แม้จะยังอยู่ในสถานการณ์ Pandemic แต่บรรยากาศและความเข้มงวดในการใช้ชีวิต การเดินทาง ก็เริ่มผ่อนคลายมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและหลาย ๆ ประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นแบรนด์น้อยใหญ่ ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย พากันขยับตัวอย่างคึกคักเพื่อเตรียมความพร้อมและต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่กลับมาเดินทาง ใช้ชีวิตนอกบ้าน ทดแทนเวลากว่า 2 ปีที่ต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน
แต่การเตรียมความพร้อมด้วยแนวทางเดิม ที่ธุรกิจเคยทำในยุค Pre Pandemic คงไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อมหรือภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อน ว่าจะกลายเป็นสิ่งที่นักเดินทางและผู้บริโภคให้ความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจึงควรศึกษาข้อมูลดังกล่าว เพื่อเพิ่มโอกาสและความได้เปรียบในธุรกิจ
รายงานการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2565 ของ Booking.com ที่รวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากความคิดเห็นของผู้เดินทาง 30,000 คนใน 32 ประเทศ รวมถึงไทย โดยพบว่านักเดินทางชาวไทยต้องการตัวเลือกด้านการเดินทางที่มีความยั่งยืน และมีความตระหนักต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำนวนของผู้ที่ต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนในปีนี้มีเพิ่มขึ้นราว 10% เมื่อเทียบกับการสำรวจในปี 2564 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น
- 94% ของผู้เดินทางชาวไทยยืนยันว่าการเดินทางอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา โดย 75% ระบุว่าข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ส่งผลให้ตนตัดสินใจเลือกตัวเลือกด้านการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น
- 90% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยระบุว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะเลือกที่พักแบบยั่งยืนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเลือกจองที่พักตั้งแต่แรกหรือไม่ก็ตาม
- 71% ของผู้เดินทางชาวไทยระบุว่าต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้นใน 1 ปีข้างหน้า
- 67% ของผู้เดินทางกล่าวว่าความพยายามของผู้ให้บริการที่พักและบริการด้านการเดินทางในการปฏิบัติตามแนวทางเพื่อความยั่งยืน มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจเลือกที่พักและตัวเลือกด้านการเดินทางต่าง ๆ ของพวกเขา
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจในประเด็นที่สอดคล้องกัน ทั้งการมองหาที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น การตัดสินใจเลือกเมืองรองและเดินทางนอกฤดูท่องเที่ยว หรือ ต้องการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและชุมชนท้องถิ่น เช่น
- 73% ของผู้เดินทางชาวไทยระบุว่าตั้งใจมองหาข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการด้านความยั่งยืนของที่พักแต่ละแห่งก่อนทำการจอง
- เหตุผลของนักเดินทางที่เคยเลือกที่พักรักษ์โลก หรือที่พักที่มีแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน 44% ตนเลือกที่พักแบบรักษ์โลกเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, 40% ต้องการสัมผัสประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับความเป็นท้องถิ่นมากขึ้น, 38% เชื่อว่าที่พักแบบรักษ์โลกมีแนวทางปฏิบัติต่อชุมชนโดยรอบดีกว่า
- 95% ของผู้เดินทางชาวไทยตั้งใจว่าจะเข้าพักในที่พักแบบยั่งยืนอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงปีนี้
- ขณะที่ 25% ระบุว่าตนไม่ได้ตั้งใจมองหาข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางด้านความยั่งยืนของที่พักเหล่านั้นก่อนทำการจอง แต่หากข้อมูลดังกล่าวเข้าถึงได้ง่าย ก็จะตรวจสอบ
- คนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าต้องการหลีกเลี่ยงจุดหมายปลายทางที่มีความพลุกพล่าน และมีผู้คนไปเยือนมากเกินไป โดย 37% ของผู้เดินทางชาวไทยระบุว่าพวกเขาเลือกที่จะเดินทางนอกช่วงฤดูท่องเที่ยว และอีก 35% เลือกที่จะไปยังจุดหมายที่ผู้คนนิยมไปท่องเที่ยวน้อยกว่าหรือเมืองรองในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานักท่องเที่ยวล้น ซึ่ง 46% ระบุว่าเต็มใจที่จะเดินทางเฉพาะนอกช่วงฤดูท่องเที่ยวเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานักท่องเที่ยวล้น ขณะที่ 84% บอกว่าจะหลีกเลี่ยงจุดหมายและแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว เพื่อทำให้แน่ใจว่าผลกระทบและประโยชน์ที่เกิดจากการไปเยือนเมืองรองของตนนั้นกระจายตัวกันอย่างเท่าเทียม และ 42% เต็มใจอย่างมากที่จะเลือกไปเมืองรอง หรือทางเลือกอื่น ๆ แทนจุดหมายที่ตนอยากไปเพื่อช่วยลดปัญหานักท่องเที่ยวล้น
- 79% ระบุว่าต้องการสัมผัสประสบการณ์ที่สามารถเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง และ 37% ระบุว่าพวกเขาตั้งใจศึกษาค่านิยมและประเพณีท้องถิ่นของจุดหมายที่จะเดินทางไปล่วงหน้า และอีก 38% ของผู้เดินทางเต็มใจที่จะจ่ายเงินจำนวนมากขึ้นให้กับกิจกรรมในทริปการเดินทาง เพื่อทำให้แน่ใจว่าตนสามารถช่วยกระจายรายได้ไปยังชุมชนท้องถิ่น
- 27% เลือกที่จะเดินทางไปยังจุดหมายที่อยู่ใกล้บ้านมากขึ้นเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์
- 31% ระบุว่าตนสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะ หรือตัวเลือกในการเช่าจักรยานในจุดหมายที่เลือกเดินทางไป
- 22% เลือกที่จะเดินทางด้วยรถไฟแทนการใช้รถยนต์สำหรับระยะทางที่ไกล
- 54% กล่าวว่าตนรู้สึกไม่ดีที่จะโดยสารเครื่องบินไปยังจุดหมายปลายทาง เพราะผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม
- โดยหากต้องจองบริการด้านการโดยสารหรือเดินทางของตน 73% ของผู้เดินทางชาวไทย ระบุว่าตั้งใจมองหาข้อมูลด้านความยั่งยืน แม้อีก 24% จะบอกว่าตนไม่ได้ตั้งใจมองหาตัวเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนมากกว่า แต่ข้อมูลด้านความยั่งยืนยังคงส่งผลต่อพฤติกรรมการจองและความพึงพอใจของพวกเขา เป็นต้น