ถ้าพูดถึง Tinder หลายคนก็คงนึกถึงแอปพลิเคชั่นเพื่อการหาคู่ นัดเดท หรือแม้แต่หาเพื่อนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน ซึ่งทำให้เรามีมุมมองต่อผู้ใช้งานแอปฯ ดังกล่าวเป็นในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งอันที่จริงแล้วอาจจะไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับความเป็นจริง และที่สำคัญอาจจะส่งผลต่อการทำแคมเปญทางการตลาดซึ่งอาจจะผิดพลาดไม่ตรงเป้าได้ ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจถึงพฤตกรรมผู้ใช้งาน Tinder อย่างถ่องแท้ รวมถึงพฤติกรรมการสเปนเงิน การเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ก็จะทำให้เราสามารถวางแผนการตลาด วางแผนในการสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ลองมาดูกันว่าหนุ่มๆ สาวๆ #นักปัด มีพฤติกรรมและความสนใจอะไรบ้าง
Dating Apps ความนิยมเพิ่มช่วงโรคระบาด
ด้วยเทคโนโลยีที่เติบโตมากขึ้นและช่วยอำนวยความสะดวกให้เราแทบทุกอย่าง แม้แต่การหาคู่ หาเพื่อน ก็ยังสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบโจทย์ได้ ทั้งนี้ ความนิยมในการใช้ Dating Apps มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ของโรคระบาด
- ความนิยมในการใช้งาน Dating Apps เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2019 และ ปี 2020 โดยคนรุ่นใหม่ยังคงเป็นผู้ใช้งานหลัก
- การเติบโตของจำนวนผู้ใช้งาน Dating App เทียบระหว่างไตรมาสที่ 4 ปี 2019 และ ปี 2020 เติบโตเพิ่มขึ้น 19%
- 66% ของผู้ใช้งาน Dating App คือกลุ่มคนอายุ 16-34 ปี
(ข้อมูลจาก GlobalWebIndex)
ผู้ใช้งาน Dating Apps เพื่อพบปะผู้คน – มองหาความสัมพันธ์ระยะยาว
ความน่าสนใจอีกอย่างคือ คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าการเข้ามา ใช้งาน Dating Apps นั้น อาจไม่ใช่เป็นเพื่อการหาคู่ หรือไปถึงขั้น one night stand แบบที่หลายๆ คนอาจจะเข้าใจแบบนั้น เพราะด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องโรคระบาดที่ทำให้โอกาสพบปะผู้คนแบบเจอหน้านั้นทำได้ยากขึ้น ดังนั้น ผู้คนจึงเลือก Dating Apps เป็นช่องทางใหม่ ในการพบเจอผู้คนเพื่อโอกาสในการพัฒนาความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ในระยะยาว
- 38% ของผู้ใช้งาน Dating App ในไทย บอกว่าใช้งานก็เพื่อพบปะผู้คนใหม่ๆ
- 27% ของผู้ใชงาน Dating App ในไทย บอกว่าใช้งานก็เพื่อมองหาโอกาสในการพัฒนาความสัมพันธ์ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบคนรัก หรือรูปแบบอื่นๆ
- ราว ½ ของผู้ใช้งาน Dating App ที่มีอายุระหว่าง 16-34 ปีให้เหตุผลว่าพวกเขาเลือกใช้ Dating App ด้วย เพราะไม่มีเวลาจะพบเจอผู้คนใหม่ๆ เพราะสถานการณ์ในสังคมปัจจุบัน เช่นโรคระบาด Covid-19
- ราว ⅓ ของผู้ใช้งาน Dating App ที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การใช้ Dating App คือการเปิดประตูโอกาสในการพบเจอคนที่มีเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกันที่เขาอาจไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน
(ข้อมูลจาก Statista, 2020)
Tinder ไทย มีความสนใจด้านสังคม-วัฒนธรรม พิเศษกว่าชาวเน็ตทั่วไป
สำหรับประเทศไทย Dating App ที่มาแรงที่สุด ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้แก่ Tinder (ที่มา: App Annie) ทั้งนี้ ในเชิงการตลาด ผู้ใช้งาน Tinder มีลักษณะและทัศนคติที่น่าสนใจต่อนักการตลาดหลายประการ ดังนี้
- การใช้งานแอพเพื่อพบผู้คนใหม่ๆ ทำให้คนรุ่นใหม่ที่ใช้ Tinder มีแนวโน้มจะเป็นประชากรดิจิทัลที่มีลักษณะเป็น กลุ่ม Cultural Sensitivity สูง คือ เป็นคนที่สนใจวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย สนใจเรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้าน และต้องการค้นหาสิ่งที่น่าสนใจในโลกนี้ มีทัศนคติที่เปิดกว้างและเปิดรับอย่างน่าสนใจ
- ผู้ใช้งาน Tinder ในไทย มีแนวโน้มจะสนใจเรียนรู้และศึกษาเรื่องราวของวัฒนธรรมของชาติอื่นมากกว่าประชากรอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 53%
- ผู้ใช้งาน Tinder ในไทยมีแนวโน้มอยากจะออกไปเจอโลกเพื่อค้นหาสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าประชากรอินเตอร์เน็ตโดยทั่วไปถึง 38%
(ข้อมูลจาก GlobalWebIndex, 2020)
Tinder ไทย เปิดรับสื่อใหม่ ของใหม่ ง่ายกว่าชาวเน็ตทั่วไป
ผู้ใช้งาน Tinder ในไทย ยังมีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มคนที่เปิดรับและคุ้นเคยในการเสพสื่อใหม่ๆ ที่น่าสนใจ
- ผู้ใช้งาน Tinder ในไทย มีแนวโน้มจะฟังเพลงผ่านบริการ Music Streaming มากกว่าประชากรอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 34%
- ผู้ใช้งาน Tinder ในไทย มีแนวโน้มจะฟัง Podcast มากกว่าประชากรอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 53%
- ด้านพฤติกรรมการทผู้ใช้งาน Tinder มีแนวโน้มจะเป็นคนที่เปิดรับ กล้าตัดสินใจ กล้าทดลอง และอยากเป็นคนแรกๆที่ได้ลองสิ่งใหม่ๆ
- ผู้ใช้งาน Tinder ในไทย มีแนวโน้มอยากซื้อหาเพื่อทดลองของใหม่ๆ มากกว่าประชากรอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 56%
- ผู้ใช้งาน Tinder ในไทยเห็นด้วยว่าตัวเองเป็นคนที่กล้าเสี่ยงทำอะไรใหม่ๆ มากกว่าประชากรอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 72%
(ข้อมูลจาก GlobalWebIndex, 2020)
Tinder ไทย กระเป๋าหนาพร้อมจ่ายโดยไม่สนราคา
อีกสิ่งที่เรียกได้ว่าอาจจะทำให้แบรนด์ตาโตได้ เกี่ยวกับความเป็น ผู้ใช้งาน Tinder เพราะผลสำรวจชี้ว่า จัดเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่ดีเป็นคนกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความรู้สึกที่ได้รับจากแบรนด์มากกว่าตัวสินค้า โดยไม่เกี่ยงเรื่องราคา เพราะถ้าชอบก็จะซื้อเลยทันทีแบบไม่รอ
- ผู้ใช้งาน Tinder ในไทย มีแนวโน้มถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีระดับรายได้สูง* (ระดับรายได้สูงตามการจัดของ GlobalWebIndex คือ มีระดับรายได้ต่อครัวเรือนต่อปีมากกว่าหรือเท่ากับ 600,001 บาทขึ้นไป*)
- ผู้ใช้งาน Tinder ในไทย แนวโน้มเป็นกลุ่มคนที่จ่ายเงินเพื่อซื้อประสบการณ์มากกว่าประชากรอินเตอร์เน็ตโดยทั่วไปถึง 15%
- ผู้ใช้งาน Tinder ในไทย มีแนวโน้มเป็นกลุ่มคนที่ยอมจ่ายเพื่อซื้อสิ่งที่ตัวเองชอบ โดยไม่รอมากกว่าประชากรอินเตอร์เน็ตโดยทั่วไปถึง 26%
- ผู้ใช้งาน Tinder ในไทย มีแนวโน้มเป็นกลุ่มคนที่ยอมจ่ายซื้อสินค้าหรือบริการในราคาเต็มแบบไม่รอโปรโมชั่นมากกว่าประชากรอินเตอร์เน็ตโดยทั่วไปถึง 59%
(ข้อมูลจาก GlobalWebIndex, 2020)
ความรู้สึก และความคาดหวังที่มีต่อ Brand
เมื่อถามว่าคนใช้งาน Tinder มีแนวโน้มจะชื่นชอบแบรนด์แบบไหน หรืออยากให้แบรนด์ทำอะไร เราพบว่า พวกเขาอยากชอบ แบรนด์ที่ทำให้ตัวเขากลายเป็น somebody มีคนชื่นชอบในโลกออนไลน์ หรือรู้สึกมีคุณค่า ชอบแบรนด์ที่ดูสนุก ดูเป็นคนรุ่นใหม่วัยเดียวกันแต่ก็สนับสนุนแบรนด์ที่ให้ความสำคัญเรื่องสังคมมากๆ เช่นกัน
- ผู้ใช้งาน Tinder ในไทย มีแนวโน้มจะบอกต่อและชื่นชอบแบรนด์ที่ทำให้เขากลายเป็น somebody ที่ได้รับความสนใจจากคนอื่นๆ มากกว่าประชากรอินเตอร์เน็ตโดยทั่วไปถึง 88%
- ผู้ใช้งาน Tinder ในไทย มีแนวโน้มจะรักแบรนด์ที่ดูสนุก ผ่อนคลาย มากกว่าประชากรดิจิทัลทั่วไปถึง 55%
- และยังดูจะชอบแบรนด์ที่คุยด้วยภาษาคนรุ่นใหม่แบบเดียวกับพวกมากกว่าประชากรดิจิทัลทั่วไปถึง 42%
- ผู้ใช้งาน Tinder ในไทย ชอบแบรนด์ที่พูดเรื่องการกลับคืนสู่สังคมและชุมชนท้องถิ่น โดยผู้ใช้งาน Tinder มีแนวโน้มจะเห็นด้วยกับเรื่องนี้มากกว่าประชากรอินเตอร์เน็ตในไทยทั่วไปถึง 73%
(ข้อมูลจากGlobalWebIndex, 2020)
จะเห็นได้ว่า Tinder ไม่ใช่แพลตฟอร์มที่ใช้เฉพาะเรื่องของการหาคู่ หรือนัดเดท แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะผู้ใช้งานบนนี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียกได้ว่าเป็น “Super Consumer” จากพื้นฐานที่พวกเขามาที่นี่เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบผู้คนใหม่ๆ ส่งผลให้พวกเขาทั้งเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆรวมทั้งแบรนด์ สนใจเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมและในโลก ที่สำคัญยังเป็นกลุ่มคนที่ กล้าคิด กล้าทำ กล้าลอง กล้าซื้อ และมีกำลังซื้อ ที่พร้อมซื้อในทันที อีกด้วย
Brand กับโอกาสในการเข้าหากลุ่มผู้ใช้งาน Tinder
ดังนั้น โอกาสของแบรนด์ในการที่จะเข้าถึงกลุ่มคนกลุ่มนี้ได้อย่างไรบ้างนั้น ทาง Media Donuts บริษัทผู้ให้บริการด้านสื่อโฆษณา และเป็นตัวแทน emerging media planform ในประเทศไทย มองเห็นเห็นวิธีที่แบรนด์สามารถเข้าถึงผู้ใช้งาน Tinder ในเชิงแคมเปญหรือโฆษณาได้ ซึ่งมีรูปแบบที่น่าสนใจทีเดียว
ตัวอย่างเช่น โฆษณาแบบ Branded Profile Card ที่เปิดโอกาสให้แบรนด์สร้างโปรไฟล์ขึ้นมาใน Tinder และเมื่อผู้ใช้งาน “ปัดขวา” ก็จะเหมือนกับว่าผู้ใช้งานและแบรนด์นั้น “IT’S A MATCH” กัน โดยผู้ใช้งานจะได้รับข้อความในช่องทาง inbox ที่แบรนด์สามารถใช้ call-to-action และ link ไปที่ต่างๆได้
ตัวอย่าง: https://www.matchmediagroup.com/project-1
การพัฒนางานโฆษณาควรเน้นให้ข้อความและชิ้นงานนั้นดูสนุก ทำให้รู้สึกว่ากำลัง
พูดกับคนที่พูดภาษาเดียวกันในวัยของเขา ชี้ให้เห็นว่าสินค้าหรือบริการมีคุณค่าที่จะช่วยพวกเขาได้อย่างไร
นักการตลาดอาจรู้สึกว่าแบรนด์ของตัวเองไม่เหมาะกับ Tinder แต่จากงานศึกษาของ GlobalWebIndex พบว่าผู้ใช้งาน Tinder มีความสนใจในหลากหลายเรื่องที่แบรนด์อาจหามุมสื่อสารได้ไม่ยากนัก เช่น
- Gadgets +99% เทียบกับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไป
- Esports +79% เทียบกับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไป
- Adventure/ Extreme Sports +65% เทียบกับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไป
- Environment +53% เทียบกับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไป
- Fashion +53% เทียบกับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไป
- Sport +50% เทียบกับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไป
- Investment +49% เทียบกับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไป
- Beauty & Cosmetics +48% เทียบกับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไป
- Fashion +53% เทียบกับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไป
- Pet / Pet Care +46% เทียบกับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไป
- Eating out +35% เทียบกับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไป
เพราะฉะนั้นเรียกได้ว่า Tinder เป็นแพล็ตฟอร์มใหม่ที่มาแรงสำหรับนักการตลาดและนักโฆษณาเลยทีเดียว ที่สำคัญคือการวางกลุ่มเป้าหมายทำการตลาดกลุ่มนี้จะต้องศึกษาให้ดี ศึกษาทั้งพฤติกรรมความสนใจของคนกลุ่มนี้อย่างละเอียด เพราะอาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนได้หากเราวางบนสมมุติฐานแต่ขาดการศึกษาอย่างจริงจัง.