อยากจะโพสต์เรื่องการเมืองใจจะขาดแต่ลังเลว่าเพื่อนๆ จะไม่เห็นด้วยใช่ไหมล่ะ? ความกังวลเกี่ยวกับการแสดงความรู้สึกหรือความเห็นผ่านทางโซเชียลเนกเวิร์กในโลกสมัยใหม่นั้นเป็นความเครียดและความทุกข์ใจที่น้อยคนนักจะตระหนักถึง เนื่องจากโซเชียลมีเดียเป็นของใหม่และผู้ใช้ก็ยังไม่สามารถนิยามได้ว่ามันเป็นโลก “ส่วนตัว” หรือ “สาธารณะ” กันแน่ ดังนั้น หลายครั้งผู้ใช้จึงไม่กล้าโพสต์สเตตัสที่จริงใจและเป็นตัวเองออกมา
การศึกษาใหม่จาก Pew Research Center จากมหาวิทยาลัย Rutgers University ของสหรัฐฯ เผยว่า โซเชียลมีเดียไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งในวงกว้างและหลากหลาย หากแต่อันที่จริงแล้ว มันทำให้คนที่เห็นด้วยกับกระแสหลักเสียงดังขึ้นต่างหาก ส่วนพวกนอกกระแสก็ยิ่งต้องเงียบเสียงเข้าไปใหญ่
ผู้ทดลองสำรวจความเห็นของผู้ใหญ่ชาวมะกันกว่า 1.8 พันคนเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง Edward Snowden อดีตพนักงานในหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ที่ปูดข่าวรั่วของรัฐบาลมะกัน โดยสอบถามว่าพวกเขามีอาการลังเลหรือไม่เมื่อต้องวิจารณ์เรื่องนี้ ผลลัพธ์คือกว่า 86% บอกว่าพวกเขาอยากพูดเรื่องนี้ในโลกออฟไลน์ ขณะที่มีเพียง 42% ระบุว่าพวกเขากล้าโพสต์เรื่องนี้ออนไลน์
Keith Hampton สรุปว่า แม้จะเป็นโลกออนไลน์แต่ spiral of silence (ขดก้นหอยแห่งความเงียบ ซึ่งเป็นทฤษฏีที่เชื่อว่าคนที่มีความเห็นเป็นกระแสรองหรือขัดแย้งกับกระแสหลักจะไม่กล้าพูดโต้แย้งกับคนกลุ่มหลักเท่าไหร่นัก)
“หากผู้ใช้ไม่คิดว่าเพื่อนๆ จะเห็นด้วยกับความคิดของพวกเขา เขาก็จะไม่โพสต์เรื่องนี้ในออนไลน์ตั้งแต่ต้น” Hampton กล่าว ขณะที่ Lee Rainie นักวิจัยจากสถาบันวิทยศาสตร์และเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตระบุว่า ผู้ใช้อินเตอร์เนตอาจจะยิ่งระแวงเกี่ยวกับความเห็นที่หลากหลายมากกว่าในโลกออฟไลน์เสียอีก
“นั้นเป็นเพราะว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่เคยเห็นความเห็นหลากหลายและความเกรียวกราดของผู้ใช้คนอื่นก่อนหน้านี้มาแล้ว ดังนั้น เมื่อถึงคราวตัวเองจะแสดงความเห็นก็กลัวว่าจะเกิดการโต้แย้ง การตอบโต้ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียเพื่อนกันได้” Rainie ระบุปิดท้าย