เรียกว่าเป็นเทรนด์ที่ต่อยอดจากกระแส Pet Humanization กระแสคนเลี้ยงสัตว์เหมือนลูกก็ว่าได้ล่าสุดเกิดเทรนด์ใหม่อย่าง Pet Tourism ขึ้นหรือเทรนด์ของการพาสัตว์เลี้ยงออกไปท่องเที่ยวเพื่อทำกิจกรรม ใช้เวลาและสร้างประสบการณ์พิเศษร่วมกันมากขึ้น
ล่าสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ได้ประเมิน 4 ธุรกิจน่าสนใจที่มีโอกาสเติบโตรับเทรนด์ Pet Tourism ที่กำลังมาสำหรับคนที่สนใจจะเริ่มทำธุรกิจรวมไปถึงคนที่ทำธุรกิจเหล่านี้อยู่แล้วให้มองเห็นโอกาสการเติบโตจากเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้น
1. ธุรกิจโรงแรมและที่พัก
มีโอกาสจะได้รับรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าเข้าพักสำหรับสัตว์เลี้ยง อีกทั้ง คาดว่าจะช่วยส่งเสริมให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยของทั้งโรงแรมเพิ่มขึ้นตามไปด้วยจากการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่อย่างผู้มีสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ธุรกิจโรงแรมจะต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมให้แก่สัตว์เลี้ยงที่เข้าพักด้วย
2.ธุรกิจร้านอาหาร
ตอบโจทย์กลุ่มผู้นิยมพาสัตว์เลี้ยงไปรับประทานอาหารมากขึ้น อีกทั้ง ยังสามารถเพิ่มรายได้จากการขายเมนูอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นพิเศษ ทั้งในรูปแบบอาหารคาว อาหารหวาน และเครื่องดื่ม
3. ธุรกิจขนส่งและการบิน
จากการที่ผู้มีสัตว์เลี้ยงเริ่มพาสัตว์เลี้ยงเดินทางไปท่องเที่ยวด้วยมากขึ้นในเส้นทางในประเทศและต่อเนื่องไปยังเส้นทางระหว่างประเทศ อีกทั้ง ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยพร้อมสัตว์เลี้ยงด้วย ทำให้สายการบินสามารถเพิ่มรายได้จาการเรียกเก็บค่าบริการพิเศษในส่วนนี้ได้เช่นกัน
4. ธุรกิจ Pet healthcare & Wellness
ด้วยการให้บริการในหลายด้าน เช่น การบริการ Pet care และ Pet grooming เพื่อเตรียมความพร้อมให้สัตว์ก่อนออกไปเที่ยว การตรวจสุขภาพและออกใบรับรองสุขภาพพร้อมฝังไมโครชิพเพื่อใช้ในการเดินทาง และการให้บริการด้านเวลเนสแก่สัตว์เลี้ยง อย่างเช่น การทำสปา การฉีดวัคซีน และการพาไปออกกำลังกายหรือว่ายน้ำ
การเติบโตของ Pet Tourism นั้นนอกจากกระแส Pet Humanization แล้วยังเป็นผลจากำจนวนสัตว์เลี้ยงและธุรกิจที่ตอบรับเทรนด์ Pet Tourism ที่เพิ่มมากขึ้นรวมไปถึงการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังเช่นแคมเปญ Amazing Happy Paws ในช่วงที่ผ่านมา
ในขณะที่ความท้าทายของภาคธุรกิจในการรองรับ Pet tourism คือการสร้างสมดุลในการให้บริการระหว่างกลุ่มลูกค้ารักสัตว์และกลุ่มที่ไม่คุ้นเคยกับสัตว์/เป็นภูมิแพ้สัตว์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินธุรกิจจะต้องพึ่งพาลูกค้าทั้งกลุ่มรักสัตว์และกลุ่มที่ไม่คุ้นเคยกับสัตว์/เป็นภูมิแพ้สัตว์ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจต้องแบ่งแยกพื้นที่ให้บริการของแต่ละกลุ่มให้ชัดเจน และกำหนดมาตรฐานความสะอาดในการให้บริการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจแก่ลูกค้าทั้ง 2 กลุ่ม
และอีกเรื่องท้าทายคือ ต้นทุนธุรกิจ ที่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการรองรับกลุ่ม Pet tourist ที่จะต้องบริหารจัดการในรูปแบบของต้นทุนในการทำความสะอาด บุคลากรที่มารองรับการให้บริการ การบำรุงรักษา และอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วย
ที่มา SCBEIC