ว
ดังนั้นแบรนด์ที่ทำการตลาดและสื่อสารกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ ต้องเข้าใจใน Insights อย่างลึกซึ้ง เพื่อชนะใจคนวัย U-Gen
“บริษัท บีลิงค์ มีเดีย จำกัด” (Belink Media) ผู้ให้บริการ Out Of Home Media ประเภท Target Platform Media ซึ่งมีสื่อในโรงเรียน มหาวิทยาลัย อาคารสำนักงาน ศูนย์อาหาร ตลาดนัดเจาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศ และในสถานที่ท่องเที่ยวกลางคืน ทั่วประเทศ ได้ร่วมกับ “บริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) จำกัด” (Intage Thailand) บริษัทวิจัยทางการตลาด มาจัดทำบทวิจัย “U-Gen Research” จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 400 คนของมหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด (เก็บข้อมูลระหว่าง 23 – 31 สิงหาคม 2562)
เพื่อสำรวจไลฟ์สไตล์ รายได้ การใช้เวลา ด้านการเงิน ทั้งรายรับ และการใช้จ่าย การเปิดรับสื่อโฆษณาแบบไหนที่เข้าถึงผู้บริโภคได้มีประสิทธิภาพ และแบรนด์ที่ผู้บริโภคกลุ่มนักศึกษาใช้มากสุด
1. นักศึกษาไทยมีรายรับโดยเฉลี่ย 9,812 บาทต่อเดือน – ใช้จ่าย 8,345 บาท และเก็บออม 15%
ผลวิจัยนี้พบว่านักศึกษา “มหาวิทยาลัยเอกชน” (Private University) มีรายรับมากกว่า “มหาวิทยาลัยรัฐ” (Public University) และ “มหาวิทยาลัยราชภัฏ”
นักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐ
-
มีรายรับโดยเฉลี่ย 8,590.11 บาทต่อเดือน
-
ใช้จ่าย 7,171.84 บาทต่อเดือน
-
ออมเงิน 1,418.27 บาทต่อเดือน
นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชน
-
มีรายรับโดยเฉลี่ย 15,418.75 บาทต่อเดือน
-
ใช้จ่าย 15,110.69 บาทต่อเดือน
-
ออมเงิน 308.06 บาทต่อเดือน
นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ
-
มีรายรับโดยเฉลี่ย 8,172.46 บาทต่อเดือน
-
ใช้จ่าย บาทต่อเดือน 5,970.30 บาทต่อเดือน
-
ออมเงิน 2,202.06 บาทต่อเดือน
2. รายรับหลักมาจาก “ผู้ปกครอง” แต่นักศึกษาไทยยังหารายได้เพิ่ม โดยหลักจากการทำงาน “ฟรีแลนซ์” – “ขายของออนไลน์”
ถึงแม้ว่ารายรับหลักของนักศึกษาไทย ยังคงมาจาก “ผู้ปกครอง” โดยเฉลี่ยประมาณ 8,900 จากรายรับทั้งหมดต่อเดือน แต่ขณะเดียวกันพบว่านักศึกษาไทย ได้หารายได้เพิ่มด้วยตัวเอง
โดยงานที่ได้รับความนิยมมากสุดในกลุ่มนักศึกษาไทย คือ “Freelancer” โดยเฉลี่ย 4,900 บาทต่อเดือน
ทว่างานที่สร้างรายได้สูงสุด กลับพบว่า “ขายของออนไลน์” สามารถทำรายได้ให้กับนักศึกษาประมาณ 10,200 บาทต่อเดือน
3. นักศึกษาไทยควักเงินจ่ายไปกับ “อาหาร-เครื่องดื่ม” มากสุด ตามมาด้วย “ค่าเช่าหอ – เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย”
คราวนี้มาดูค่าใช้จ่ายส่วนตัวของนักศึกษาไทยพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วนักศึกษาไทยใช้จ่ายไปกับ 5 กลุ่มสินค้าหลัก คือ อาหารและเครื่องดื่ม, การเดินทาง, ค่าโทรศัพท์มือถือ, เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และหนังสือเรียน
นอกจากนี้ยังพบว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักอาศัย เช่น ค่าเช่าที่พักอาศัย และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง – บำรุงผิว ก็เป็นอีก 2 ค่าใช้จ่ายหลักของนักศึกษาไทยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามเมื่อเจาะลึกพฤติกรรมการใช้จ่าย พบว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชน ใช้จ่ายไปกับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย, การเดินทาง, เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว, ค่าตั๋วหนัง มากกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ และมหาวิทยาลัยราชภัฏ
สำหรับ 10 อันดับค่าใช้จ่ายส่วนตัวของนักศึกษาไทย มีดังนี้
อันดับ 1 ค่าอาหารและเครื่องดื่ม : 2,934.68 บาทต่อเดือน
อันดับ 2 ค่าเช่าที่พักอาศัย (เช่น หอพัก, อพาร์ทเม้นท, คอนโด) : 2,888.40 บาทต่อเดือน
อันดับ 3 ค่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย : 1,055.08 บาทต่อเดือน
อันดับ 4 ค่าเดินทาง : 928.95 บาทต่อเดือน
อันดับ 5 ค่าเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว : 795.43 บาทต่อเดือน
อันดับ 6 ค่าหนังสือเรียน : 1,055.08 บาทต่อเดือน
อันดับ 7 ค่าโทรศัพท์มือถือ : 477.81 บาทต่อเดือน
อันดับ 8 ค่าผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล : 390 บาทต่อเดือน
อันดับ 9 ค่าตั๋วหนัง / ซีรีส์ : 388.21 บาทต่อเดือน
อันดับ 10 ค่าผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน: 343.50 บาทต่อเดือน
4. นักศึกษาไทยมากกว่าครึ่ง จ่ายเงินผ่าน “Digital Payment” – “K PLUS, SCB Easy, Krungthai NEXT” ได้รับความนิยมสูงสุด
ตามที่กล่าวข้างต้นว่า “U-Gen” เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ทำให้คนกลุ่มนี้ adopt เทคโนโลยีใหม่ได้ง่าย และเร็ว ดังนั้นการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ทำผ่าน Mobile Banking โดยมากกว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างชำระค่าสินค้า-บริการต่างๆ ผ่าน Digital Payment
แอปพลิเคชันหลักยอดนิยมคือ
-
K PLUS 46%
-
SCB Easy 44%
-
Krungthai NEXT 39%
ขณะเดียวกัน “นักศึกษาไทย” ยังได้ใช้ Digital Wallet ของผู้ให้บริการที่เป็น Non-bank ด้วย โดยที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรกคือ
-
True Money 82%
-
Airpay 33%
-
Rabbit LINE Pay 24%
5. นักศึกษาไทยอยู่กับการเรียนทุกวัน ใช้เวลาเรียนกว่า 5 ชั่วโมงในวันจันทร์-ศุกร์ และวันหยุดเกือบ 1 ชั่วโมง
วิถีชีวิตของนักศึกษาไทย ใช้เวลาอยู่กับการเรียน ในวันจันทร์ – วันศุกร์ โดยเฉลี่ย 5.23 ชั่วโมงต่อวัน
ขณะที่ในวันหยุด เช่น วันเสาร์ – วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่างๆ นักศึกษาไทยใช้เวลาอยู่กับการเรียน โดยเฉลี่ยประมาณ 0.86 ชั่วโมงต่อวัน หรือเกือบ 1 ชั่วโมง
6. “ห้องเรียน – โรงอาหาร” สองสถานที่ที่ U-Gen ใช้เวลามากที่สุดในวันเรียน
ขณะที่สถานที่ที่ U-Gen ทุกคนใช้เวลามากสุดในวันที่มีเรียน คือ “ห้องเรียน” หรือ “ในอาคารเรียน” และ “โรงอาหาร” ที่นักศึกษาทั้ง 100% จะต้องไป
สำหรับ 10 อันดับสถานที่ที่นักศึกษาใช้เวลามากที่สุดในขณะอยู่มหาวิทยาลัย มีดังนี้
หอพัก / ที่พักอาศัยต่างๆ : 7 ชั่วโมง 34 นาทีต่อวัน
ห้องเรียน / ในอาคารเรียน : 4 ชั่วโมง 81 นาทีต่อวัน
ห้อง Lab / ห้องคอมพิวเตอร์ : 2 ชั่วโมง 20 นาทีต่อวัน
ห้องสมุด : 1 ชั่วโมง 77 นาที
พื้นที่กิจกรรม : 1 ชั่วโมง 74 นาที
ร้านกาแฟ / ร้านขนม : 1 ชั่วโมง 24 นาที
สวน / สถานที่ผ่อนคลาย : 1 ชั่วโมง 17 นาที
โรงอาหาร : 1 ชั่วโมง
ร้านอาหารนอกสถาบันการศึกษา : 0.98 นาที
ร้านสะดวกซื้อ / ร้านค้า : 0.38 นาที
7. นักศึกษาไป “โรงอาหาร” 3 – 4 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อไปรับประทานอาหาร และนัดพบปะพูดคุยกับเพื่อน
เมื่อเจาะลึกสถานที่ที่นักศึกษาทุกคนต้องไปอย่าง “โรงอาหาร” พบว่าโดยเฉลี่ยนักศึกษา 1 คนใช้บริการโรงอาหาร 3 – 4 ครั้งต่อสัปดาห์ โดย 5 กิจกรรมที่นิยมทำในขณะที่อยู่โรงอาหาร มีดังนี้
-
รับประทานอาหาร (96%) ซึ่งกิจกรรมที่ทำไปด้วยระหว่างรับประทานอาหาร คือ ใช้ Social Media (72%), คุยกับเพื่อน (71%), มองดูบรรยากาศรอบๆ โรงอาหาร (43%), ฟังเพลง (29%), เล่นเกม (22%)
-
เป็นสถานที่นัดเพื่อน / พบปะพูดคุยกับเพื่อน (58%)
-
ไปเพื่อหาที่นั่งรอ เช่น ระหว่างรอเรียน หรือรอเพื่อน (50%)
-
ใช้โรงอาหารเป็นจุดรับอาหารที่สั่งทางแอปพลิเคชัน Food Delivery (21%)
-
อ่านหนังสือ / ทำรายงาน / ทำการบ้าน (14%)
8. U-Gen ไม่ปฏิเสธรับสื่อโฆษณา แต่เลือกรับสื่อที่ตัวเองสนใจ – ในสถานที่ที่ใช่ ในเวลาที่เหมาะสม
สื่อโฆษณาที่เข้าถึง “U-Gen” ถ้าแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ “สื่อออนไลน์” “สื่อออฟไลน์ และสื่อในมหาวิทยาลัย” “สื่อออฟไลน์ และสื่อนอกมหาวิทยาลัย” พบว่า
“สื่อออนไลน์” 3 อันดับแรกที่เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่ม U-Gen ได้มากสุดคือ Facebook (73 Points), YouTube (46 Points), Instagram (33 Points)
“สื่อออฟไลน์ และสื่อในมหาวิทยาลัย” 3 อันดับแรกที่เข้าถึงกลุ่ม U-Gen ได้มากสุดคือ สื่อโฆษณาในโรงอาหารทั่วไป (84 Points), สื่อโฆษณาในโรงอาหารตามทางเดิน – ทางเข้า (37 Points), ออกบู้ธในมหาวิทยาลัย และมีสินค้าตัวอย่างแจกฟรี หรือให้ส่วนลด (27 Points)
“สื่อออฟไลน์ และสื่อนอกมหาวิทยาลัย” 3 อันดับแรก คือ สื่อโฆษณาทีวี (50 Points), บิลบอร์ด (23 Points), สื่อสิ่งพิมพ์ (18 Points)
จากผลวิจัยดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่ม U-Gen ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องเป็นสื่อที่อยู่ในการใช้ชีวิตของผู้บริโภคกลุ่มนี้ นั่นคือ สื่อในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะ “สื่อในโรงอาหาร” เพราะตามที่กล่าวข้างต้น 100% ของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มาเรียน ต้องไปใช้บริการโรงอาหาร และสื่ออีกประเภท คือ สื่อ Social Media เนื่องจากคนรุ่นใหม่ consume คอนเทนต์ดิจิทัลเป็นจำนวนมาก และอัพเดทตัวเองตลอดเวลา
9. โฆษณาที่จะดึงความสนใจ “U-Gen” ต้องตรงไปตรงมา – กระชับ
เนื่องจาก “U-Gen” เป็นผู้บริโภคที่มีศักยภาพสูง จึงเป็นกลุ่มที่แบรนด์ต้องการปักธงเป็นแบรนด์ในดวงใจ มาดูกันว่าแล้วโฆษณาลักษณะแบบไหนที่จะดึงความสนใจผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่คอนเทนต์มากมายรายล้อมอยู่รอบตัวผู้บริโภค
-
70% โฆษณาที่ตรงไปตรงมา เช่น ถ้าจะขายของ ก็ขายของกันตรงๆ
-
66% โฆษณาที่กระชับ
-
57% โฆษณาที่เปิดให้ audience มีสิทธิ์เลือกรับโฆษณาได้เอง
-
50% โฆษณาที่ใช้ผู้เชี่ยวชาญเป็นพรีเซนเตอร์ ดูน่าเชื่อถือว่าโฆษณาที่ใช้ดารานักแสดง หรือ Celebrity เป็นพรีเซนเตอร์
-
47% โฆษณาที่มีการนำเสนอทันสมัย
-
45% โฆษณาที่มีสินค้าตัวอย่างแจกฟรีให้ทดลองใช้
-
42% โฆษณาที่มาจาก True Story
-
41% โฆษณาที่การนำเสนอมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
-
41% โฆษณาที่ใช้ดารานักแสดงเป็นพรีเซนเตอร์
-
39% โฆษณาที่ให้ส่วนลดราคาสินค้า
-
39% โฆษณาที่มีพรีเซนเตอร์เป็นบุคคลมีชื่อเสียง
10. “อาหาร-เครื่องดื่ม” ลงสื่อโฆษณานอกบ้าน ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของ U-Gen มากสุด
เมื่อเจาะลึกกลุ่มสินค้าที่ลง “สื่อโฆษณานอกบ้าน” และมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ และเกิดการแชร์ต่อ หรือบอกต่อในกลุ่มคน U-Gen มากที่สุด คือ
-
อาหาร และเครื่องดื่ม
-
ที่พักอาศัย
-
บริการโทรศัพท์มือถือ
-
ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่ง
-
สินค้าเทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟน
11. Top 5 Brands ที่นักศึกษาไทยใช้มากสุด ใน 8 กลุ่มสินค้า
สมาร์ทโฟน : iPhone
เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ : AIS
บริการสั่งอาหารออนไลน์ : Grab Food
อีคอมเมิร์ซ : Shopee
บริการทางการเงินดิจิทัล : K PLUS
กระเป๋าเงินดิจิทัล : True Wallet
ยานยนต์ : Honda
สายการบินในประเทศ : Air Asia
12. Top 5 Brands เครื่องดื่มที่นักศึกษาไทย ซื้อดื่มมากที่สุดใน 8 เซ็กเมนต์
น้ำดื่ม : คริสตัล
เครื่องดื่มอัดลม : เป๊ปซี่
นมพร้อมดื่ม : ดัชมิลล์
ชาพร้อมดื่ม : อิชิตัน
กาแฟ : คาเฟ่ อเมซอน
น้ำแร่ : เพียวร่า
น้ำผลไม้ : ทิปโก้
นมถั่วเหลือง – นมธัญพืช : แลตตาซอย
แบรนด์ จะเข้าถึง “U-Gen” ได้ดี ต้องใช้กลยุทธ์สื่อแบบ “Cross-channel”
ด้วยความที่ปัจจุบันมีสื่อมากมาย ในขณะที่วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ใช้เวลาอยู่กับทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเรียน การนัดพบปะเพื่อน ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่ม U-Gen แบรนด์ควรวางแผนการใช้สื่อแบบ “Cross-channel” คือ ทั้งออนไลน์ – ออฟไลน์ในสถานที่ๆ ผู้บริโภคกลุ่มนี้ใช้ชีวิต
ซึ่งผลการวิจัยพบว่า แบรนด์ที่ผสานการใช้สื่อระหว่างออนไลน์ – สื่อในโรงอาหาร สามารถเพิ่ม Ad Awareness 66% ขณะเดียวกันช่วยเพิ่ม Ad Recall 63%
นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อแบรนด์ 32% และกระตุ้นให้เกิดการบอกต่อไปยังคนรอบตัว 11%