ในยุคดิจิทัลที่ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายดาย ด้วยอินเทอร์เน็ต ทำให้ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ใดของประเทศ ในเมืองใหญ่ หรือเมืองรอง สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เทรนด์ วิถีชีวิตได้ทั่วถึง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม มุมมอง หรือทัศนคติของผู้บริโภคให้มีความเป็น Globalization
ดังนั้นจากในอดีต กว่าที่เทรนด์ หรือปรากฏการณ์หนึ่งๆ เกิดขึ้นจากฝั่งใดฝั่งหนึ่งของโลกใบนี้ ต้องใช้ระยะเวลาเดินทาง และมีไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน แต่ทุกวันนี้ทันทีที่เกิดเทรนด์ เหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ใดก็ตาม ทั่วประเทศ ทั่วโลกสามารถรับรู้ถึงกันได้หมดในเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นหมายความว่า ผู้บริโภคยุคนี้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดมีลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้
-
ผู้บริโภค จะเปลี่ยนจาก “Consumer” เป็น “Prosumer” (Professional + Consumer)
-
ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด จะอยู่ในเมืองใหญ่ หรือเมืองรอง ผู้บริโภคสามารถอัพเดทเทรนด์ ข่าวสาร ทำงาน มีวิถีชีวิตแบบ Urban Life
-
มีความเป็นปัจเจก ต้องการอิสระ มี Demanding สูง
ผู้บริโภคในเมืองรอง ภูมิใจถิ่นกำเนิด – ไม่ต้องการเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ – มีอิสระในการเลือกสิ่งต่างๆ
“มายด์แชร์” (MINDSHARE) เผยผลสำรวจวิจัย “Hunt 2019” วัตถุประสงค์ในการทำวิจัยครั้งนี้ก็เพื่อสำรวจ และเข้าใจวิถีชีวิต แรงจูงใจของผู้บริโภคเมืองรองต่อการเสพย์สื่อ และเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อให้นักการตลาดนำข้อมูลไปปรับกลยุทธ์การตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) และเสริมด้วยการทำการศึกษาโดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผู้บริโภคในจังหวัดลำปาง สกลนคร นครสวรรค์ และนครศรีธรรมราช
จากการสำรวจวิจัย เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิต ทัศนคติ และพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค Globalization ดังนี้
- ผู้บริโภคในเมืองรองมีความพอใจในถิ่นฐานและมีความสุขกับชีวิตของตนเอง ไม่ได้ต้องการเข้ามาอาศัย หรือประกอบอาชีพในเมืองใหญ่เพียงอย่างเดียว
แต่มีแรงบันดาลใจในการชีวิตในเรื่องของการซื้อสินค้าและบริการจากคนในเมืองใหญ่ ดังนั้นอีคอมเมิร์ชจึงเข้ามาเติมเต็มคนบริโภคกลุ่มนี้ในการจับจ่าย
- มีอิสระในการเลือก ซึ่งสะท้อนออกมาทั้งในเรื่องของการเลือกประกอบอาชีพ การเลือกคอนเทนต์ และเลือกการเสพย์สื่อตามเนื้อหาและเวลาที่ต้องการ
- มีความผูกพันในท้องถิ่น และครอบครัวขยายของตนมากขึ้นผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมไปถึงการสร้างมารยาททางสังคมออนไลน์อีกด้วย
- การเสพย์สื่อของผู้บริโภคกลุ่มนี้เปลี่ยนไป เนื่องจากอายุไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการเลือกรับสื่อ แต่คือพฤติกรรมและความสนใจเป็นตัวกำหนดการเสพย์คอนเทนต์ สิ่งที่น่าจับตามองว่าเป็นคอนเทนต์ที่น่าสนใจของผู้บริโภคกลุ่มนี้คือเรื่องของอีสปอร์ตและการถ่ายทอดสด
- โลกออนไลน์ คือ แฟลตฟอร์มที่เสริมสร้างให้ชีวิตของตนดีขึ้นในทุกมิติ
- แม้การซื้อของออนไลน์จะเติบโต แต่ในผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็ยังต้องการการปฏิสัมพันธ์กับคน รวมไปถึงความเชื่อมั่นในการชำระเงินปลายทางมากกว่าการโอนเงินออนไลน์
- ความคุ้มค่ายังคงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้มองหา
คุณณัฐา ปิยะวิโรจน์เสถียร ผู้อำนวยการวางแผนและพัฒนาธุรกิจ มายด์แชร์ กล่าวว่า “ที่มาของการทำวิจัยครั้งนี้เพื่อต้องการทำความเข้าใจผู้บริโภคในเมืองรองในยุคปัจจุบันที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีความสะดวกและทั่วถึง ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกับคนเมืองใหญ่อย่างไร
สาระสำคัญที่เราพบคือ ปัจจุบันอำนาจการตัดสินใจอยู่ในมือผู้บริโภคอย่างแท้จริง พวกเขาต่างมองหาโอกาสที่จะสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง และพฤติกรรมผู้บริโภคไม่สามารถใช้เพียงข้อมูลทางประชากรศาสตร์อย่างอายุ เพศ หรือถิ่นที่อยู่เพียงอย่างดียวในการกำหนด นักการตลาดต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลทางพฤติกรรมควบคู่กันไป”
แบรนด์ ควรสร้างประสบการณ์ออนไลน์-ออฟไลน์ และให้ความสำคัญพฤติกรรมผู้บริโภค มากกว่าข้อมูลเชิง Demographic
ข้อคิดสำหรับนักการตลาดเมื่อต้องการสื่อสารผู้บริโภคกลุ่มนี้
- แบรนด์ควรให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์และการเข้าถึงทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์
- นักการตลาดควรวางกลุ่มเป้าหมายในการทำการสื่อสารจากพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งในปัจจุบันเราไม่สามารถกล่าวได้ว่าอายุมีผลต่อการเข้าถึงสื่อออนไลน์อีกต่อไป
- นักการตลาดควรพุ่งความสนใจไปที่เรื่องของปัจเจกและเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยข้อมูล data footprint
- แบรนด์ควรเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีอิสระในการเลือกตามความต้องการของแต่ละคน
- ในการทำแคมเปญการสื่อสาร แบรนด์ต้องมั่นใจว่าการสื่อสารนั้นครอบคลุมทั้งในส่วนของออนไลน์และออฟไลน์