เปิดอินไซต์ พฤติกรรมนักอ่าน Internet Comics เขาเป็นใคร และ Brand จะมีบทบาทอย่างไร

  • 197
  •  
  •  
  •  
  •  

หลายพฤติกรรมออนไลน์ของคนไทยได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นสองรองใคร ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของโมบายแบงก์กิ้ง หรือธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซ และอีกหนึ่งกิจกรรมออนไลน์ที่คนไทยก็มีการเติบโตที่ดีเช่นกัน ได้แก่ การอ่านการ์ตูนออนไลน์ Internet Comics ซึ่งพบว่าความนิยมของคนไทยติดอันดับโลก และแพล็ตฟอร์มการ์ตูนออนไลน์ก็ได้รับความนิยมสูงมากเช่นกัน โดย Marketing Oops! X MediaDonuts รวบรวมข้อมูลและพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมอ่านการ์ตูนออนไลน์เพื่อประโยชน์แก่นักการตลาดและเอเจนซี่ในการทำแคมเปญบนแพล็ตฟอร์มการ์ตูนออนไลน์ซึ่งกำลังเติบโตสูงขึ้นอย่างน่าสนใจ

 

ความนิยมการอ่านการ์ตูนออนไลน์ในประเทศไทย เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Statista พบว่า ประเทศไทยรั้งอันดับที่ 7 ของโลก ในด้านของการนำเข้าคอนเทนต์ประเภทการ์ตูนออนไลน์จากเกาหลีใต้ โดยเกาหลีใต้ถือเป็นต้นกำเนิดของรูปแบบคอนเทนต์ประเภท Webtoon ของโลก

เฉพาะการเข้าใช้งานการอ่านบนเว็บไซต์ ข้อมูลจาก Semrush พบว่า ในระดับโลกนั้น แพลตฟอร์มการ์ตูนออนไลน์ระดับโลกอย่าง WEBTOON มีการเข้าใช้งานจากประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชีย เป็นรองแค่ประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น

ความนิยมของการอ่านการ์ตูนออนไลน์ในประเทศไทย เติบโตต่อเนื่องช่วงโควิด

นอกจากนี้ หนึ่งในกิจกรรมยอดนิยมในช่วงโควิด โดยเฉพาะกับการล็อกดาวน์หลายพื้นที่ยิ่งผลักดันให้การอ่านการ์ตูนออนไลน์ของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งการเข้าใช้งานและการใช้เวลาบนเว็บไซต์

  • พบว่าจำนวนครั้งการเข้าใช้งานแพลตฟอร์มในกลุ่มการ์ตูนออนไลน์โดยเฉลี่ยต่อเดือนในไทยในปี 2020 เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 27%
  • เหล่านักอ่านการ์ตูนออนไลน์ใช้เวลาบนเว็บไซต์อย่างน้อย 20 นาทีโดยเฉลี่ย

(จากข้อมูลของ Semrush)

 

“นักอ่านการ์ตูนออนไลน์” เขาเป็นใคร สนใจเรื่องอะไร?

อย่างที่กล่าวว่าคนไทยเป็นนักอ่านการ์ตูนออนไลน์ แต่มากไปกว่าพฤติกรรมการอ่านการ์ตูน ผู้ใช้งานเหล่านี้ยังมีพฤติกรรมออนไลน์อื่นๆ เพิ่มเติมด้วย ซึ่งนักการตลาดควรทำความเข้าใจและศึกษาพฤติกรรมแวดล้อมอย่างละเอียดเพื่อประโยชน์ในการใช้ทำแคมเปญทางการตลาดได้ ดังนั้น เรามาดูกันว่านักอ่านเหล่านี้เป็นใคร และสนใจเรื่องอะไร

 

#GenZ #ผู้หญิง

จากผลสำรวจพบว่า แฟนตัวยงของ Internet Comics คือกลุ่ม Gen Z โดย 2 ใน 3 ของนักอ่านการ์ตูนออนไลน์ในประเทศไทย คือกลุ่มคนอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 24 ปี และ ราว 1 ใน 3 คือกลุ่มคนอายุ 25-34 ปี (ข้อมูลจาก Mirae Asset Daewoo Research) และ มากกว่า 2 ใน 3 ของนักการอ่านการ์ตูนออนไลน์เหล่านี้เป็น “ผู้หญิง” (ข้อมูลจาก AppAnnie)

 

 #ความสนใจ #FineArt

นอกเหนือจากการอ่านการ์ตูนออนไลน์ เมื่อเทียบกับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตโดยทั่วไป นักอ่านเหล่านี้ให้ความสนใจในเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งอยู่นอกเหนือจากการ์ตูน ซึ่งโดยรวมแล้วก็เพื่อใช้จินตนาการ ปลดปล่อยความเป็นตัวเอง อยู่ในโหมดพักจากโลกภายนอก ดังนี้

  • Fine Art / มีแนวโน้มสนใจมากกว่าผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 85%
  • Dance / มีแนวโน้มสนใจมากกว่าผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 82%
  • Handicrafts / มีแนวโน้มสนใจมากกว่าผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 74%
  • Board Games / มีแนวโน้มสนใจมากกว่าผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 65%
  • Adventure Activities / มีแนวโน้มสนใจมากกว่าผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 57%
  • Gadgets / มีแนวโน้มสนใจมากกว่าผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 51%
  • Esports / มีแนวโน้มสนใจมากกว่าผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 51%

(ข้อมูลจาก GlobalWebIndex)

 

#Facebook #Instagram  #TikTok #Twitter

ส่วนพฤติกรรมบนโซเชียลมีเดีย พบว่า นักอ่านการ์ตูนออนไลน์เหล่านี้เล่นโซเชียลฯ เหมือนคนรุ่นใหม่ทั่วไป โดยจาก GlobalWebIndex พบว่า แพลตฟอร์มหลักยังเป็นชื่อที่คุ้นเคย โดย  96% ของพวกเขาอยู่บน Facebook , 87% ของพวกเขาอยู่บน Instagram

แต่ที่น่าสนใจคือ พวกเขาอยู่บนแพลตฟอร์มอื่นๆที่นักการตลาดควรคำนึงถึงด้วย โดย 78% ของพวกเขาอยู่บน TikTok และ 71% ของพวกเขาอยู่บน Twitter

 

 

นอกจากนี้ พฤติกรรมที่น่าสนใจของพวกเขาอย่างหนึ่งคือการอ่านแล้วคุยต่อ หรือมีการพูดคุยเรื่องการ์ตูนในมุมมองต่างๆ ที่ตัวเองชื่นชอบในโลกโซเชียล ข้อมูลจาก มีเดียโดนัทส์ พบว่านักอ่านการตูนออนไลน์เหล่านี้มีการพูดคุยเกี่ยวกับ Webtoon ที่ตัวเองชื่นชอบสูงถึง 36 ล้านการสนทนาในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โดย Twitter คือที่ที่เหล่านักการอ่านการตูนออนไลน์ใช้ในการพูดคุย หรือ “หวีด” การ์ตูนกัน ไม่ว่าจะพูดคุยถึงเนื้อเรื่องในตอนต่อไปที่จะเกิดต่อไป ตัวละคร หรือแม้กระทั่งแสดงศักยภาพในการเป็นนักเขียนด้วยตัวเอง โดยพบว่ามากกว่าครึ่งของการสนทนานั้นจะพูดคุยเกี่ยวกับการ์ตูนสาย Y ( Yaoi และ Yuri )

 

แบรนด์ทำอย่างไรคนเหล่านี้ถึงจะชื่นชอบ?

ข้อมูลจาก GlobalWebIndex พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อ่านการ์ตูนออนไลน์เหล่านี้ มีแนวโน้มจะสนับสนุนแบรนด์ที่มอบประสบการณ์ คอนเทนต์ หรือสิ่งของที่มีความเอ็กซ์คลูซีฟเพื่อเขาโดยเฉพาะ ชอบแบรนด์ที่มีแคมเปญทางการตลาดหรือกิจกรรมที่ทำให้พวกเขาได้รับ Self-esteem ในโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น หรือแบรนด์ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแบรนด์

 

แบรนด์เข้าถึงคนกลุ่มนี้โดยตรงได้อย่างไรบ้าง?

สำหรับประเทศไทย แพลตฟอร์มการ์ตูนออนไลน์อันดับหนึ่งที่หลายคนรู้จักดี ได้แก่ WEBTOON โดยปัจจุบัน WEBTOON มอบโอกาสให้แบรนด์ในไทยสามารถเข้าถึงเหล่านักอ่านการ์ตูนออนไลน์ผ่านการทำโฆษณาภายในแพลตฟอร์มที่น่าสนใจหลากหลายรูปแบบ แต่ที่เป็นที่นิยมค่อนข้างและให้ผลสำเร็จที่ดีคือรูปแบบ Branded Epilogue (BEP)

สำหรับ Branded Epilogue (BEP) คือรูปแบบโฆษณาที่ให้แบรนด์ได้โปรโมทวิดิโอคอนเทนต์ขนาดสั้นของตัวเองทันทีที่ผู้ใช้งานอ่าน episode หนึ่งๆ จบไป โดยสามารถจะลิ้งค์ออกไปที่เว็บไซต์ของแบรนด์ต่อได้เลย

 

ดังนั้น สำหรับนักการตลาดเอเจนซี่ที่สนใจจะทำแคมเปญกับกลุ่ม Gen Z หรือสนใจทำโฆษณาบนแพล็ตฟอร์มการ์ตูนออนไลน์ต่างๆ ก็ควรทำความรู้จักและทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งานบนแพล็ตฟอร์มนี้อย่างถ่องแท้ เพื่อการสร้างแคมเปญอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลสำเร็จ.

 


  • 197
  •  
  •  
  •  
  •  
Tukko Nathida
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MarketingOops.com กับความตั้งใจในการนำเสนอเนื้อหาที่ทันเหตุการณ์ และเกิดประโยชน์ ให้สามารถนำเนื้อหาความรู้ และ Insight ไปต่อยอดกับอนาคตของธุรกิจ และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยี ครีเอทีฟ การตลาด โฆษณา และสตาร์ทอัพ