อิปซอสส์ ประเทศไทย เปิดผลวิจัยภาพรวมโครงการ “ชิมช้อปใช้” ของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้คนไทย (ผู้บริโภค) หันมาทดลองใช้ “e-Wallet” ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในขณะที่ร้านค้าใช้แอปฯ “ถุงเงิน” โดยเก็บผลสำรวจในเฟสแรก จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศทางออนไลน์ จำนวน 500 คน มีอายุตั้งแต่ 18 – 60 ปีขึ้นไป ครอบคลุมตั้งแต่หัวข้อการมีส่วนร่วม ความเข้าใจวัตถุประสงค์ของรัฐบาลในการออกมาตรการ พฤติกรรมการใช้จ่าย และความคิดเห็นต่อโครงการนี้
-
มีผู้ลงทะเบียน 10 ล้านคน
-
สัดส่วนของผู้ที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อเทียบกับสถิติคนที่ไม่เข้าร่วม อยู่ในอัตรา 59 : 41
-
97% ของคนลงทะเบียนรับสิทธิ มีความรู้ ความเข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการ
-
95% ยินดีที่จะแนะนำให้ครอบครัว ญาติ และเพื่อนฝูงร่วมรับเงินสนับสนุนส่วนนี้จากรัฐบาลสำหรับโครงการชิม ช้อป ใช้ในเฟสต่อๆ ไป
เปิดมุมมองคนสองเจน “วัย 50+” กับ “คนรุ่นใหม่” ที่มีต่อโครงการฯ ต่างกัน
เมื่อเจาะลึก Insights จะพบประเด็นน่าสนใจคือ
-
62% ของกลุ่มคนที่เข้าร่วมนโยบายและลงทะเบียนรับสิทธิ์ “ชิมช้อปใช้” มีความคิดที่ว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดีในการกระตุ้นการใช้จ่าย
-
44% เข้าร่วม เพราะคิดว่าเงินจำนวนนี้มาจากภาษีของพวกตน
-
41% มองว่าเป็นสิทธิ์ที่พวกเขาควรจะได้รับจากรัฐบาล
เมื่อแบ่งตาม “กลุ่มอายุ” จะเห็นได้ชัดว่า “กลุ่มผู้สูงวัย” และ “วัยทำงาน” มีความคิดเห็นต่อเหตุผลที่ลงทะเบียนในการรับเงินจากรัฐบาลที่แตกต่างกัน
-
73% ของคนที่มีอายุ 50 – 59 ปี มองว่า “ชิมช้อปใช้” เป็นนโยบายที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย
-
แต่สำหรับผู้รับสิทธิ์อายุ 18 – 29 ปี มองว่านี่เป็นสิ่งที่เขาควรจะได้รับ เนื่องจากเงินสนับสนุนจำนวนนี้ เป็นเงินส่วนหนึ่งที่มาจาก “ภาษี” ที่พวกเขาจ่ายให้กับประเทศ
“ขั้นตอนเยอะ – กดรับสิทธิ์ไม่ทัน – ระบบไม่เสถียร” ปัญหาหลักโครงการฯ
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ ให้เหตุผลที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วม คือ
-
44% ขั้นตอนเยอะ และมองว่าเป็นเเรื่องยาก
-
42% กดรับสิทธิ์ไม่ทัน
-
22% ระบบไม่เสถียร
-
13% ไม่เข้าใจการใช้แอปฯ เป๋าตัง e-Wallet
-
7% ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้
-
2% ไม่มีสมาร์ทโฟน
-
1% ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
-
20% อื่นๆ
มีทั้งกลุ่ม “เห็นด้วย” และ “ไม่เห็นด้วย” ว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ – กระจายรายได้สู่ร้านค้าเล็ก
ต่อคำถามที่ว่าโครงการ “ชิปช้อปใช้” สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และกระจายรายได้สู่ธุรกิจขนาดเล็กได้หรือไม่นั้น ?
-
72% เชื่อว่าเศรษฐกิจ และร้านค้าขนาดเล็กได้รับผลประโยชน์
โดย 71% ของคนกลุ่มที่เชื่อว่าเศรษฐกิจ – ร้านค้าขนาดเล็กได้รับประโยชน์ เพราะตัวเขาเองวางแผนและมีความตั้งใจจะไปใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็ก หรือร้านค้ารายย่อยเท่านั้น
และอีก 56% มองว่าการรณรงค์ให้ใช้จ่าย นับเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี
-
28% คิดว่านโยบายนี้ ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายรายได้สู่ร้านค้าขนาดเล็กได้
โดย 63% ของคนกลุ่มนี้ ยังฝังใจว่าร้านค้าขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์
และอีก 49% ไม่เชื่อว่ามาตรการนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงในระยะยาว
คนใช้เงิน “ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค” มากสุด “ร้านธงฟ้า – เชนค้าปลีกขนาดใหญ่” สองช่องทางหลัก
เมื่อศึกษาหมวดสินค้า – บริการ และประเภทร้านค้าที่ผู้รับสิทธิ์ส่วนมากเลือกจะใช้จ่าย ใน 3 หมวดพบว่า
-
61% ใช้จ่ายไปกับ “ช้อป”
-
35% ใช้จ่ายกับไป “ชิม”
-
4% ใช้จ่ายไปกับ “ใช้” ในภาคเซอร์วิส เช่น ท่องเที่ยว
เหตุผลที่คนส่วนใหญ่นำเงินไปใช้กับ “ช้อป” หรือซื้อของเป็นหลัก เพราะด้วยความที่โครงการนี้ ผู้ที่ได้สิทธิ์ต้องใช้จ่ายภายใน 14 วันหลังจากเงินเข้าแอปฯ เป๋าตุง และต้องใช้จังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน เพื่อกระจายรายได้ ดังนั้น ผู้ได้สิทธิ์จึงใช้ซื้อสินค้าที่ไม่ต้องวางแผนมาก เช่น สินค้าในชีวิตประจำวันทั่วไป ซึ่งสามารถใช้ได้นานกว่าการนำไปใช้จ่ายผ่านร้านอาหาร (ชิม)
ในขณะที่เหตุผลที่ผู้รับสิทธิ์ไม่ค่อยนำเงินไป “ใช้” เช่น ในภาคท่องเที่ยว เพราะด้วยความที่โครงการนี้มีเงื่อนไขระยะเวลาการใช้เงิน แต่การท่องเที่ยวต้องวางแผนล่วงหน้า และอาจมีการใช้จ่ายที่มากกว่าเงินที่ได้รับ
โดยรูปแบบร้านที่ผู้มีสิทธิ์เลือกเป็นจุดซื้อ หลักๆ มีดังนี้
-
47% ร้านธงฟ้า
-
38% ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, เทสโก้ โลตัส
-
36% ร้านค้า OTOP ท้องถิ่น
-
23% ร้านค้าขนาดเล็ก เช่น ร้านสะดวกซื้อ เช่น แฟมิลี่มาร์ท
-
14% ร้านค้าขนาดกลาง เช่น Blueshop
-
11% ห้างสรรพสินค้า เช่น เซ็นทรัล, สยามพารากอน
-
10% ผู้ค้ารายใหญ่ เช่น แม็คโคร
75% ใช้จ่าย 1,000 บาทหมดในครั้งเดียว ขณะที่ 30% อยากให้เพิ่มวงเงิน
เมื่อถามถึงความเหมาะสมของ “วงเงิน” ที่ได้รับมาจำนวน 1,000 บาท ปรากฏว่า
-
70% ของผู้เข้าร่วมโครงการ มีความเห็นว่าเงิน 1,000 บาท เป็นวงเงินที่มากพอ
-
30% เห็นว่ารัฐบาลควรเพิ่มวงเงิน
ในขณะที่มีการถามต่อถึงการใช้จ่ายเงินจำนวนนี้ พบว่ากลุ่มตัวอย่างกว่า 75% มีการใช้เงิน 1,000 บาทในครั้งเดียว และอีก 25% ทยอยจ่ายหลายครั้ง และมีคนจำนวนไม่น้อยที่หลังจบโครงการแล้ว ใช้จ่ายน้อยกว่าจำนวนเงินที่ได้รับมา โดยสามารถจำแนกดังนี้
-
22% ใช้จ่ายน้อยกว่า 500 บาท
-
15% ใช้จ่ายเป็นจำนวน 500 – 999 บาท
-
38% ใช้จ่ายเป็นจำนวน 1,000 บาท
-
26% ใช้จ่ายมากกว่า 1,000 บาท
เหตุผลว่าทำไมบางคนมีการใช้จ่ายผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” น้อยกว่าจำนวนเงินที่ได้รับ เพราะว่า
21% เป็นผลมาจากผู้ใช้พบปัญหาระหว่างการชำระค่าสินใจ และบริการผ่านแอปฯ เป๋าตัง
ทำให้ 16% ของคนที่ประสบปัญหาดังกล่าว ต้องสำรองเงินจ่ายค่าสินค้า และบริการเอง
และอีก 5% ตัดสินใจยกเลิกการซื้อ
หนึ่งในจิ๊กซอว์ผลักดันประเทศไทยสู่ “Cashless Society”
เหตุผลที่ทำให้ผู้ใช้ประสบปัญหาการใช้งาน นอกจากเรื่อง “ระบบ” แล้ว อีกปัจจัยหนึ่งคือ ผู้ใช้เกือบครึ่งยังไม่คุ้นชินกับการใช้เงินอิเล็กโทรนิกส์ หรือ e-Wallet โดยผลสำรวจพบว่า
ผู้รับสิทธิ์ 43% มีการใช้จ่ายผ่าน E-Wallet เป็นครั้งแรก และไม่คุ้นชินกับการใช้แอปพลิเคชั่น
ในขณะที่ 78% ไม่มีปัญหาระหว่างการชำระเงิน
57% ของผู้เข้าร่วมโครงการมีความคุ้นเคยในการใช้ E-Wallet อยู่แล้ว
ดังนั้น โครงการชิมช้อปใช้ที่ต้องใช้จ่ายผ่าน e-Wallet “เป๋าตัง” เท่านั้น ถือเป็นการ Educate ให้กับคนไทยได้คุ้นเคย และทดลองใช้จ่ายในรูปแบบ e-Wallet จึงถือเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่รัฐบาล กำลังผลักดันให้ประเทศไทยไปสู่ “Cashless Society”
จุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดของนโยบาย “ชิมช้อปใช้” คือความคาดหวังว่าประชาชนจะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ โดยสามารถสรุปจากผลสำรวจได้ว่า
-
56% ของผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้สึกว่าตนเองมีการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ
-
17% ไม่รู้สึกว่าพวกเขามีการใช้จ่ายที่มากกว่าเดิมส่วน
-
18% นั้นไม่แน่ใจว่าตัวเองมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นหรือไม่
โครงการ “ชิมช้อปใช้” ถือเป็นหนึ่งในโครงการของรัฐบาลที่ถูกวิจารณ์ในหลายด้าน อย่างไรก็ตามคนไทยอยากให้รัฐบาลดำเนินโครงการนี้ต่อ
-
74% ของประชาชนชาวไทยอยากให้รัฐบาลดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องหลังจบมาตรการแล้ว
-
14% ไม่แน่ใจ
-
12% รู้สึกอยากให้รัฐบาลยกเลิกโครงการนี้ไปเลย
ภาครัฐ – ผู้ประกอบการ – เจ้าของแบรนด์ – นักการตลาด เรียนรู้อะไรจากโครงการชิมช้อปใช้
ด้วยความทีเป้าหมายหลักของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ไปสู่ร้านค้าย่อยให้สามารถขายของได้ แต่ด้วยความที่ขั้นตอนยุ่งยาก ทำในรูปแบบ e-Wallet ซึ่งยังมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีประสบการณ์การใช้งานกระเป๋าเงินอิเล็คทรอนิกส์ และความไม่พร้อมของระบบ Infrastructure ทำให้เกิดเสียงไม่พอใจต่อโครงการนี้
แต่หลังจากคนลงทะเบียนได้ และเกิดการใช้จ่าย ทำให้ผลตอบกลับมาในเชิงบวก ดังจะได้เห็นได้จากผลสำรวจข้างต้น ที่ผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์แล้วจะแนะนำคนใกล้ตัว และอยากให้มีขึ้นต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับฝั่งผู้ประกอบการร้านค้า หลังจากผ่านเฟสแรกไปแล้ว เมื่อจัดขึ้นในเฟสสองตามมา มีร้านค้าเข้าร่วมเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม Learning ที่ภาครัฐ และภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของแบรนด์ นักการตลาดได้เรียนรู้คือ
ภาครัฐ
– การพัฒนาระบบ Infrastructure ให้มีความพร้อม ใช้งานง่าย และสะดวก เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้แก่ประชาชน
– ต่อไปภาครัฐ สามารถนำฐานข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชน มาทำโครงการเข้าถึงแต่ละ Segmenatation ได้เหมาะสม
– เป็นหนึ่งในเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
– เป็นเครื่องมือผลักดันให้คนไทยในวงกว้าง เร่ิมทดลองใช้ e-Wallet
– ด้วยความที่โครงการชิมช้อปใช้ ผูกอยู่กับธนาคารกรุงไทย ดังนั้นในอนาคตหากโครงการนี้ยังดำเนินต่อเนื่อง อาจขยายความร่วมมือกับธนาคารอื่น เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้งานได้มากขึ้น
ภาคเอกชน ทั้งผู้ประกอบการ เจ้าของแบรนด์ นักการตลาด
– นับวันการซื้อขายผ่าน e-Commerce และ c-Commerce จะเติบโตขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการ เจ้าของแบรนด์ นักการตลาด สามารถนำ Learning จากโครงการนี้ ไปพัฒนาการซื้อขายออนไลน์ของธุรกิจตนเอง
– ออกแบบ Customer Journey บนแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ให้ใช้งานง่าย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า เพราะถ้าใช้งานง่าย ย่อมดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาใช้จ่ายกับแบรนด์มากขึ้น