คนไทยเชื่อพิษเศรษฐกิจอีกนาน ยอมรับโอกาสตกงานสูง

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

จากการสำรวจออนไลน์ของนีลเส็น ของผู้บริโภค ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ครั้งต่อปี เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ข้อกังวล และการจับจ่ายเงินจาก 52 ประเทศ จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ประมาณ 26,000 คน ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน ถึง วันที่ 6 ตุลาคม 2551

ผลการสำรวจในครั้งนี้ถูกจัดขึ้นในระหว่างวิกฤตการณ์เงินทั่วโลก ผลสำรวจล่าสุด เปิดเผยว่า จากทั้ง 52 ประเทศที่ถูกทำการสำรวจนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคใน 43 ประเทศ (หรือคิดเป็น 83%) ลดลงจากผลการสำรวจในครึ่งปีแรก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกค่อนข้างสิ้นหวัง โดย 62% คิดว่า โอกาสทางด้านการงานข้างหน้าจะไม่ค่อยดี และมากกว่าสองในสาม เชื่อว่า ภายใน 12 เดือนข้างหน้า เป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมที่จะซื้อสิ่งของที่พวกเขาต้องการ

สำหรับชาวไทย ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการสำรวจใน 6 เดือนที่แล้วจาก 87 เป็น 89 โดยแปดในสิบของผู้บริโภคชาวไทย คิดว่า เศรษฐกิจของประเทศตนในขณะนี้อยู่ในภาวะถดถอย และสี่ในสิบของผู้บริโภคไม่เชื่อว่าประเทศของตนจะหลุดพ้นจากสถานการณ์นี้ได้ในอีกสิบสองเดือนข้างหน้า

  • 72% ของคนไทย เชื่อว่า โอกาสทางด้านการงานภายใน 12 เดือนข้างหน้า จะไม่ค่อยดีหรือแย่
  • 68% เชื่อว่า ในช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ไม่ดี หรือไม่เหมาะสมที่จะซื้อสิ่งของที่พวกเขาต้องการภายใน 12 เดือนข้างหน้า
  • 58% มีความประสงค์จะเก็บเงินในส่วนที่เหลือเพื่อเก็บออมหลังจากใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ยังพบว่าผู้บริโภคชาวไทยสนใจที่จะลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Funds) เป็นจำนวนมาก

ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจ

40% ของผู้บริโภคชาวไทย กังวลเรื่องเศรษฐกิจ รองลงมาคือความไม่มั่นคงทางการเมือง (27%) ราคาน้ำมัน (20%) ปัญหาหนี้สิน (18%) และความมั่นคงในงาน (16%) ตามลำดับ

วิกฤตเศรษฐกิจของโลกจะยืดเยื้อไปอีกนานเท่าไรนั้น ไม่มีใครทราบ  แต่ที่แน่ๆ ผู้บริโภคคนไทยได้เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายตั้งแต่ปีที่แล้ว ค่าใช้จ่ายที่คนไทยเริ่มตัด คือ

  • ประหยัดไฟ (60%)
  • ลดการออกไปหาความบันเทิงนอกบ้าน (57%)
  • ซื้อเสื้อผ้าใหม่น้อยลง (56%)
  • ใช้รถยนต์น้อยลง (49%)
  • ลดค่าโทรศัพท์ (44%)

Read full story


  •  
  •  
  •  
  •  
  •