ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างมากกับทุกประเทศ โดยเฉพาะจีนที่ถูกตีตราว่าเป็นต้นกำเนิดการแพร่ระบาดครั้งนั้น ส่งผลให้จีนประกาศใช้ยาแรง Lockdown ประเทศทันที เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้จีนในฐานะต้นน้ำการผลิตและตลาดใหญ่ของโลกหยุดชะงักทันที โดยเฉพาะสินค้า Luxury ที่ก่อนหน้านี้ตลาดจีนถือเป็นตลาดใหญ่สุดของโลก เรียกว่าจีนทุ่มไม่อั้นกับสินค้ากลุ่มนี้
หลังจากที่จีนจัดการกับการแพร่ระบาดได้อย่างดี พร้อมๆ กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจจนกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ตลาดจีนก็เปิดอีกครั้งโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า Luxury ที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้น ประมาณการณ์อัตราการเติบโตของตลาดภายในประเทศจีนน่าจะเพิ่มขึ้น 48% เกือบ 346,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,582,149.89 บาท
นอกจากนี้ยังพบว่า ตลาดสินค้า Luxury ระดับโลกมีการเติบโตลดลง 23% ในปี 2563 อย่างไรก็ตามส่วนแบ่งทางการตลาดของจีนกลับโตเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 11% มาเป็น 20% ในปี 2563 และมีทีท่าว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าภายในปี 2568 ประเทศจีนจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ตลาด Luxury ในจีนเติบโต เนื่องจาก 4 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย
รายได้หมุนเวียนในประเทศ เป็นผลมาจากการใช้จ่ายภายในประเทศ รวมถึงการเอาจริงในการควบคุมตลาด Gray ที่เข้มงวดขึ้นและราคาสินค้าแบรนด์อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน อีกทั้งมาตรการจำกัดการเดินทางในช่วงวิกฤติโรคระบาด ทำให้ตลาด Luxury ภายในประเทศมีมากขึ้นถึง 70%-75% โดยมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันไปในแต่ละหมวดหมู่สินค้า
กลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z ถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักในตลาด Luxury โดยกลุ่มมิลเลนเนียลในประเทศจีน เป็นกลุ่มที่เกิดระหว่างปี 2523-2538 และกลุ่ม Gen Z ในจีนเป็นกลุ่มที่เกิดหลังปี 2538 ส่งผลให้แบรนด์ปรับตัวไปสู่ดิจิทัลมากขึ้นเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มดังกล่าว โดยเน้น “การตามหาแฟชั่นที่ใช่” สินค้าดีไซเนอร์จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะธุรกิจออนไลน์
การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ากลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z เน้นธุรกิจออนไลน์ ประกอบกับธุรกิจ e-Commerce ในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็น 23% ในปี 2563 อีกทั้งการระบาดของ COVID-19 ทำให้ยอดขายสินค้า Luxury บนออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 150% โดยเฉพาะในหมวดแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ที่เติบโตถึง 100% ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563
การเปิดพื้นที่สินค้าปลอดภาษี โดยเฉพาะในมณฑลไห่หนานที่มีโซนพื้นที่สินค้าปลอดภาษี ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นจากมาตรการจำกัดการท่องเที่ยวในช่วงวิกฤติโรคระบาดและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของจีน ส่งผลให้ยอดขายสินค้าปลอดภาษีในมณฑลไห่หนานสูงถึง 21,000 หยวนหรือประมาณ 95,630 บาท ในสิ้นเดือนตุลาคม 2563 โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 98% เมื่อเทียบกับปี 2562
โดยผู้เชี่ยวชาญจากจีนคาดว่า โลกน่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติก่อนปี 2565-2566 ขณะที่ผู้บริโภคจีนจะยังคงระมัดระวังการเดินทางท่องเที่ยว แม้พรมแดนต่างๆ จะเปิดให้เดินทางอีกครั้ง คาดว่าแบรนด์ Luxury จะกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่องอีกครั้งในปี 2564 ราว 30% ทั้งนี้หลากหลายแบรนด์เริ่มให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ด้านดิจิทัลเต็มรูปแบบมากขึ้น รวมไปถึงการเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัลที่สำคัญๆ
ไม่เพียงเท่านั้นแบรนด์ Luxury เริ่มยกระดับแบรนด์โดยเน้นคุณภาพและการให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการส่วนร่วมกับผู้บริโภค ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่แบรนด์ยังขาดในช่วงแรกที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล โดยแบรนด์ Luxury ต้องมอง e-Commerce เป็นช่องทางการทำการตลาดไม่ใช่ช่องทางการขาย ซึ่งจะช่วยสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภค สร้างคุณค่าและเพิ่มกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ
ผู้ประกอบการไทย Luxury จึงควรใช้ช่องทาง e-Commerce ของจีนในการสร้างแบรนด์ และเจาะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และคาดหวังกับคุณภาพและการให้บริการมากกว่าในเรื่องของราคา ซึ่งถือเป็นโอกาสใหม่ในการทำธุรกิจ Luxury และลดความเสี่ยงของตลาดในประเทศไทยจากสถานการณ์โรคระบาด