หากย้อนกลับไปศตวรรษที่ 19 ช่วงเวลานั้นเป็นยุครุ่งเรืองของ “ยุโรป” ที่ทรงอิทธิพลต่อโลก ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เมื่อวันเวลาเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ความเจริญรุ่งเรืองและสปอตไลท์ฉายมายัง “อเมริกา” ที่วางบทบาทตัวเองในฐานะ “พี่ใหญ่ของโลก”
ขณะที่ปัจจุบันโลกอยู่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “ศตวรรษแห่งเอเชีย” (Asian Century) ทั้งขนาดประชากร ที่มีประชากรรวมกันไม่ต่ำกว่า 4.6 พันล้านคน จากประชากรทั่วโลก 7.6 พันล้านคน, การเติบโตด้านเศรษฐกิจ, การเมือง, การศึกษา และด้านเทคโนโลยี
สิ่งที่ตามมาจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของภูมิภาคเอเชีย คือ การเพิ่มขึ้นของประชากรกลุ่มผู้มีรายได้สูง (Affluent) และกลุ่มมั่งคั่ง (Ultra Affluent)
ในเชิงการตลาด ผู้บริโภคกลุ่มนี้ถือว่ามีศักยภาพสูง ที่เจ้าของแบรนด์ – นักการตลาด – ผู้ประกอบการธุรกิจที่ต้องการเจาะเซ็กเมนต์นี้ ควรทำความรู้จักลงลึกถึงตัวตน และไลฟ์สไตล์ หรือวิถีชีวิตของผู้บริโภคกลุ่มนี้
Ipsos Thailand บริษัทวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคระดับโลก ได้เปิดผลการศึกษาชุด “วิถีชีวิตกลุ่มคนมั่งคั่งในทวีปเอเชีย” รวมทั้งประเทศไทย เพื่อฉายภาพว่า
ปัจจุบัน “ความหรูหรา” ได้กลายเป็น “Truly Luxury” หรือ “ความหรูหราที่แท้จริง” ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งของภายนอก แต่เป็นความหรูหราที่สะท้อนมาจากความคิด และคุณค่าที่มีอยู่ของแต่ละบุคคล เรียกได้ว่าเป็น “วิถีชีวิตที่หรูหราแบบใหม่”
รายงานชุดนี้ ได้ริเริ่ม และเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในปี 1997 โดยเบื้องต้นทำการศึกษา 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย แต่ปัจจุบันการศึกษานี้ ได้ขยายขอบเขตการสำรวจ ครอบคลุม 11 ประเทศทั่วเอเชีย รวมถึงประเทศไทย เพื่อศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มคนมีฐานะ หรือบุคคลที่ร่ำรวยในหลากหลายมุม เช่น การใช้สื่อ การใช้จ่าย การท่องเที่ยว ความสนใจต่อสินค้าฟุ่มเฟือย ตลอดจนทัศนคติ และความสนใจส่วนตัว
และนี่คือ 12 ตัวตนของกลุ่มผู้มีรายได้สูง และมั่งคั่งในเอเชีย และประเทศไทย
1. คนรวยเอเชีย อายุน้อยกว่าคนรวยยุโรป – อเมริกา และเป็นผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนของกลุ่ม Affluent หรือคนที่มีรายได้สูงระหว่าง “ยุโรป – อเมริกา – เอเชียแปซิฟิก” จะพบว่า
– กลุ่ม Affluent ในยุโรป
-
มีรายได้โดยเฉลี่ย 56,183 ยูโรต่อปี (1,888,852 บาท)
-
อายุเฉลี่ย 47 ปี ขณะที่สัดส่วนประชากรกลุ่มนี้แบ่งเป็น ผู้ชาย 60% ขณะที่ ผู้หญิง 40%
-
55% ของคนมีรายได้สูงในยุโรป มีการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่า
-
52% ของคนมีรายได้สูงในยุโรป มีบุตร
– กลุ่ม Affluent ในสหรัฐอเมริกา
-
มีรายได้เฉลี่ย 153,408 ยูโรต่อปี (5,157,522 บาท)
-
อายุเฉลี่ย 45 ปี ขณะที่สัดส่วนประชากรกลุ่มนี้ แบ่งเป็นผู้ชาย 52% และผู้หญิง 48%
-
75% ของคนมีรายได้สูงในสหรัฐฯ มีการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่า
-
42% ของคนมีรายได้สูงในสหรัฐฯ มีบุตร
– กลุ่ม Affluent ในเอเชียแปซิฟิก
-
มีประชากรกลุ่มนี้ 20.64 ล้านคน หรือคิดเป็น 18% ของประชากรในเอเชียแปซิฟิก
-
นับรวมประชากรกลุ่ม Affluent ทั้ง 20.64 ล้านคน มีรายได้รวมมากถึง 679,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 20 ล้านล้านบาท
-
อายุเฉลี่ย 41 ปี ขณะที่สัดส่วนประชากรกลุ่มนี้ แบ่งเป็นผู้ชาย 49% และผู้หญิง 51%
-
79% ของคนมีรายได้สูงในเอเชียแปซิฟิก มีการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่า
-
69% ของคนมีรายได้สูงในเอเชียแปซิฟิก มีบุตร
2. ประเทศไทย คนรวยเป็นผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย – ให้ความสำคัญกับการศึกษา
สำหรับประเทศไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ “กลุ่มคนมีรายได้สูง” (Affluent) และ “คนมั่งคั่ง” (Ultra Affluent) พบว่า
– คนมีรายได้สูง (Affluent) ในไทยมีจำนวน 1.8 ล้านคน รายได้รวมของคนกลุ่มนี้ 42,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณ 1.26 ล้านล้านบาท
-
รายได้เฉพาะรายบุคคล เฉลี่ยอยู่ที่ 75,000 บาทต่อเดือน
-
อายุเฉลี่ย 39 ปี ขณะที่สัดส่วนประชากรกลุ่มนี้แบ่งเป็นผู้ชาย 42% และผู้หญิง 58%
-
87% ของคนมีรายได้สูงในไทย มีการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่า
-
54% ของคนมีรายได้สูงในไทย มีบุตร
– คนมั่งคั่ง (Ultra Affluent) ในไทยมีจำนวน 187,000 คน รายได้รวมของคนกลุ่มนี้อยู่ที่ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือราว 300,000 ล้านบาท
-
รายได้เฉพาะรายบุคคล เฉลี่ยอยู่ที่ 275,000 บาทต่อเดือน
-
อายุเฉลี่ย 37 ปี ขณะที่สัดส่วนประชากรกลุ่มนี้แบ่งเป็นผู้ชาย 48% – ผู้หญิง 52%
-
73% ของคนมีรายได้สูงในไทย มีการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่า
-
53% ของคนมีรายได้สูงในไทย มีบุตร
จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนรายได้สูง และคนมั่งคั่งในประเทศไทย อายุเฉลี่ยต่ำสุด น้อยกว่าทั้งยุโรป, อเมริกา และเอเชียแปซิฟิก
ขณะเดียวกันสัดส่วนประชากร ทั้งกลุ่ม Affluent กับ Ultra Affluent ของไทย “ผู้หญิง” มีจำนวนมากกว่าผู้ชาย และคนไทยที่มีรายได้สูง ให้ความสำคัญกับการจบการศึกษาปริญญาตรีสูงถึงกว่า (87%) มากกว่าค่าเฉลี่ยของฝั่งยุโรป, อเมริกา, เอเชียแปซิฟิก
3. คนไทยกลุ่ม Millennials มั่งคั่งเร็วขึ้น
ผลการศึกษาชุดนี้ เจาะลึกกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่ม Millennials (อายุ 25 – 34 ปี) พบว่า ปัจจุบันคนกลุ่มนี้ เร็วขึ้น โดยเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 30 ปี และเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในสัดส่วน 62 : 38
ไลฟ์สไตล์ของ Affluent Millennials ชอบใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน, เล่นเกม, ชอบดื่มไวน์, ฟังเพลง, ถ่ายรูป, ทำอาหาร, สนใจด้านแฟชั่น และความงาม
4. ชอบทดลองสิ่งใหม่ – เป็นผู้นำในการตัดสินใจ – กล้าเสี่ยง
ผลวิจัยชุดนี้ได้สำรวจมุมมองกลุ่ม Affluent และ Ultra Affluent ในเอเชีย และไทย ทั้งการเปิดรับต่อสิ่งใหม่ – ความเป็นผู้นำ พบว่า
-
60% และ 53% ของกลุ่ม Affluent ในเอเชียแปซิฟิก ชอบทดลองสิ่งใหม่ และมีบทบาทในฐานะผู้นำ
-
64% และ 60% ของกลุ่ม Affluent ในประเทศไทย ชอบทดลองสิ่งใหม่ และมีบทบาทในฐานะผู้นำ
-
71% และ 62% ของกลุ่ม Ultra Affluent ในไทย ชอบทดลองสิ่งใหม่ และมีบทบาทในฐานะผู้นำ
นอกจากนี้ยังพบว่าคนมีรายได้สูง และคนมั่งคั่ง เป็นกลุ่มที่ชอบความเสี่ยง เช่น กล้าที่จะเสี่ยงจากการลงทุน ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม เช่น ลงทุนในหุ้น
-
42% ของกลุ่ม Affluent ในเอเชียแปซิฟิก กล้าเสี่ยง
-
43% ของกลุ่ม Affluent ในประเทศไทย กล้าเสี่ยง
-
60% ของกลุ่ม Ultra Affluent ในประเทศไทย กล้าเสี่ยง
5. คนรวยเอเชีย และไทย ให้ความสำคัญกับการศึกษา
จากข้อมูล Demographic ในข้อ 1 และ 2 ข้างต้น มาลงลึกทัศนคติด้านการศึกษาของคนกลุ่ม Affluent และ Ultra Affluent พบว่า ทั้งคนมีฐานะในเอเชีย และในไทยมองว่า ความรู้และการศึกษาคือ สิ่งสำคัญ และสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
-
65% ของกลุ่ม Affluent ในเอเชียแปซิฟิก มองว่าความรู้และการศึกษา จะกลายเป็นข้อมูลที่ดีที่ทำให้เขาสามารถนำไปต่อยอดได้
-
67% ของกลุ่ม Affluent ในไทย มองว่าความรู้และการศึกษา จะกลายเป็นข้อมูลที่ดีที่ทำให้เขาสามารถนำไปต่อยอดได้
-
64% ของกลุ่ม Ultra Affluent ในไทย มองว่าความรู้และการศึกษา จะกลายเป็นข้อมูลที่ดีที่ทำให้เขาสามารถนำไปต่อยอดได้
นอกจากนี้ยังพบทัศนคติของคนมีฐานะทั้งในเอเชีย และในไทยว่า มีความสนใจที่จะศึกษาต่อ และยิ่งมีรวย ก็ยิ่งต้องการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
เช่น กรณีของผู้ประกอบการธุรกิจ ที่เจ้าของ หรือผู้ก่อตั้งเริ่มต้นจากศูนย์ และไม่ได้มีการศึกษาสูงมากนัก เมื่อวันที่ธุรกิจ และตัวเขาเองประสบความสำเร็จ โดย Insights ของคนกลุ่มนี้ มีความตั้งใจจะกลับไปศึกษาต่อ เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษา และความรู้เพิ่มเติม
-
49% ของกลุ่ม Affluent ในเอเชียแปซิฟิก บอกว่าสนใจจะศึกษาต่อ
-
55% ของกลุ่ม Affluent ในไทย บอกว่าสนใจจะศึกษาต่อ
-
61% ของกลุ่ม Ultra Affluent ในไทย บอกว่าสนใจจะศึกษาต่อ
จากผลวิจัยดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าในสังคมเอเชีย และไทย ยังคงมีค่านิยมความสำเร็จด้านการศึกษา และวุฒิปริญญา มากกว่ายุโรป และอเมริกา
6. มากกว่า 1 ใน 3 ของคนมีฐานะในเอเชีย – ไทย ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และยินดีสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
-
53% ของกลุ่ม Affluent เอเชียบอกว่า พวกเขาพร้อมและยินดีที่จะจ่ายมากกว่า สำหรับสินค้า หรือบริการที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
-
62% ของกลุ่ม Affluent ประเทศไทย พร้อมและยินดีที่จะจ่ายมากกว่า สำหรับสินค้า หรือบริการที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
-
71% ของกลุ่ม Ultra Affluent ประเทศไทย ยินดีที่จะจ่ายมากกว่า สำหรับสินค้า หรือบริการที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนมีรายได้สูง และคนมั่งคั่งในไทย ยินดีจ่ายเงินซื้อสินค้าที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียแปซิฟิก ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับเจ้าของแบรนด์ ผู้ผลิตสินค้า นักการตลาดที่ทำตลาดสินค้า-บริการที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม หรือแบรนด์ใดที่กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ แนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม หากสื่อสารเจาะตรงเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ ที่เปิดใจรับผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้แบรนด์มีโอกาสสูงในการได้ลูกค้ากลุ่มนี้
7. คนรวยในไทยติดมือถือ และเป็นผู้ใช้กลุ่มใหญ่ของบริการ Digital Payment
ผลวิจัยชุดนี้ ทำสำรวจถึงพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟน และ Digital Payment โดยเปรียบเทียบระหว่างปี 2018 – 2019 พบว่า ในปี 2019 คนมีฐานะทั้งในเอเชีย และไทย เสพติดการใช้สมาร์ทโฟน และเป็นกลุ่มใหญ่ที่ใช้บริการ Digital Payment มากขึ้น และเพิ่มขึ้นจากปี 2018 โดยเฉพาะสถิติในประเทศไทย มากกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย
-
47% ของกลุ่ม Affluent เอเชีย ติดการใช้สมาร์ทโฟน และใช้ Digital Payment ในปี 2019 เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ซึ่งอยู่ที่ 39%
-
51% ของกลุ่ม Affluent ประเทศไทย ติดการใช้สมาร์ทโฟน และใช้ Digital Payment ในปี 2019 เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ซึ่งอยู่ที่ 47%
-
55% ของกลุ่ม Affluent ประเทศไทย ติดการใช้สมาร์ทโฟน และใช้ Digital Payment ในปี 2019 เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ซึ่งอยู่ที่ 42%
8. นิยมซื้อของดี ชอบจิวเวลรี่ – นาฬิกาหรู – เครื่องแต่งกายที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดัง
ในแง่ของพฤติกรรมการช้อปปิ้งของคนรายได้สูง และมั่งคั่ง จะเลือกคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด ที่สามารถตอบสนองความต้องการและรูปแบบไลฟ์สไตล์ของตนเอง
จากสถิติพบว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มคนรายได้สูง และคนมั่งคั่ง ทั้งในเอเชีย และประเทศไทย ใช้จ่ายไปกับ 3 หมวดหลักคือ
-
จิวเวลรี่ มูลค่า 9,999 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 300,000 บาท
-
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4,999 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 150,000 บาท
-
นาฬิกาหรู 1,999 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 60,000 บาท
9. ไม่ใช่ซื้อแต่ของแบรนด์เนมระดับโลก แต่คนรวยเอเชีย – ไทย ยังอุดหนุนสินค้าผลิตในประเทศ
ในขณะที่คนมีรายได้สูง และคนมั่งคั่ง คือ หนึ่งในลูกค้ากลุ่มใหญ่ของสินค้าแบรนด์เนมระดับโลก แต่รู้หรือไม่ว่าคนกลุ่มนี้ยินดีที่จะซื้อ หรืออุดหนุนสินค้าท้องถิ่น หรือสินค้าที่ผลิตภายในประเทศตัวเองด้วยเช่นกัน
-
47% ของกลุ่ม Affluent เอเชีย ซื้อสินค้าท้องถิ่น หรือสินค้าที่ผลิตภายในประเทศตัวเอง
-
53% ของกลุ่ม Affluent ไทย ซื้อสินค้าท้องถิ่น หรือสินค้าแบรนด์ไทยที่ผลิตภายในประเทศ
-
58% ของกลุ่ม Ultra Affluent ไทย ซื้อสินค้าท้องถิ่น หรือสินค้าแบรนด์ไทยที่ผลิตภายในประเทศ
จากสถิติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าคนไทยให้ความสนใจสินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย สะท้อนได้ว่าคนไทย หันมาให้ความสนใจ “แบรนด์ไทย” มากขึ้น เหตุผลเนื่องจากแบรนด์ไทยหลายแบรนด์ สามารถพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้
ดังนั้นการใช้แบรนด์ไทย จึงช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของผู้ใช้ ทั้งในเชิง Uniqueness และโชว์ Taste & Style ของผู้ใช้
10. การท่องเที่ยว คือหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนมีฐานะชาวเอเชีย – ไทย และญี่ปุ่น แหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่ง
การเดินทางท่องเที่ยว ถือเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนมีฐานะ ทั้งชาวไทย และคนเอเชียชื่นชอบมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความจำเป็นในการเดินทางเพื่อธุรกิจ และผู้ที่ชอบเดินทางเพื่อการพักผ่อน จากสถิติพบว่า
-
กลุ่ม Affluent เอเชีย เดินทางไปต่างประเทศ 3.8 ครั้งต่อปี
-
กลุ่ม Affluent ไทย เดินทางไปต่างประเทศ 4 ครั้งต่อปี
-
กลุ่ม Ultra Affluent ไทย เดินทางไปต่างประเทศ 6 ครั้งต่อปี
ขณะที่ประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม อันดับหนึ่งคือ ญี่ปุ่น ตามด้วยฮ่องกง, สิงคโปร์, จีน, ยุโรป, เกาหลีใต้
11. คนรวยในไทย ฮิตท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ – สุขภาพ
สำหรับรูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มคนมีรายได้สูง และคนมั่งคั่งในประเทศไทย 3 อันดับแรกคือ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือเพื่อสุขภาพ ตามมาด้วยการท่องเที่ยวภายในประเทศ และการท่องเที่ยวเชิงสิ่งแวดล้อม
12. เสพสื่อทุกแพลตฟอร์ม และใช้สื่อโซเชียล เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
สำหรับรูปแบบสื่อที่กลุ่ม Affluent และ Ultra Affluent ในเอเชีย และไทยชื่นชอบ ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม แต่ใช้เวลากับเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันต่างๆ มากสุด ตามมาด้วยสื่อทีวี, หนังสือพิมพ์, แมกกาซีน แต่ทั้งนี้กลุ่มคนมีรายได้สูงชาวไทย ใช้เวลากับแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ มากกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย
ส่วนสื่อโซเชียล เป็นสื่อที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของ Affluent และ Ultra Affluent
-
กลุ่ม Affluent ชาวเอเชีย ใช้เวลากับแพลตฟอร์มสื่อโซเชียล โดยเฉลี่ยกว่า 380 นาทีภายใน 7 วันที่ผ่านมา หรือประมาณ 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
-
แพลตฟอร์มที่นิยมใช้คือ Facebook มากสุด (69%) รองลงมาเป็น YouTube (63%), Instagram (42%), LinkedIn (21%)
-
กลุ่ม Affluent และ Ultra Affluent ชาวไทย ใช้เวลากับแพลตฟอร์มสื่อโซเชียล มากกว่า 500 นาทีภายใน 7 วันที่ผ่านมา หรือประมาณ 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียแปซิฟิก
-
แพลตฟอร์มที่นิยมใช้คือ Facebook มากสุด (94%) ตามมาด้วย YouTube (90%), Instagram (61%) และ LinkedIn (18%)
5 กลยุทธ์แบรนด์ชนะใจ Affluent – Ultra Affluent
ด้วยความที่ผู้บริโภคกลุ่ม Affluent และ Ultra Affluent เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ชอบสินค้าไลฟ์สไตล์ที่บ่งบอกสไตล์ หรือความเป็นตัวเอง ชอบสร้างความมั่งคั่ง ชอบท่องเที่ยวต่างประเทศ และชอบสินค้า – บริหาร หรือสิทธิประโยชน์สุดพิเศษเฉพาะบุคคล (Exclusive) ดังนั้น การจะชนะใจผู้บริโภคกลุ่มนี้ แบรนด์ต้องเข้าใจตัวตน และใช้กลยุทธ์ดังนี้
– นำเสนอประสบการณ์แปลกใหม่ และ Exclusive
– เน้นสร้าง Emotional Connection
– แบรนด์ต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และสื่อโซเชียล เพื่อเข้าถึง และสร้าง Engagement กับผู้บริโภคกลุ่มนี้
– คนรวยในเอเชีย และไทย ไม่ใช่แต่จะซื้อเฉพาะแบรนด์เนมต่างประเทศ แต่ยังใช้สินค้าท้องถิ่น หรือสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ดังนั้นแบรนด์ไทยที่มีคุณภาพดี มาตรฐานสากล และออกแบบแพ็คเกจจิ้งสวยงาม ก็มีโอกาสที่จะชนะใจผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ไม่แพ้ Global Brand
– แบรนด์ควรนำเสนอคอนเซ็ปต์เพื่อสิ่งแวดล้อม เพราะผู้บริโภคกลุ่ม Affluent – Ultra Affluent ยินดีจ่ายเพิ่มขึ้น หากผลิตภัณฑ์ หรือบริการนั้นตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม