Image แบบไหนทำให้ศิลปิน K-pop ดังไปทั่วโลก?

  • 10
  •  
  •  
  •  
  •  

Keep-Calm-and-Gangnam-Style

 

ทศวรรษที่ผ่านมา K-pop ถือเป็นสายธารหลักจากโลกป็อบคัลเจอร์ที่น่าจับตามองและน่าศึกษาเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากไม่เพียงแต่บอยแบนด์และเกิร์ลแก๊งเหล่านี้จะเป็นสินค้าส่งออกชั้นดีที่ทรงอิทธิพลและมีมูลค่ามหาศาลของเกาหลีใต้ พวกเขายังทำหน้าที่เป็นเหมือนทูตวัฒนธรรมที่นำสินค้าและบริการเกาหลีแบรนด์เจาะตลาดผู้บริโภคทั่วโลก (เห็นชัดๆ คือ Samsung) อย่างแนบเนียนและน่าคบหา โดยล่าสุดผลการสำรวจจากองค์กรเฝ้าระวังข่าวสารของเกาหลี (Korea’s content watchdog) ระบุว่า วัฒนธรรม K-pop เพิ่มมูลค่าในแง่การส่งออกมากกว่า 50% ระหว่างปี 2011-2012 โดยคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 290 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9.6 พันล้านบาท) ปีที่แล้ว

 

exo-1

 

กลุ่มศิลปินน้องใหม่ที่มาแรงในขณะนี้ EXO

Crayon-Pop-wins-the-Hot-Trend-award-at-the-2013-MelOn-Music-Awards.

 

สาวน่ารักๆ จากวง Crayon Pop ที่กำลังมาแรงขณะนี้เช่นกัน

 

สื่อระดับโลกศึกษากระแส K-pop

รายงานข่าวของ CNN ชิ้นนี้จึงชี้ชวนให้เราเห็นว่า วัฒนธรรม K-pop กำลังแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยมีตัวเร่งปฏิกริยาเป็นโลกโซเชียลเนคเวิร์ก แฟนคลับ และความเคร่งครัดในการบริหารธุรกิจของต้นสังกัด โดยในปีที่แล้ว 9 สาว เกิร์ลส์ เจเนอเรชั่น สามารถคว่ำแบดบอยสุดเกรียน จัสติน บีเบอร์ สาวโหนลูกตุ้มสุดจ๊าบ ไมลีย์ ไซรัส และสาวแนวนอกกระแส เลดี้ กาก้า และโดดขึ้นไปนั่งในตำแหน่ง ‘Video of the Year’ ของงานประกาศรางวัล Youtube Music Awards 2013 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งตอกย้ำกระแส K-pop ที่กำลังเชิดหน้าชูตาให้กับวงการบันเทิงเอเชีย

มองทางด้านความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เราจะเห็นสถิติชวนตะลึง เช่น ในงาน คอนเสิร์ต Mnet Asia Music Awards (MAMA) ฮ่องกง ที่ตั๋วชมคอนเสิร์ตกว่า 1 หมื่นที่นั่งถูกจองเต็มภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง หรือแฟนคลับกว่า 13 ล้านคน ที่โหวตให้แก่ศิลปินที่ชื่นชอบในเว็บไซค์ของบริษัท ส่วนในเชิงการตลาด การปรากฏตัวของศิลปินเกาหลีในสื่อมวลชนและทีวีช่องต่างๆ ยังหมายถึงเรตติ้งที่จะพุ่งกระฉูดในวันนั้น หรืออนาคตของแบรนด์สินค้าที่จะมียอดขายทะลุเป้าภายในอีกไม่กี่สัปดาห์

 

คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรคือความลับของการสร้าง “image” ที่ทำให้ศิลปินเกาหลีเรียบเนี๊ยบไม่มีรอยสะดุดอย่างทุกวันนี้

 

2631509-bigbang-kpop-3-617-409

 

สัมภาษณ์กลุ่มศิลปิน Big-bang

 

tumblr_static_tumblr_static_bbbb

ศิลปิน Big-bang กำลังตั้งท่าถ่ายภาพให้กับนิตยสาร

 

httpv://youtu.be/61tLztZRgHU

คลิปของศิลปิน Big-bang ให้สัมภาษณ์กับ FUSE

 

เป๊ะ! ทุกทักษะ

แน่นอนว่าเป็นศิลปินก็ต้องมีความสามารถ เราเคยได้ยินกันหนาหูมาแล้วว่า ไอดอลเกาหลีหลายคนฝึกฝนกันอย่างจริงจังเหมือนอยู่ในค่ายทหาร พวกเขาเสียเวลาหลายปีไปกับการขัดเกลาทักษะการร้อง เต้น และการแสดง รวมไปถึงลงทุนเรียนภาษาเอเชียอื่นๆ เพื่อใช้สื่อสารกับแฟนคลับทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เดบิวอัลบั้มสักอัลบั้ม ไมค์ ซุห์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจระดับโลกของ CJ E&M เอนเตอร์เทนเมนต์เผยเหตุผลว่า การบังคับให้เหล่าไอดอลผ่านการฝึกฝนอย่างหนักหน่วงก่อนเริ่มเดบิวนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะเป็นที่รักของแฟนเพลงในวินาทีแรกที่ได้เจอพวกเขา

 

เพราะ first impression หรือความประทับใจแรก ถือเป็นสิ่งจำเป็นในการติดตามศิลปินอย่างมาก

 

psy-yahoo

ท่าเต้นควบม้าของ Psy ที่ดูเหมือนง่าย แต่พอลองเต้นตามแล้วก็เหนื่อยหอบเหมือนกัน

 

httpv://youtu.be/e0HYZxIzj8s

Shinee โชว์ทักษะการเต้นเพลงของพวกเขา แค่เห็นก็รู้ว่าคงต้องฝึกมานาน

 

วงดนตรีป็อบยุคใหม่ สงบปาก สงบคำ

กรณีศึกษา เช่น วงเกิร์ลแก๊ง Crayon Pop ที่เคยส่งมิวสิควีดีโอ Bar Bar Bar จนกลายเป็นไวรัลเมื่อปีที่แล้ว โดยระหว่างที่สาวๆ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังเล่นคอนเสิร์ต MAMA ที่ฮ่องกงเสร็จสิ้น สาวน้อยทุกคนจะเริ่มการสนทนาด้วยการโค้งทักทายผู้สื่อข่าวอย่างสุภาพ ก็ที่ผู้จัดการ (ที่มีลักษณะคล้ายบอดี้การ์ด) ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ จะคอยส่งสัญญาณมือและสีหน้าว่าสิ่งไหนควรพูดและสิ่งไหนไม่ควรพูด

 

131128045247-crayon-pop-horizontal-gallery

วง Crayon pop ในงานแถลงข่าว

 

เนื่องจากประเด็นเรื่องการให้สัมภาษณ์ของศิลปินเกาหลีถือเป็นเรื่องฮอตที่ทำให้วงการอื้อฉาวมาแล้วหลายครั้ง สำหรับชาวไทย เราคงจำกรณีของ Block B ศิลปินบอยแบรนด์สุดทะเล้นที่ขี้เล่นมากไปหน่อยจนถึงกับแซวเหตุอุบัติภัยน้ำท่วมของไทยที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและคนเดือนร้อนหลายพันคน (กรณีเดียวกับที่ นิชคุณ หรเวชกุล ไอดอลสัญชาติไทยในวง 2PM โพสต์ประนามศิลปินกลุ่มนี้หลังเกิดเหตุ) แม้ที่สุด พวกเขาจะออกมาขอโทษทั้งน้ำตาพร้อมมีสมาชิกลงทุนโกนศีรษะเพื่อขออภัยอย่างสุดซึ้ง แต่แฟนคลับชาวไทยหลายคนก็ไม่อาจให้อภัยนำไปสู่การประท้วงขอให้ยุบวง และเลยเถิดไปถึงข่าวลือเรื่องการพยายามฆ่าตัวตายของนักร้องในวง

 

httpv://youtu.be/9OBbAdYj1Mg

คลิป Block B ขอโทษชาวไทย

 

กรณีเก่ากว่านั้นคือ เจย์ ปาร์ก อดีตลีดเดอร์ของวง 2PM ที่เคยโพสต์แสดงความเห็นด้านลบต่อประเทศเกาหลีใต้ในโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้เขาถูก “เขี่ย” ออกจากวงแทบจะทันที ปัจจุบัน แม้จะมีอัลบั้มและคอนเสิร์ตของตัวเองอยู่บ้าง แต่ก็มักเป็นกิจกรรมในต่างประเทศเสียมากกว่า

 

ความเสียหายสะเทือนทั้งบริษัท

ข่าวอื้อฉาวของศิลปินไม่เพียงทำให้วงการเสียหาย แต่ยังเลยเถิดไปทำให้รายได้ของบริษัทต้นสังกัดสะท้านสะเทือนตามไปด้วย อย่าง กรณีของ ชอย ดง วุก นักร้องที่รู้จักกันในนาม Se7en เคยเปิดใจในรายการทอล์กโชว์ของเกาหลีว่า หลังจากเขาประกาศว่ามีแฟนสาว ปรากฏว่าสมาชิกในเว็บแฟนคลับหายไป 1 แสนคนทันที หรือ กรณีของ จี-ดราก้อน ลีดเดอร์ของวง Bigbang ที่ถูกตรวจพบการใช้กัญชาระหว่างปี 2011 ก็ส่งผลให้บริษัทต้นสังกัด YG Entertainment ต้องประกาศลดการขายหุ้น IPO ลงกว่า 10% ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้จัดการวงดนตรีจะเฝ้าจับตามองศิลปินในดูแลแทบจะ 24/7 และแม้แต่เรื่องความรักก็ถือเป็นสิ่งผิดสัญญาที่ศิลปินผู้แหกกฏต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินมหาศาล

 

httpv://youtu.be/g44syspCWa4

เรื่องราวของ Se7en บนหน้าข่าวของสื่อมวลชนโทรทัศน์

 

ฐานแฟนคลับมาจากหลายวัฒนธรรม

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจจริงๆ คือ ฐานแฟนคลับของกลุ่มศิลปินเกาหลีไม่ได้มีเพียงแต่คนชาติเกาหลีด้วยกัน แต่มาจากทุกเชื้อชาติ (ทั้งๆ ที่ก็ฟังภาษาเกาหลีไม่ออก) นักวิชาการนิยามความสัมพันธ์ระหว่างแฟนคลับกับศิลปินแบบนี้ว่าเป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย คือ แฟนคลับจะเป็นฐานที่สนับสนุนศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ โหวตให้พวกเขา ซื้อของจากต้นสังกัดของพวกเขา มีบทบาทคล้ายๆ “แม่ยก” ที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในอาชีพ อย่างเช่น Crayon Pop ที่มี Youtube Channel ของตัวเองและมีผู้ subscribe กว่า 1.57 แสนคน ในแนวทางเดียวกัน ศิลปินก็ต้องหาวิธีตอบแทนน้ำใจของแฟนๆ ด้วย “Fan service” หรือ การโชว์พิเศษที่เรียกเสียงกรี๊ดจากแฟนๆ ได้อย่างถึงใจ (ผู้เขียน: หลายครั้งเป็นโชว์ที่ทำให้แฟนคลับ “จิ้น” หรือ จินตนาการถึงความสัมพันธ์ของศิลปินในกลุ่ม ตัวอย่างตามคลิปวีดีโอประกอบ ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ไม่ได้มีสัมพันธ์อย่างจริงจังตามภาพที่เราเห็น…ในทางทฤษฏี)

 

httpv://youtu.be/xp1AV-sJUjg

แฟนเซอร์วิสอันน่าตกตะลึงของวง Super Junior ซึ่งเคยโด่งดังจากเพลง Sorry Sorry

 

ทั้งนี้ นอกจากแฟนคลับจะรู้จักกับศิลปินผ่านหน้าจอแล้ว เอเจนซียังมีการจัดอีเวนต์พิเศษที่ให้ศิลปินใกล้ชิดกับแฟนคลับแบบมือถึงมือ (ผู้เขียน: คล้ายๆ การจัด meet and greet กับศิลปิน ในความหมายของไทย) โดยแฟนๆ ที่จะเข้าร่วมปาร์ตี้ชนิดนี้ได้ต้องจ่ายค่าเข้าชมค่อนข้างแพง (บางครั้งอาจถึงหลักหมื่นบาท) เนื่องจากรับจำนวนจำกัดและมีเงื่อนไขการเข้าร่วมมากมาย

 

photo194745 DD_kpoplondon_bodyimage 20120715_seoulbeats_fans

ภาพแฟนคลับจากทั่วทุกมุมโลก (เครดิตตามใต้ภาพ)

 

อนาคตความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินเกาหลีกับแฟนคลับ

แม้ต้นสังกัดเกาหลีจะมีความเป็นมืออาชีพในการบริหารแฟนคลับอย่างเป็นระบบ แต่แฟนๆ หลายคนยังรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถเข้าถึงศิลปินที่ถูกระเบียบมากมายร่ายล้อม ส่งผลให้เกิดกระแสวิจารณ์บริษัทต้นสังกัดอย่างกว้างขวาง แต่ในประเด็นนี้ โดโรธี แอดวินคูล่า ผู้ช่วยบรรณาธิการจากสำนักข่าวบันเทิงเกาหลี Kpopstarz ให้ความเห็นว่า การทำให้ศิลปินเข้าถึงยากถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่บริษัทต้นสังกัดใช้เพื่อเพิ่มความนิยมให้แก่ศิลปิน โดยเรียกกฏนี้เรียกว่า “เศรษฐศาสตร์แห่งความรู้สึกคลาดแคลน” ซึ่งหมายความว่า เมื่อแฟนๆ รู้สึกว่าศิลปินที่ตัวเองคลั่งไคล้เข้าถึงยาก จึงยินดีใช้จ่ายทรัพยากรอย่างสุดความสามารถเพื่อให้เข้าถึงศิลปินอย่างใกล้ชิด

 

“ต้นสังกัดพยายามทำให้การเข้าถึงแฟนๆ หลังจากคอนเสิร์ตเป็นเรื่องยากมาก ดังนั้น กลุ่มแฟนคลับจึงรู้สึกว่าการได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกหรือได้ลายเซนจากศิลปินเป็นถ้วยรางวัลของการแข่งขันอันยาวนาน” แอดวินคูล่ากล่าว

 

snsd new york fan meet (2)

สาวๆ จากวง Girls’ Generation (SNSD) พบปะกับแฟนคลับในงาน meeting

 

อย่างไรก็ตาม แอดวินคูล่าคาดว่า การพยายามตัดขาดศิลปินออกจากแฟนๆ ของพวกเขาจะส่งผลร้ายต่อวงการบันเทิงเกาหลีในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากโลกของโซเชียลมีเดียจะทำให้ศิลปินแอบติดต่อกับแฟนคลับของพวกเขาอย่างลับๆ และจะทำให้แฟนๆ ไม่แคร์การติดต่ออย่างเป็นทางการกับศิลปินต่อไป ส่งผลให้เกิดความรู้สึกต่อต้านต้นสังกัดอย่างไม่รู้ตัว

 

ผู้เขียน: บทความนี้ดัดแปลงจาก How K-pop cashes in on image จากสำนักข่าว CNN โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับต้นฉบับ มีเพียงบางส่วนที่ปรับแก้เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าไม่สมจริงหรือควรขยายความให้เข้าใจดียิ่งขึ้น 


  • 10
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง