หลายปีที่ผ่านมาตลาดอาหารบ้านเรามีผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มไขมันต่ำ แคลอรี น้ำตาลน้อย ออกมาวางจำหน่ายมากมาย โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้บริโภคที่อยู่ในเทรนด์การบริโภคที่เปลี่ยนไป
อันที่จริงเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เทรนด์ใหม่ และไม่ได้เกิดเฉพาะบ้านเราแต่มันเกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ช่วงปี 80s เรื่องแคลอรี่ในอาหารได้กลายเป็นประเด็นหลักในเทรนด์การบริโภค และต่อมาในช่วงปี 90s ไขมัน (fat) ก็ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ และตามด้วย carb, no-carb (คาร์โบไฮเดรต) จนถัดมาสู่เทรนด์ Organic food และ การบริโภคอย่างสมดุล
ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเกิดจากประชากรในหลายประเทศกำลังเผชิญกับโรคอ้วน และสารพัดโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน เป็นคู่ขนานไปกับเทรนด์รักสุขภาพ, เทรนด์ผอม ฯลฯ รวมถึงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมายในช่วงหลังที่ออกมาโจมตีอาหารหลายประเภท
น้ำตาล โซเดียม ไขมัน คาร์บ คือสิ่งที่คนพยายามจะลดหรืออาจตัดออกจากอาหารที่พวกเขาเลือก แน่นอนว่าผู้ผลิตอาหารมากมายทำผลิตภัณฑ์ออกมาเพื่อตอบโจทย์ตลาด ไขมันต่ำ, น้ำตาลน้อย, ไขมัน 0%, Low-carb, Gluten-free, Low-sodium ไปจนถึงการตีตราว่าเป็น Organic food
พฤติกรรมการเลือกบริโภคของคน ทำให้ผู้ผลิตหยุดนิ่งไม่ได้ และในเวลานี้ผู้ผลิตอาหารหลายแบรนด์ก็เลือกที่จะใช้วิธีการ Downsize (ลดขนาด) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ในกลุ่มอาหาร fast-food และ snack-food
Coke และ Pepsi แบบกระป๋องในขนาดมินิ 7.5 ออนซ์ ก็เป็นอีกหนึ่งเคสที่ชัดเจน เพราะมันถูกเปิดตัวในช่วงที่สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในกระแสลดการบริโภคน้ำอัดลม ซึ่งทำให้ยอดขายของทั้ง 2 แบรนด์ต่ำสุดในรอบ 30 ปี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
McDonald’s ก็กำลังอยู่ในช่วงทดลองจำหน่าย ‘Mac Jr.’ เป็น Big Mac เวอร์ชั่นเล็กลงจากเดิม (ในสหรัฐฯ) หรือจะ Oreo Thins กับ Mini Oreo มาพร้อมแคลอรี่ที่ต่ำกว่าในรสชาติและส่วนผสมเดิมทุกประการ เพราะไซส์มันเล็กลงนั่นเอง Starbucks เองก็เพิ่งประกาศจำหน่าย mini frappuccino sizes เป็นเมนูปั่นขนาดมินิที่จะจำหน่ายชั่วคราวเป็นฤดูกาลๆไป (เพิ่งเริ่มเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา)
“น้ำตาล คือสิ่งแรกที่ผู้บริโภคพยายามจะลดในช่วงที่พวกเขากำลังไดเอท และอุตสาหกรรมอาหารก็กำลังตอบสนองพวกเขา มันเหมือนกับเรากำลังบอกผู้บริโภคของเราว่า ‘นี่ไงเราอยู่นี่ เราพร้อมจะรับผิดชอบและช่วยจำกัดปริมาณน้ำตาลในอาหารเพื่อพวกคุณ’ “
Darren Seifer, food and beverage industry analyst at NPD Group.
ทัศนคติการบริโภคของคนเปลี่ยน และมุมมองเรื่องสุขภาพก็เปลี่ยนด้วยเช่นกัน การอดอาหารเพื่อลดความอ้วนเริ่มถูกแบน และทุกวันนี้คนไม่ได้เปรียบเทียบอาหารด้วยการมองแค่เพียง good food vs. bad food แต่มันเป็นเรื่องของการควบคุมปริมาณการกินให้สมดุล ไม่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง พวกเขาไม่ได้ งดแป้ง น้ำตาล ไขมัน และมุ่งกินแต่ผักแต่ปลา หรืออกไก่ แต่พวกเขาบาลานซ์การบริโภคด้วยการแบ่งปริมาณการกินให้สมดุล หรือกินในปริมาณพอเหมาะพอดี
“เมื่อผู้บริโภคเลือกซื้ออาหาร พวกเขาต้องการความจริงใจจากแบรนด์ เราจึงต้องพยายามเพิ่มตัวเลือกให้มีอาหารที่คำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และคุณจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าหากคุณปรับเปลี่ยน ทั้งผู้บริโภคและผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจทุกฝ่าย จะพอใจและตอบสนองต่อแบรนด์คุณในทางบวกแทบทั้งสิ้น”
Craig Annis, the company’s global vp of corporate affairs
นำมาสู่การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในบริษัทผู้ผลิตอาหาร โดยเฉพาะในหมู่มวลอาหารที่ไม่สามารถเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้เลยอย่าง น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว คุกกี้สอดไส้ครีม เบอร์เกอร์ ฯลฯ ซึ่งพวกเขาเลือกที่จะ Downsize (ลดขนาด) เพื่อตอบสนองพฤติกรรมและเทรนด์ใหม่ในการเลือกรับประทาน และลดทอนภาพลักษณ์ของความเป็นอาหารวายร้ายในสายตาของกลุ่มคนรักสุขภาพ
“ไม่มีใครอยากใช้คำว่า ‘ไดเอท’ อีกต่อไปแล้ว หรือจะคำว่า ‘low-fat’ หรือ ‘no-fat’ ก็เชยสะบั้นหั่นแหลก เพราะในตอนนี้คำว่า Balance หรือ ความสมดุล นี่แหละที่สามารถให้มุมมองด้านบวกในการบริโภคได้มากที่สุด และปฏิเสธไม่ได้ว่า การเพิ่มกลุ่มสินค้า smaller product เข้าไปในสายการผลิต คือไอเดียที่ดีในการโอนอ่อนผ่อนตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”
Liz Aviles, vp of market intelligence at Upshot
Source: The Wall Street Journal
Source: Adweek
Source: Upi.com
Source: News.starbucks.com