ภาพรวมอุตสาหกรรมนมในไทย มูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท อยู่ในภาวะ “ทรงตัว” ไม่ได้มีการเติบโตที่หวือหวา หรือก้าวกระโดด และในบางปีอยู่ในสถานการณ์ติดลบ
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งมาจาก อัตราการบริโภคนมของคนไทย อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก !! และทุกวันนี้ตลาดเครื่องดื่มในไทย อยู่ในสเต็ป “Fragment” นั่นคือ มีประเภทเครื่องดื่มซอยยิบย่อยเป็นจำนวนมาก
สิ่งที่ตามมาคือ เกิดการแชร์พื้นที่กระเพาะ โดยเครื่องดื่มที่ได้การตอบรับจากผู้บริโภคไทย ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มที่ตอบโจทย์ “Refreshing” เพราะด้วยความที่ไทยเป็นเมืองร้อน และคนใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านมากขึ้น จึงต้องการเครื่องดื่มช่วยดับกระหาย
ในขณะที่ “นม” สำหรับคนไทยมองว่า เป็น “Meal” ดื่มเพื่อรองท้อง และดื่มเพื่ออิ่มท้อง นี่จึงทำให้ความถี่ในการดื่มนมต่อวัน ถูกจำกัดเฉพาะช่วงเวลาเท่านั้น
สำรวจปริมาณการดื่มนมของประชากรในแต่ละทวีปทั่วโลก
อัตราเฉลี่ยการบริโภคนมของประชากรทั่วโลกอยู่ในระดับ 113 ลิตร/คน/ปี เมื่อเจาะในแต่ละทวีปพบว่า
-
ยุโรป 274 ลิตร/คน/ปี
-
อเมริกาเหนือ 237 ลิตร/คน/ปี
-
อเมริกาใต้ 124 ลิตร/คน/ปี
ขณะที่ทวีปเอเชียมีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 66 ลิตร/คน/ปี
-
สิงคโปร์ 62 ลิตร/คน/ปี
-
ญี่ปุ่น 90 ลิตร/คน/ปี
-
จีน 38 ลิตร/คน/ปี
ประเทศไทย อยู่ในอัตราเฉลี่ยต่ำสุด คือ 18 ลิตร/คน/ปี หรือเพียง 2 แก้วต่อสัปดาห์ !!
“เด็ก – วัยรุ่น” ดื่มนมเยอะสุด – “ผู้สูงอายุ” ดื่มนมน้อยสุด
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ทำการสำรวจพฤติกรรมการดื่มนมโคพร้อมดื่มของคนไทยทั่วประเทศ ระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2562 จำนวน 1,753 ตัวอย่าง
จากผลสำรวจพบว่า สัดส่วนของการบริโภคแบ่งเป็น 3 พฤติกรรมหลัก คือ
-
ดื่มเป็นประจำ 44.10%
-
ดื่มบ้าง 42.04%
-
ไม่ดื่มนมเลย 13.86%
ประชากรกลุ่มใหญ่ที่ดื่มนม อยู่ใน “กลุ่มเด็ก” และ “วัยรุ่น” คือ คนอายุ 3 – 12 ปี (88.89%) และ คนอายุ 13 – 20 ปี (44.17%)
ส่วนประชากรที่ดื่มนมน้อยสุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุ มากกว่า 60 ปีขึ้นไป (29.96%)
จากการสำรวจพฤติกรรมการดื่มนม พบว่า คนไทยดื่มนม 1 ครั้งต่อวัน เป็นกลุ่มใหญ่สุด (70.33%)
ตามมาด้วยดื่มนม 2 ครั้งต่อวัน (23.51%) และ 3 ครั้งต่อวัน (3.77%)
ขณะที่ “ช่วงเวลาการดื่ม” แน่นอนว่าคนไทยที่ดื่มนม ส่วนใหญ่ดื่มช่วงเช้ามากสุด ตามมาด้วยดื่มก่อนนอน และอีกพฤติกรรมที่น่าสนใจ คือ ไม่แน่นอน
“ได้รับสารอาหารจากแหล่งอื่น – ไม่ชอบดื่มนม” 2 เหตุผลที่คนไทยไม่ดื่มนม
จากกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจครั้งนี้ มี 13.86% บอกว่า “ไม่ดื่มเลย”
ปัจจัยที่ทำให้คนไทยไม่ดื่มนม หลักๆ มี 4 เหตุผลใหญ่ คือ
-
ได้รับสารอาหารจากแหล่งอื่น โดยกลุ่มผู้ที่ไม่บริโภคนมโค หันไปดื่มนมถั่วเหลือง 43% / เครื่องดื่มกาแฟ 22% และนมเปรี้ยว 14% ตามลำดับ
-
ไม่ชอบดื่มนม
-
ดื่มแล้วไม่สบายท้อง
-
คิดว่าไม่มีความจำเป็น
“มีนมติดบ้าน – ใช้พลังการตลาด – ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์” กระตุ้นคนไทยดื่มนม
ถึงแม้อัตราการดื่มนมของคนไทย จะอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก แต่สำหรับแบรนด์ผู้ผลิตนมอย่าเพิ่งหมดหวัง!! เพราะแบรนด์สามารถใช้พลังการตลาด และสร้างความรู้ความเข้าใจ ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ก็สามารถกระตุ้นให้คนไทยหันมาดื่มนมมากขึ้นได้เช่นกัน
จากกลุ่มตัวอย่าง บอกว่าปัจจัยที่จะทำให้ดื่มนมได้มากขึ้น คือ
-
30.61% มีนมไว้ติดบ้าน
-
24.57% มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย
-
23.71% สารอาหารในนมมีมากขึ้น
-
16.57% มีสินค้าใหม่ให้ลอง
นอกจากนี้แบรนด์ ควรสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับนม หรือ การดื่มนมให้กับผู้บริโภคได้รับรู้ ผ่านช่องทางต่างๆ เพราะทุกวันนี้ยังพบว่า ผู้บริโภคยังมีความสงสัยเกี่ยวกับนม หรือการดื่มนม
สำหรับข้อมูลที่แบรนด์จะสื่อสารไปยังผู้บริโภค เช่น
-
24.94% ควรเป็นโฆษณาไม่เกินจริง และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์
-
15.80% เพิ่มการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดให้มีความน่าสนใจ
-
8.79% ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง
-
8.79% ประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงมาตรฐานการผลิต
ตั้ง “เครือข่ายนมดีทุกวัย ดื่มได้ทุกวัน” รณรงค์คนไทยทุกวัยดื่มนมโค 1-2 แก้ว/วันเป็นประจำ
10 หน่วยงานหลักที่อยู่ในห่วงโซ่ของการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “นม” อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สสส – สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย สมาคมนิสิตเก่าสัตวแพทย์ศาสตร์ มก (มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์) สมาคมนิสิตเก่าอุตสาหกรรม เกษตร มก.พร้อมทั้ง นักโภชนาการ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.ฯลฯ ได้ร่วมกันเปิดตัว “เครือข่ายนมดีทุกวัย ดื่มได้ทุกวัน” ภายใต้แนวคิด “มิลค์ ฟอร์ ออล” – Milk for Alls
เพื่อผนึกพลังร่วมกันรณรงค์ผลักดันให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดื่มนมให้กับประชาชนได้ดื่มนมตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงอายุ นมมีคุณภาพดี เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถทดแทนการดื่มเครื่องดื่มอื่นที่ไม่มีประโยชน์ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน อาทิ เครื่องดื่มชา และน้ำอัดลม พร้อมทั้ง รณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดื่มนม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่หลีกเลี่ยงไม่ดื่มนม เพราะเชื่อว่านมทำให้อ้วนนั้น ความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นนมสด นมพร่องไขมัน หรือนมไม่มีไขมัน มีปริมาณไขมันเพียงแค่ 3.9%, 1.7% และ 0.3% ตามลำดับ หากผู้บริโภคไทยเข้าใจถึงข้อมูลดังกล่าว จะตัดความกังวล และหันมาดื่มนมเพื่อสุขภาพ