สำรวจธุรกิจ ผ่านกระแสรักโลก กับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น และยินดีจ่ายแพงขึ้น

  • 10
  •  
  •  
  •  
  •  

กระแสรักโลก และใส่ใจสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นทั่วโลก ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมากสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยยินดีจ่ายค่าสินค้าในราคาที่แพงขึ้น กระแสดังดังกล่าวส่งผลให้ผู้ขายต้องปรับตัว หันไปผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ตัวเองให้สนใจเรื่องธรรมชาติ (green) สิ่งแวดล้อม (environmental friendly) ตลอดจนเรื่องความยั่งยืน (sustainability) เพิ่มขึ้น

ผลสำรวจชี้ประชากรในปัจจุบันใส่ใจสิ่งแวดล้อม และต้องการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค เช่น ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา การใช้คำค้นหาบน Google ของคนทั่วโลกเกี่ยวกับการทำลายสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้นถึง 16% เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2016-2020 เพิ่มขึ้นถึง 24% ขณะที่หลายประเทศในเอเชีย ความสนใจดูจะเพิ่มมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกด้วยซ้ำ ในอินเดีย คำค้นหาเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้นถึง 190%

ผลของการตระหนักและใส่ใจประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น ทำให้อุปสงค์หรือความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นด้วย เมื่อเจาะจงลงไปดูคำค้นหาเกี่ยวกับสินค้าที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน (sustainability) พบว่าจำนวนคำค้นหาทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 71% นับแต่ปี 2016

โดยเฉพาะในประเทศรายได้สูง การใช้คำค้นหาเกี่ยวกับสินค้าที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนเพิ่มขึ้นถึง 450% ระหว่างปี 2016-2018

นอกจากประเทศรายได้สูงแล้ว ในประเทศกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ ความสนใจในสินค้ากลุ่มนี้ก็เพิ่มมากเช่นกัน เช่น ในจีน ราว 40% ของผู้บริโภคให้ข้อมูลว่าต้องการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือในอินเดีย ที่ยอดขายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคตั้งแต่ปี 2018 เพิ่มขึ้น 13%

 

ไม่ใช่แค่ความต้องการเพิ่มขึ้น แต่ยินดีจ่ายแพงขึ้นด้วย

นอกจากกระแสรักโลก ต้องการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติเพิ่มขึ้นแล้ว ผู้บริโภคยังยินดีจ่ายในราคาที่แพงขึ้นด้วย

เมื่อสำรวจทั่วโลก จำนวนผู้บริโภคที่ยินดีจ่ายสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาที่แพงขึ้น เพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ โดยจากผลสำรวจของ GlobalWebIndex Q2 2018 ในผู้ตอบแบบสำรวจอายุ 16-64 ปี จำนวน 111,899 คน พบว่า 46% ของผู้บริโภคยุค Baby Boomers 55% ของผู้บริโภคยุค Gen X 61% ของผู้บริโภคยุค Millenials และ 58% ของผู้บริโภคยุค Gen Z ยินดีจ่ายแพงขึ้น สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จะเห็นได้ว่า ตัวเลขดังกล่าวค่อนข้างสูง คิดเป็นกว่าครึ่งของผู้บริโภคในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่ม  Millenials (เกิดระหว่างปี 1980-1996) ที่สูงถึง 61% ขณะที่กลุ่ม Gen Z (เกิดระหว่างปี 1997-2009) แม้ปัจจุบันสัดส่วนจะน้อยกว่ากลุ่ม Millenials แต่เชื่อว่าในอนาคต เมื่อประชากรกลุ่มนี้อายุมากขึ้น จะยิ่งสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ผลสำรวจนี้จึงยิ่งตอกย้ำว่า ในอนาคต ประชากรที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเป็นสัดส่วนใหญ่สุดของผู้บริโภค

 

สินค้ากลุ่มไหน ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

และเมื่อดูประเภทสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคมักให้ความสำคัญ หรือหาข้อมูลก่อนซื้อสินค้า ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ปรากฏว่า 5 อันดับแรกได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล อาหาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ประเภทเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า (ข้อมูลจาก GlobalWebIndex 13-15th September 2018)

โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ที่สัดส่วนผู้บริโภคที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกซื้อมากสุด มากถึง 73%

สอดคล้องกับงานวิจัยจาก NYU Stern’s Center for Sustainable Business ที่พบว่า ครึ่งหนึ่งของการเติบโตของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2013-2018 มาจากสินค้าที่สนับสนุนเรื่องความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นกระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า นม โยเกิร์ต น้ำผลไม้บรรจุขวด เป็นต้น

เมื่อมาดูพฤติกรรมของคนไทย ก็พบว่าสอดคล้องกัน จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่าคนไทยยินดีจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาที่แพงขึ้น โดยยินดีจ่ายสูงกว่าสินค้าราคาปกติ 1-20% และประเภทสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญได้แก่ สินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค (FMCG) ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวนับว่าสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลก

 

จากงานสำรวจทั้งของไทยและต่างประเทศที่แสดงข้างต้น มีบทเรียนสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยอย่างน้อย 4 ประการ

หนึ่ง ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลก ทั้งในไทยและต่างประเทศ ในทุกช่วงอายุ และในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม

สอง ผู้บริโภคยินดีจ่ายแพงขึ้นสำหรับสินค้าที่มีภาพลักษณ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามหากสินค้ามีต้นทุนแพงขึ้นจากการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการไทยต้องควบคุมไม่ให้กระทบต้นทุนและราคาสินค้าเกิน 20%

สาม ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะประเภทผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ควรออกสินค้าใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือถ้ามีอยู่แล้ว ก็ควรมีกลยุทธ์ตอกย้ำแบรนด์ให้ผู้บริโภครับรู้มากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคที่รักสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญมากสุด

สี่ ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าหลายประเภทสู่ตลาดโลก การปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อรองรับกระแสรักโลกจึงมีความจำเป็น เพื่อให้สามารถรักษาศักยภาพทางการแข่งขันเอาไว้ได้

ทั้งนี้ นอกจากกระบวนการผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ ที่ผู้บริโภคสนใจว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่แล้ว ปัจจุบันผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับเรื่องบรรจุภัณฑ์ ทั้งประเด็นสามารถนำไปใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้หรือไม่ ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า กระทั่งหมึกพิมพ์ ฉลากแปะสินค้า หากผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ก็สามารถใช้เป็นจุดขายได้ ดังนั้นประเด็นบรรจุภัณฑ์ก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาใช้ส่งเสริมการตลาดกับผู้บริโภคกลุ่มนี้

 

กระแสผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนนับวันจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเป็นของจริง ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ เพื่อตอบสนองในเชิงธุรกิจ ได้กำไรมากขึ้น และสนับสนุนเรื่องความความยั่งยืนครับ

 


  • 10
  •  
  •  
  •  
  •  
ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล
ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล หรือ ดร.ชาย จบปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศอังกฤษ ดร.ชายเป็นเจ้าของธุรกิจ และสวมหมวกเป็นอาจารย์พิเศษด้านเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาให้หลายองค์กร ดร.ชายขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในน้อยคนที่ทำเรื่องเศรษฐศาสตร์ให้ง่ายและสนุกได้