ผลสำรวจชี้ 1 ใน 4 ของแอพฯ ที่โหลดมานั้น เราแทบไม่ได้ใช้งานเลย

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ThinkstockPhotos-170081590-higlight

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อัตราการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนั้นเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่จะนำไปใช้จริง หรือโหลดเก็บไว้เฉยๆ ไม่เคยได้ใช้งานเลย เราเองก็ไม่ทราบ Google และ Ipsos MediaCT จึงได้ทำการสำรวจความเห็นในหัวข้อ การค้นหา และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคที่มีต่อการใช้แอพพลิเคชั่น และสิ่งที่แบรนด์ควรทำเพื่อตอบสนองผู้ใช้งาน

ในเวลาเช้าก่อนจะเริ่มทำงาน เชื่อว่าหลายๆ คนคงเพลิดเพลินไปกับกาแฟ และแอพฯ ที่อยู่ในมือถือ เพื่อให้การเริ่มต้นวันนั้นๆ เป็นไปอย่างที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นแอพฯ ที่เกี่ยวกับการประชุม งานเอกสาร การจัดการรายรับ-รายจ่าย หรือแม้แต่โปรแกรมออกกำลังกาย ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดๆ แอพฯ ก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันคุณไปเรียบร้อยแล้ว เชื่อหรือไม่ว่าคนส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับแอพฯ ถึง 30 ชั่วโมงต่อเดือน (สำรวจโดย Nielsen)

หากถามว่าบทบาทสำคัญของแอพฯ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีอะไรบ้าง โดยรวมแล้วก็แบ่งได้ 4 ประเภท คือ ตอบสนองความอยากรู้ ตอบสนองสิ่งที่ต้องการทำ ตอบสนองที่ที่ต้องการไป และตอบสนองการซื้อสินค้าในขณะนั้น

นอกจากนี้ แอพฯ ยังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับแบรนด์ที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า และเป็นกลยุทธ์การตลาดที่เติมเต็มประสบการณ์การใช้งานได้อีกด้วย เช่น ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ต้องการเชื่อมต่อกับลูกค้าตลอดเวลา เว็บไซต์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟน จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริโภค และนักการตลาดมองข้ามไม่ได้

ดังนั้น Google และ Ipsos MediaCT จึงได้ทำการสำรวจ ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนกว่า 8,470 คน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อค้นหาว่า ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการดาว์นโหลดแอพฯ และมีการใช้งานมากน้อยแค่ไหน พบว่า 1 ใน 4 ของแอพฯ ที่โหลดมานั้น ไม่เคยได้ใช้งานเลย ซึ่งผลสำรวจนี้จะเจาะลึก และเผยข้อมูลที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้พัฒนาแอพฯ หรือแบรนด์ต่างๆ นำข้อมูลไปปรับใช้ได้ โดยแบ่งเป็น 2 หัวข้อ ดังนี้

1. ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องค้นหาแอพฯ ผ่าน App Store

นักการตลาดส่วนใหญ่มักจะคิดว่า เมื่อผู้ใช้งานต้องการดาวน์โหลดแอพฯ ก็จะเข้าไปที่ App Store แล้วเลือกแอพฯ ที่ต้องการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีผู้ใช้งานเพียง 40% เท่านั้น ที่เข้า App Store โดยตรง ทั้งนี้ วิธีที่พวกเขาจะค้นหาแอพฯ ใหม่ๆ คือ การศึกษาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น YouTube รีวิวต่างๆ หรือแม้แต่การท่องเว็บไซต์บนมือถือ

จากการสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ของผู้ใช้งาน จะค้นหาแอพฯ ผ่านเครื่องมือค้นหา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณกำลังวางแผนการท่องเที่ยวในวันหยุดยาว และมองหาที่พัก สิ่งแรกที่จะทำคือเข้า Google แล้วค้นหาคำว่า “โรงแรมในหัวหิน” ซึ่งคุณจะได้ข้อมูลมากมาย ทั้งเรื่องที่พัก รายชื่อโรงแรม รวมถึงแอพฯ สำหรับจองห้องพัก ที่มาพร้อมกับส่วนลดพิเศษ หรือถ้าคุณเป็นคนที่เดินทางบ่อย คุณก็จะดาวน์โหลดแอพฯ นั้นๆ ไว้ทันที

2. กุญแจสำคัญคือ ต้องมีประโยชน์

หากลองสังเกตุดูจะพบว่า คนส่วนใหญ่นิยมโหลดแอพฯ ที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของตัวเอง หรือไม่ก็เป็นแอพฯ ที่ให้บริการต่างๆ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า 2 ใน 3 แอพฯ ที่อยู่มือถือนั้น เป็นแอพฯ ที่ช่วยลดความวุ่นวาย และจัดการชีวิตของเราได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แอพฯ ช้อปปิ้ง ลดราคา คูปอง ออกกำลังกาย เป็นต้น

ในความเป็นจริงแล้ว 1 ใน 2 ของผู้ใช้แอพฯ จะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตก่อนซื้อสินค้าจริง และ 38% ของผู้ตอบแบบสำรวจ กล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มจะดาวน์โหลดแอพฯ เมื่อต้องการซื้อสินค้าจริงๆ เท่านั้น และเมื่อเสร็จสิ้นการซื้อ ครึ่งหนึ่งจะลบแอพฯ ออกทันที

ดังนั้น เพื่อป้องกันการลบแอพฯ แบรนด์หรือผู้พัฒนาแอพฯ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าแอพฯ มีคุณค่า และมีประโชยน์ต่อผู้ใช้งานจริงๆ

 

แหล่งที่มา


  •  
  •  
  •  
  •  
  •