เมื่อกว่า 3 ปีที่ผ่านมา มีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารของทรูมันนี่ ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานบริหาร แอสเซนด์ กรุ๊ป เวลานั้นต้องสะดุดใจกับนโยบายที่บอกว่า ทรูมันนี่ จะเป็นบริการทางการเงินสำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะลูกค้าทรูเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะคนที่ใช้เอไอเอส หรือดีแทค ที่บ้านอาจใช้อินเทอร์เน็ตทรูออนไลน์ หรือดูทีวีผ่านทรูวิชั่นส์ ซึ่งใช้เอ็มเปย์ หรือเพย์สบาย จ่ายไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น วิชั่นส์ของผู้บริหารคนนั้นบอกว่า ทรูมันนี่ จะเป็นกระเป๋าเงินของทุกคน ทั้งคนไทย และคนต่างประเทศ
แนวคิดนั้นทำให้ทรูมันนี่โตจากรายได้ 900 ล้านบาท ขึ้นมาเป็น 2,600 ล้านบาทใน 3 ปี และทุกวันนี้แอพพลิเคชั่น wallet by True money สามารถใช้งานได้ไม่ว่าจะใช้บริการมือถือจากเครือข่ายใด และตอนนี้ ทรูมันนี่ ก็ได้ขยายบริการไปต่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว 4 ประเทศนอกจากไทย คือ พม่า, กัมพูชา, เวียดนาม และอินโดนีเซีย อีกทั้งปลายปีนี้จะเปิดให้บริการที่ฟิลิปปินส์ ส่วนปี 2016 จะขยายต่อไปที่ ลาวและมาเลเซีย
ขณะที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน เอ็มเปย์ ได้ประกาศเปลี่ยนนโยบายมาเป็นกระเป๋าเงินที่ใครก็สามารถใช้บริการได้ จากเดิมเอ็มเปย์ จะเน้นให้บริการเฉพาะลูกค้าเอไอเอสเท่านั้น เนื่องจากแค่ฐานลูกค้ามากกว่า 40 ล้านรายก็ถือว่ามากแล้ว แต่เอาเข้าจริงผู้ใช้บริการเอ็มเปย์มีอยู่ประมาณ 1.4 ล้านราย ทำไมเอ็มเปย์ต้องจำกัดตัวเองเฉพาะลูกค้าเอไอเอส และอย่าลืมว่าการจ่ายเงินไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะค่าบริการในเครือเอไอเอสเท่านั้น ซึ่งหากเอ็มเปย์สามารถเจาะกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่ใช่แค่ลูกค้าเอไอเอส คาดการณ์ว่ามีโอกาสเพิ่มลูกค้าเป็น 1.5 ล้านรายในปลายปีนี้
ทุกวันนี้การชำระเงินผ่านระบบ E-payment ได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งการจ่ายค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต และยังรวมถึง ค่าบัตรเครดิต ค่าประกัน ต่อมาคือ การใช้เติมเงินมือถือ ซึ่งส่วนนี้จริงๆ ก็ไม่จำเป็นว่า เอ็มเปย์ต้องเติมให้เฉพาะวันทูคอล หรือทรูมันนี่ต้องเติมให้เฉพาะทรูมูฟเอช เพราะในบ้านเดียวกันบางทีก็ใช้มือถือกันคนละระบบ ลูกที่ใช้เอไอเอส อาจจะอยากเติมเงินให้แม่ที่ใช้ทรูมูฟเอช ก็ได้
นอกจากนี้ ยังมีการโอนเงินระหว่างกัน และการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ซึ่งเวลานี้ อี-คอมเมิร์ซ กำลังบูมมาก ทิศทางการเจริญเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ธุรกิจออนไลน์และดิจิทัลประเภทต่างๆ ในประเทศไทยเติบโตขึ้นประมาณ 30 – 35% มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซรวม 14,600 ล้านบาท สืบเนื่องจากประเทศไทยมีประชากรออนไลน์กว่า 46% ดังนั้นหากได้ลูกค้าส่วนนี้มาใช้บริการระบบชำระเงิน คือโอกาสในการเติบโตแบบก้าวกระโดด
กำแพงสำคัญที่ผู้ให้บริการระบบชำระเงินต้องผ่านไปให้ได้คือ 1. ต้องลบภาพว่าบริการมือถือเจ้าใดก็ต้องใช้บริการชำระเงินของเจ้านั้น 2. ต้องสามารถชำระเงินค่าบริการข้ามค่ายได้ (แล้วไปเก็บค่าธรรมเนียมหลังบ้านกันเอาเอง) 3. บริการต้องมีเสถียรภาพ น่าเชื่อถือและแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว 3. ต้องสร้างระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการ
ดังนั้น ทรูมันนี่ และ เอ็มเปย์ จึงกำลังเข้าสู่การแข่งขันแบบข้ามค่ายมือถือเพื่อให้บริการในวงกว้าง ขณะที่เพย์สบายในค่ายดีแทค ต้องยอมรับว่ามีความเคลื่อนไหวน้อยที่สุด แต่มีฐานลูกค้าอยู่พอสมควรในกลุ่มผู้ซื้อขายออนไลน์ (แต่นั่นก็เป็นโอกาสที่ 2 รายแรกจะกระโดดเข้าไปดึงลูกค้ามาใช้บริการ)
นอกจากผู้ให้บริการมือถือแล้ว ยังมีธนาคารต่างๆ ที่พัฒนาแอพพลิเคชั่นของตัวเอง เพื่อให้ลูกค้าที่เปิดบัญชีใช้แอพในการฝากจ่ายโอนถอนอีกต่างหาก งานนี้เรียกว่า ยิ่งมีการพัฒนามากขึ้นเท่าไรการแข่งขันยิ่งรุนแรง ประโยชน์ที่ได้จะเกิดกับประชาชนมากขึ้นเท่านั้น