แม้จะจั่วหัวมาแบบนี้ แต่อันที่จริงแล้วคนไทยติดกินหวานมากเป็นอันดับต้นๆในเอเซีย ซึ่ง WHO หรือองค์การอนามัยโลก แนะนำให้บริโภคน้ำตาลในประมาณพอเหมาะที่ 6 ช้อนชาต่อวัน (25 กรัม) แต่คนไทยบริโภคน้ำตาลในอัตราสูงสุดที่ 20 ช้อนชาต่อวัน ปริมาณน้ำตาลเป็นเรื่องที่ค่อนข้างควบคุมยาก เพราะโดยมากจะแฝงอยู่ในอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะน้ำชง น้ำปั่น ชานมไข่มุก ชาบรรจุขวด หรือแม้แต่อาหารคาวที่เป็นแกงต่างๆนั้นก็มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบในปริมาณมาก
ส่วนความหวานจากอุตสาหกรรมอาหารระดับแมสนั้นจะใช้น้ำตาลชนิด Fructose รู้จักกันดีในชื่อทางการค้าว่า Corn Syrup (น้ำเชื่อมข้าวโพด) ผสมอยู่ในอาหารแทบทุกชนิด ทำให้อัตราผู้ป่วยโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยเฉพาะโรคเบาหวาน และโรคหัวใจ
ตั้งแต่ปี 2004-2016 อัตราการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับคำว่า low-fat หรืออาหารลดไขมันใน Google นั้นค่อยๆลงลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกันคนเริ่มค้นหาข้อมูลเกียวกับ low-sugar หรือการลดน้ำตาลกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วง 10 ปีมานี้มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ชัดว่า low-carb หรือ การลดแป้งมีผลดีต่อการลดความอ้วน และลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้อย่างมาก ผู้บริโภคควรจะตระหนักถึงการลดน้ำตาลมากกว่าเรื่องไขมันที่กังวลกันอยู่ (น้ำตาลที่เรากินเป็นน้ำตาลกลูโคส สามารถเปลี่ยนไปเป็นไขมันได้) เพราะแม้แต่อาหารหรือเครื่องดื่ม low-fat ก็ยังอัดแน่นด้วยปริมาณน้ำตาลที่สูงปรี๊ด ดังนั้นในความเป็นจริงเราหลีกเลี่ยงไขมันได้ง่ายกว่าหลีกเลี่ยงน้ำตาล และอย่าได้ไว้ใจคำว่า 0% fat เชียว
ความกังวลเรื่องน้ำตาลเป็นโจทย์ระดับแมสที่ผู้ผลิตอาหารมองข้ามไม่ได้ และเป็นโอกาสในการสร้างทางเลือกเพื่อตอบรับกับผู้บริโภคกลุ่มรักสุขภาพที่มีความพิถีพิถันในการเลือกมากขึ้น แต่การตัดรสหวานออกจากอุตสาหกรรมอาหารเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เราจึงได้รู้จักกับสารให้ความหวานแทนน้ำตาลหลายชนิด อาทิ ไซลิทอล, แซ็กตาริน, แอสปาแทม, นีโอแทม, อะเซซัลเฟม-เค และ ไซคลาเมต เป็นต้น ชื่ออาจจะไม่คุ้น แต่หากคุณลองพลิกฉลากอาหารที่เคลมว่า น้ำตาล 0%, หวานน้อย หรือสูตรลดน้ำตาล คุณจะเจอชื่อสารให้ความแทนน้ำตาลเหล่านี้สารเหล่านี้อนุญาติให้ใช้ได้ในยุโรปและอเมริกา รวมถึงในไทย โดยควบคุมอยู่ในปริมาณที่กำหนด รวมถึงมีการใช้หญ้าหวานมาทดแทนความหวานจากน้ำตาลแต่ยังไม่สามารถใช้ในอุตสาหกรรมใหญ่ได้เนื่องจากยังมีราคาแพงและไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการตลาด
หากจำแนกพฤติกรรมกินหวานของผู้บริโภคออกมา จะมีทั้งผู้บริโภคที่ชอบกินหวานแต่ต้องการจะลดน้ำตาล, ไม่กินหวานหลีกเลี่ยงน้ำตาลและสารให้ความหวานทุกชนิด หรือชอบกินหวานน้อย ฯลฯ ความชอบที่หลากหลายทำให้เราเห็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ custommize ความหวานออกมาอย่างหลากหลายเพื่อครอบคลุมความต้องการผู้บริโภค ทั้ง No Sugar Added, 0% Sugar, Unsweetned ซึ่งคำว่าไม่เติมน้ำตาล ไม่มีน้ำตาล กับไม่หวาน มีความแตกต่างกันนะคะ ช็อกโกแล็ตที่เคลมว่า น้ำตาล o% อาจจะมีรสหวานจัดก็เป็นไปได้ ซึ่งเป็นรสชาติที่ได้จากสารให้ความหวานนั่นเอง
เราจะเห็นผลิตภัณฑ์ที่ customize (ปรับแต่ง) ความหวานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในเชลฟ์สินค้า เพราะการเคลมว่า ลดน้ำตาล ไม่เติมน้ำตาล หรือ น้ำตาล 0% นั้นเป็นจุดขายหลักที่สามารถตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพที่กำลังมาแรงในหมู่ผู้บริโภคทั่วโลก ที่กำลังมองหา low-carb food หรือ อาหารที่ไม่เติมน้ำตาล แม้อาจไม่ใช่กลุ่มคนรักสุขภาพจ๋า แต่หากมีทางเลือกที่หลากหลายขึ้น ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มที่เข้าข่ายย่อมหยุดพิจารณา (บางคนอาจจะไม่ได้กังวลเรื่องความเสี่ยงจากน้ำตาล แต่แค่ไม่ชอบกินหวาน) อีกทั้งร้านเครื่องดื่มหลายแบรนด์นั้นก็มีการแบ่งเลเวลความหวานไว้ชัดเจน ผู้บริโภคสามารถเลือกระดับความหวานได้ตามต้องการ เป็นบริการเสริมที่ออกแบบมาเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
หากคุณเดินซูเปอร์มาร์เก็ตในแถบยุโรปหรืออเมริกา เป็นเรื่องปกติที่จะเห็นผลิตภัณฑ์อาหารที่จำแนกปริมาณน้ำตาลแยกย่อยไว้หลายตัวเลือก ซึ่งเป็นฟู้ดเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกการให้ความสำคัญกับความหวานและปริมาณน้ำตาลในอาหาร เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม ซึ่งนับเป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการบริการที่สามารถดึงดูดลูกค้าได้ด้วยตัวเลือกที่หลากหลายครอบคลุมกับความต้องการมากขึ้น
แหล่งอ้างอิง: Forbes
แหล่งอ้างอิง: Coursera
แหล่งอ้างอิง: Food network solution
Copyright © MarketingOops.com