ในโลกออนไลน์ก็ไม่ต่างไปจากโลกจริงที่เราอยู่ มีทั้งความสนุกและความบันเทิง ว่าจะเป็นการดูหนังฟังเพลง หรือการได้ใกล้ชิดดาราคนโปรด การใช้ชีวิตที่สุดสบายไปพร้อมๆ กับการทำงานบนโลกออนไลน์ หรือแม้แต่การช้อปปิ้ง แต่ในโลกออนไลน์ก็ยังมีเรื่องเศร้า โดยเฉพาะเมื่อเหล่าโจรก่ออาชญากรรมทางการเงินกับคุณ แต่เราจะรับมืออย่างไร เพราะโจรเหล่านี้คงไม่ส่ง Line หรือแมสเซสมาเตือนก่อนว่า “เราจะโจรกรรมเงินของท่านแล้วนะ!!!”
คงเป็นเรื่องของผู้ใช้ที่จะต้องสรรหาวิธีป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งโปรแกรมสแกนไวรัสที่โจรอาจจะแอบแฝงเข้ามากับมัลแวร์ต่างๆ หรือการใส่พาสเวิร์ดให้มันยุ่งยาก แต่ก็จะกลายเป็นความลำบากของผู้ใช้งานเสียเอง แต่อย่างน้อยหากเรารู้เท่าทันโจรว่าจะมาไม้ไหนก็คงจะเป็นการป้องกันตัวเองได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว
1. การหลอกลวง
หนึ่งในวิธีการที่โบราณที่สุดแต่ก็ได้ผลมากที่สุดวิธีหนึ่งคือการหลอกลวง ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐต้องการตรวจสอบเงินในบัญชี หรือการหลอกลวงให้โอนเงินเป็นจำนวนมาก ยังคงมีอยู่และเป็นหนึ่งในวิธีที่โจรมักนิยมนำมาใช้ โดยอาศัยความตกใจของผู้ถูกหลอกลวง ในยุคสมัยนี้การหลอกลวงได้พัฒนาไปสู่การส่งอีเมล์ที่มีมัลแวร์เพื่อให้เหยื่อเปิดอีเมล์ ซึ่งทำให้มัลแวร์สามารถเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน แล้วล้วงเอาข้อมูลต่างๆ ออกมา
2. ทดลองใช้ดูซิ
ในอดีตการทดลองใช้โปรแกรมเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป็นเสมือนการวางแผนการตลาดรูปแบบหนึ่ง เมื่อทดลองใช้แล้วสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้การซื้อโปรแกรมเหล่านั้นก็จะเกิดขึ้นหรือหากไม่สนใจเมื่อโปรแกรมหมดอายุก็จบกันไป แต่สำหรับโจรแล้วการทดลองใช้คือฉากหน้า เมื่อทำการทดลองใช้ก็เท่ากับยอมรับในการซื้อสินค้า ซึ่งราคาจะแพงเกินกว่าที่ประกาศขายในระบบหรือเกินกว่าที่ควรจะเป็น แต่กว่าจะรู้ตัวเงินก็ถูกโอนไปแล้ว และยากที่จะได้คืน
3. ใช้ความรักเป็นเครื่องมือ
นี่เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ได้รับความนิยมในหมู่โจรเพื่อใช้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับเหยื่อ โดยเหล่าโจรจะสร้างตัวตนปลอมในโลกออนไลน์จากนั้นก็จะนำรูปของคนอื่นที่ดูดีสวยหล่อ รวมถึงการตั้งสถานภาพ สถานะทางการเงินหลอกขึ้นมา จากนั้นก็หาเหยื่อแล้วตีสนิทโดยใช้ความรักเข้ามาเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อสนิทใจการหลอกลวงข้อมูลต่างๆ ก็ทำได้ไม่ยาก รวมถึงการให้โอนเงินผ่านบริษัททางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร
4. ส่ง e-Card แทน e-Mail
ก่อนหน้านี้เราจะเห็นว่ามีการส่งอีเมล์เพื่อหลอกให้เหยื่อเปิดอ่าน ซึ่งในอีเมล์นั้นจะมีมัลแวร์ที่พร้อมเจาะระบบเพื่อล้วงข้อมูลของเหยื่อ แต่ในกรณีนี้คือเหยื่อมีการป้องกันตัวเองโดยไม่เปิดอีเมล์ที่ไม่รู้จักหรือไม่เปิดอีเมล์ที่ต้องสงสัย นั่นทำให้เหล่าโจรพัฒนาไปสู่การส่ง e-Card การ์ดอวยพรแบบออนไลน์ แน่นอนว่าโจรเหล่านี้พอจะมีข้อมูลของเหยื่ออยู่พอสมควรอย่างน้อยก็ต้องรู้ชื่อและนามสกุล จากนั้นโจรก็จะปลอมเป็นญาติของเหยื่อและส่ง e-Card มาอวยพร เมื่อเหยื่อเห็นว่าส่งมาจากญาติก็จะเปิดดู และนั่นก็เป็นช่องทางที่ทำให้มัลแวร์สามารถเข้าสู่ระบบ
5. WiFi ใช้ล่อแมงเม่า
อย่างที่ทราบกันดีว่าค่าบริการอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือค่อนข้างแพง และยังมีข้อจำกัดมากมาย ซึ่งแตกต่างจาก WiFi ที่สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้อย่างไร้ขีดจำกัด คนส่วนใหญ่จึงโหยหาสัญญาณ WiFi ดั่งทองคำ ด้วยพฤติกรรมของคนแบบนี้ จึงเข้าทางเหล่าโจรที่พร้อมเปิด WiFi ให้ใช้ฟรี เพื่อล่อให้เหยื่อหลงเดินเข้ามาเกาะสัญญาณ WiFi ซึ่งจะทำให้โจรสามารถเข้าเจาะข้อมูลในเครื่องเหยื่อได้ง่ายกว่าส่งมัลแวร์ไปทางอีเมล์เสียอีก
6. ข้อเสนอสำหรับเฉพาะคนพิเศษ
เป็นข้อเสนอที่พิเศษจริงๆ เพราะคนที่เป็นเหยื่อเท่านั้นจึงจะกลายเป็นคนพิเศษของโจร ด้วยพฤติกรรมของคนง่ายๆ ที่ต้องการของดีราคาถูก สามารถสร้างภาพลักษณ์ สร้างความโดดเด่นในสังคม โจรจึงใช้จุดอ่อนนี้มาดึงความสนใจของเหยื่อ ด้วยการส่งข้อเสนอพิเศษแบบสุดๆ แบบ Exclusive เช่น โทรศัพท์รุ่นใหม่ราคาพิเศษถูกกว่าท้องตลาด 3 เท่า หรือแพ็คเกจท่องเที่ยวจากราคาท้องตลาดหลักหมื่น แต่สำหรับคนพิเศษเหลือแค่หลักร้อยเท่านั้น ซึ่งหากเหยื่อสนใจและเข้าไปดูข้อเสนอ เหยื่อก็จะรู้ว่าโจรแอบเข้าไปดึงข้อมูลความลับออกมาหมดแล้วต่อเมื่อเงินในบัญชีหายเกลี้ยง
7. เครื่องคุณติดไวรัส
เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอ เล่นเน็ตอยู่ดีๆ ก็เด้งมาบอกว่าตรวจพบไวรัสในเครื่องให้กดปุ่มนี้นั่นเพื่อสแกนและกำจัดไวรัส นี่คือหนึ่งรูปแบบการหลอกลวงที่ใช้ความตระหนกตกใจ เมื่อเหยื่อตกใจก็พร้อมที่จะกด แต่รู้หรือไม่ว่าการกดเพื่อให้สแกนและทำลายไวรัส มันคือการเปิดประตูต้อนรับมัลแวร์เข้าสู่เครื่อง ซึ่งก็คงไม่ต้องบอกซ้ำว่าเจ้าโจรจะทำอย่างไรกับข้อมูลในเครื่องของเหยื่อ
8. ใช้ความสงสารให้เป็นประโยชน์โจร
ภัยพิบัติหรือภาวะสงครามเป็นสิ่งที่สร้างความสูญเสียให้กับมนุษยชาติ และการส่งความช่วยเหลือก็เป็นสิ่งที่หลายคนพร้อมเต็มใจช่วยเหลือโดยเฉพาะการร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือ แต่โจรก็เห็นช่องทางนี้เป็นหนึ่งช่องทางในการหลอกลวง โดยการเปิดรับความช่วยเหลือเพื่อให้คนใจบุญทั้งหลายโอนเงินเข้ามา ซึ่งการหลอกลวงในรูปแบบนี้ถือเป็นการหลอกลวงที่น่าประณามมากที่สุดรูปแบบหนึ่ง จึงควรศึกษาให้รอบคอบก่อนโอนเงินเพื่อช่วยเหลือ
9. เรียกค่าไถ่ไฟล์สำคัญ
นี่ไม่ใช่การหลอกลวงแต่เป็นหนึ่งในรูปแบบอาชญากรรมทางออนไลน์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ด้วยรูปแบบที่เรียกว่า Ransomware ซึ่งเป็นมัลแวร์ชนิดหนึ่ง โดย จะเข้าไปในระบบแล้วทำการล็อคไฟล์สำคัญโดยใช้รหัส ไม่ว่าจะเป็นไฟล์เอกสาร ไฟล์รูปภาพ เป็นต้น ซึ่งรหัสจะเปลี่ยนไปแบบไร้รูปแบบ เหยื่อจะไม่สามารถเปิดไฟล์นั้นได้ เช่น รูปครอบครัวที่ถ่ายไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือเอกสารทางบัญชีที่สำคัญ ซึ่งโจรจะแจ้งจำนวนเงินที่ต้องโอนเพื่อแลกกับรหัสในการปลดล็อกไฟล์นั้นๆ
10. จากเพื่อนกลายเป็นตัวเราซะงั้น
หนึ่งในรูปแบบการหลอกลวงที่ไม่ได้ต้องการเงินคือการปลอมแปลงเป็นตัวของเหยื่อเอง เพื่อนำไปหลอกเพื่อนคนอื่นๆ ใน Facebook ของเหยื่อ และจะบอกว่าเหยื่อเองก็ถูกหลอกแบบนี้เช่นกัน โดยการแอบนำโปรไฟล์และรูปภาพของบุคคลอื่นที่เป็นเพื่อนของเหยื่อใน Facebook เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลของเหยื่อ ซึ่งเมื่อโจรแอบเอาข้อมูลและรูปภาพของบุคคลอื่นมาสวมรอยก็จะมาขอเป็นเพื่อนใหม่อีกครั้ง เมื่อเหยื่อเห็นว่าเป็นคนรู้จักมาขอเป็นเพื่อนก็จะรับ และนั่นคือช่องทางที่เปิดให้โจรแอบมาขโมยข้อมูลของเหยื่อ