ถึงแม้ว่าเราจะเข้าสู่ยุคแห่งความเสมอภาคที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันและไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น แต่ดูเหมือนว่าในเรื่องทัศนคติ และมุมมองทางความคิดที่มีต่อผู้หญิงที่ว่า “ผู้หญิงสวยมักไม่เก่ง ผู้หญิงเก่งมักไม่สวย” ยังคงมีอยู่ และดูเหมือนว่าเปลี่ยนแปลงกันได้ยาก ทั้งที่ปัจจุบันผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือ และพัฒนาสังคม รวมถึงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศกันมากขึ้น
จากผลสำรวจความคิดเห็นของคนไทยจำนวน 500 คน ทั่วประเทศ อายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป พบว่า
• คนไทยมากกว่าครึ่งประเทศ 50.4% ไม่เชื่อว่าผู้หญิงจะสามารถเป็นได้ทั้งคนสวยและคนเก่งในเวลาเดียวกัน
• เมื่อสอบถามทัศนคติเชิงลึกของชายไทย ที่มีต่อผู้หญิงในเรื่องความสวยและเก่ง พบว่า หลังจากพบเห็นผู้หญิงสวยในครั้งแรก กว่า 45% ยอมรับว่า ความคิดแรกที่เกิดขึ้น คือ ผู้หญิงคนนั้นน่าจะทำงานที่ใช้รูปร่างหน้าตามากกว่างานที่ท้าทายความสามารถ
• นอกจากนี้ 50% ของผู้ชายยังยอมรับอีกว่า ไม่คาดหวังว่าผู้หญิงที่ทำงานในสายอาชีพที่ท้าทาย เช่น วิศวกร แพทย์ หรือนักบิน ฯลฯ จะมีหน้าตาสวย เพราะคิดว่าผู้หญิงเก่งเหล่านั้น น่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องการประสบความสำเร็จในสายอาชีพมากกว่าการดูแลรูปร่างและหน้าตาตนเอง
แต่ในความเป็นจริง ประเทศไทยมีจำนวนซีอีโอหญิงสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก คิดเป็นอัตราส่วน 45% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 2.3 เท่า เนื่องจากผู้หญิงไทยมีความละเอียดรอบคอบ อดทน อีกทั้งยังสามารถทำงานภายใต้สถานการณ์กดดันต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
นอกเหนือจากบทบาทอันโดดเด่นในสายอาชีพแล้ว ผู้หญิงไทยยังก้าวเข้ามารับอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของการเป็นหัวหน้าครอบครัวกันมากขึ้น สูงถึง 36% แสดงให้เห็นว่าผหญิงไทยไม่ได้แค่เพียบพร้อมไปด้วยบุคลิกภาพและรูปลักษณ์ แต่ยังมีความพร้อมในศักยภาพการทำงานที่สามารถรับผิดชอบในงานท้าทายและหลากหลาย รวมถึงหน้าที่ต่อสังคมได้เป็นอย่างดี
จะเห็นได้ว่าผู้หญิงไทยทุกวันนี้สามารถจัดการกับบทบาทที่หลากหลายได้เป็นอย่างดี เมื่อถามผู้หญิงด้วยกัน 62% เชื่อมั่นว่าตนเองมีทั้งความสวยและความเก่งในเวลาเดียวกัน แต่ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่ไม่มั่นใจ และคิดว่าต้องเลือกเพียงหนึ่งบทบาท เช่น ระหว่างการดูแลครอบครัวกับความก้าวหน้าทางสายอาชีพ หรือ ระหว่างการเป็นคนสวยหรือการเป็นคนเก่ง
คุณคิดว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้หญิงไทยครบ 100% จะเชื่อมั่นในศักษภาพของตนเองว่าเธอเป็นได้หมด ทั้งคนสวยและคนเก่งในเวลาเดียวกัน
*ผลสำรวจดังกล่าว ถูกจัดทำขึ้นในกลุ่มประชากรไทยทั่วประเทศจำนวน 500 คน โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเพศชายและเพศหญิงอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป โดย พีแอนด์จี บริษัทกลุ่มสินค้าอุปโภคระดับโลกที่เน้นย้ำความสำคัญกับผู้หญิงในทุกด้าน