อาหารแช่เย็น-แช่แข็ง วิถีคนยุคใหม่

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

ทุกคนต้องบอกเป็นเสียงเดียวว่า “อาหาร” เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต เพราะคนทุกคนต้องรับประทานอาหาร แม้ว่ารูปแบบของอาหารจะถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องทั้งประยุกต์ปรุงแต่งให้เข้ากับยุคสมัย

บรรจุภัณฑ์สวยงามละลานตา สะดวกสบาย ทันใจเมื่อต้องการบริโภคด่วน  อาหารแช่แข็งออกสู่ตลาดมานานแล้ว แต่ไม่ได้รับความนิยม ขณะที่อาหารแช่เย็นเพิ่งเริ่มออกจากจุดสตาร์ท แต่ที่น่าจับตาที่สุดผู้ให้สำรวจบอกว่า “เน้นคุณภาพเหนือกว่าราคา” และเมนูสุขภาพจะมาแรง

โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ตรงกับวิถีชีวิตและความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด อาหารประเภทปรุงสำเร็จหรือกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเป็นที่นิยมจากผู้บริโภคเนื่องจากสะดวก รวดเร็ว และส่วนใหญ่มีรสชาติดี นอกจากนี้ในปัจจุบันก็มีการพัฒนาอาหารเป็นในรูปแบบของอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน หรือที่เรียกว่า อาหารแช่เย็น-แช่แข็ง ที่กำลังมาแรงขานรับไลฟ์สไตล์คนเมืองที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ อาหารแช่แข็งออกสู่ตลาดมานานแล้ว แต่ไม่ได้รับความนิยม ขณะที่อาหารแช่เย็นเพิ่มเริ่มออกจากจุดสตาร์ท

ด้วยมูลค่าตลาดที่มหาศาลของอาหารแช่เย็น-แช่แข็ง ประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาท จึงเป็นแรงจูงใจให้หนังสือพิมพ์ “บิสิเนสไทย” และ “ฟาร์อีสท์ ดีดีบี” หรือบริษัท ฟาร์อีสท์ ดีดีบี จำกัด (มหาชน) เอเยนซี่แถวหน้าของเมืองไทย ผู้ให้คำปรึกษาและให้บริการครบวงจรเกี่ยวกับงานสร้างแบรนด์ งานโฆษณาและสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ รวมทั้งงานวิจัยตลาดและผู้บริโภค ร่วมมือกันเสนอมุมมองใหม่ๆของผู้บริโภคเกี่ยวกับ “ทัศนคติและพฤติกรรมการรับประทานอาหารแช่เย็น-แช่แข็ง” ผ่าน  Insights Springboard By Far East DDB เครื่องมือในการศึกษาเบื้องลึกของผู้บริโภค ซึ่งเป็นการผสมผสานวิธีการวิจัยหลากหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน

บริษัท ฟาร์อีสท์ ดีดีบี จึงได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับทัศนคติและพฤติกรรมการรับประทานอาหารแช่เย็น/แช่แข็ง โดยสำรวจความคิดเห็นกับกลุ่มตัวอย่างชายและหญิงที่มีอายุระหว่าง 30–55 ปี จำนวน 200 คน ในเขตกรุงเทพฯ ผ่านทาง Insights Springboard ซึ่งเป็นเครื่องมือการศึกษาเบื้องลึกของผู้บริโภคที่สามารถทำให้เข้าใจเกี่ยวกับทัศนคติและความต้องการของผู้บริโภคและสังคมแวดล้อมได้อย่างลึกซึ้ง

ขายมานาน แต่คนไทยเพิ่งฮิต

จากวิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป คนในสังคมต่างเร่งรีบกับการทำงานเพื่อแข่งกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้พฤติกรรมหลายๆอย่างเปลี่ยนไป รวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ซึ่งในสังคมมีแนวโน้มในการรับประทานอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารปรุงสำเร็จมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานหรือที่เรียกว่า อาหารแช่เย็น-แช่แข็ง เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้ดีทีเดียว

ซึ่งหากพูดถึงอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานที่เรียกกันว่าอาหารแช่เย็น-แช่แข็งนั้น หลายคนคงสงสัยว่าเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร อาหารแช่เย็น-แช่แข็งนั้น เหมือนกันตรงที่ใช้วิธีการเก็บรักษาสภาพของอาหารโดยการทำให้อาหารมีอุณหภูมิต่ำ เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และหากจะรับประทานก็สามารถนำมาอุ่นร้อนๆ รับประทานได้ทันที

แต่ต่างกันตรงที่อุณหภูมิที่ใช้ในการเก็บรักษาสภาพของอาหาร กล่าวคือ อาหารแช่เย็นนั้น จะใช้วิธีการเก็บรักษาสภาพของอาหารโดยการแช่เย็นในอุณหภูมิประมาณ 4-7 องศาเซลเซียส ในขณะที่การแช่แข็ง ใช้อุณหภูมิที่ต่ำกว่าประมาณ -18 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บอาหารได้นานกว่า

ในความเป็นจริงแล้ว อาหารแช่เย็น-แช่แข็ง ถือเป็นรูปแบบอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่ หลายในตลาดต่างประเทศมานานกว่า 50 ปี ไม่ว่าจะเป็นในญี่ปุ่น อเมริกา รวมถึงประเทศในแถบยุโรป ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการส่งออกอาหารแช่แข็งที่มีคุณภาพเป็นอันดับต้นๆของโลก โดยเฉพาะอาหารทะเลแช่แข็ง (เช่น กุ้งแช่แข็ง ปลาแช่แข็ง เป็นต้น) กลับเป็นประเทศที่เริ่มหันมาให้ความสนใจอาหารแช่แข็งได้เพียงไม่นาน

สังเกตได้จากการที่ผู้ประกอบการอาหารมีการวางจำหน่ายเมนูอาหารแช่เย็น-แช่แข็ง และมีสถานที่วางจำหน่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกและหาซื้อรับประทานได้ง่าย อีกทั้งยังมีการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยการใช้นักแสดงที่มีชื่อเสียงเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาสนใจอาหารแช่เย็น-แช่แข็ง

และเนื่องจากชื่อเสียงในการผลิตที่เป็นที่ยอมรับ รวมถึงความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ ทำให้คนในสังคมให้การยอมรับในคุณภาพของอาหารแช่เย็น-แช่แข็งมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีวิถีการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ และไม่ค่อยมีเวลาในการปรุงอาหาร หันมาสนใจและเลือกรับประทานอาหารแช่เย็น-แช่แข็ง และจากผลการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ผู้วิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดนั้นรู้จักอาหารแช่เย็น-แช่แข็ง และกว่า 78% ที่รับประทานใน 3 เดือนที่ผ่านมา

หลากเมนู .. หลายทางเลือก

จากอาหารแช่แข็งในรูปแบบอาหารสดแช่แข็งที่มีการผลิตเพื่อการส่งออกแล้ว ปัจจุบันผู้ประกอบ การได้มีการพัฒนาอาหารในรูปแบบอื่นๆอย่างอาหารพร้อมปรุง เช่น กุ้งปอกเปลือกแช่แข็ง เนื้อปลาแช่แข็ง เนื้อไก่แช่แข็ง เป็นต้น รวมถึงอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานที่มีหลากหลายเมนูเพื่อให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมนูข้าวเสิร์ฟพร้อมกับ (เช่น ข้าวพะแนงหมู ข้าวแกงเขียวหวานไก่ เป็นต้น) อาหารจานเดียว (เช่น ข้าวต้มหมู ข้าวผัดรวมมิตร เป็นต้น) อาหารเส้น/ก๋วยเตี๋ยว (มักกะโรนี สปาเก็ตตี้ เกี๊ยวกุ้งน้ำ เป็นต้น) กับข้าว (เช่น ห่อหมก ฉู่ฉี่กุ้ง เป็นต้น) อาหารว่าง (เช่น ขนมจีบ ซาลาเปา เป็นต้น) หรือแม้แต่ขนมหวานต่างๆ (เช่น บัวลอยเผือก สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน เป็นต้น)

โดยผู้วิจัยได้ทำการสำรวจความนิยมที่มีต่อเมนูอาหารแช่เย็น/แช่แข็ง พบว่า เมนูข้าวเสิร์ฟพร้อมกับ และอาหารว่าง ได้รับความนิยมจากกลุ่มตัวอย่างเท่าๆกันคือ 27% รองลงมาได้แก่ อาหารจานเดียว 24% และอาหารเส้น/ก๋วยเตี๋ยว 17% ส่วนเมนูกับข้าวและขนมหวานนั้นกลับไม่ได้รับความนิยมเท่าใดนัก

เมื่อสอบถามความถี่ในการรับประทานอาหารแช่เย็น/แช่แข็ง ก็พบว่ากลุ่มตัวอย่างถึง 33% รับประทานอาหารแช่เย็น/แช่แข็ง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และอีกกว่า 30% รับประทานอย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน

ซึ่งสถานที่ๆคนนิยมหาซื้ออาหารแช่เย็น/แช่แข็งรับประทาน ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นที่นิยมจากผู้บริโภค เนื่องจากใกล้บ้าน มีสาขามากมายให้เลือกใช้บริการได้ง่าย นอกจากนี้ก็มีห้าง สรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ โดยในการซื้อแต่ครั้งนั้น ส่วนใหญ่นิยมซื้อครั้งละ 1-2 กล่องเท่านั้น

ความสะอาดเป็นหลัก รสชาติเป็นรอง

นอกจากเมนูที่หลากหลายแล้ว รสชาติของอาหาร คุณค่าทางโภชนาการ ความสะอาด และมาตรฐานความปลอดภัยของกระบวนการผลิตก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความใส่ใจเช่นกัน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าอาหารแช่เย็น/แช่แข็งมีรสชาติเทียบเท่าอาหารปรุงสดใหม่ 59% มีคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่ากับอาหารสด 56% มีปริมาณเหมาะสมกับราคา 50% และสามารถใช้รับรองแขกในงานเลี้ยงสังสรรค์ได้ 56% แต่ก็มีกลุ่มตัวอย่างบางส่วนที่เห็นว่าอาหารแช่เย็น/แช่แข็งนั้น ยังมีกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานและความปลอดภัยที่เพียงพอ

นอกจากนี้ทีมวิจัยจึงได้ทำการสำรวจความคาดหวังของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่ออาหารแช่เย็น-แช่แข็ง พบว่า ความสะอาด ถูกสุขอนามัย เป็นสิ่งที่กลุ่มตัวอย่างคาดหวังมากที่สุด 83% รองลงมาคือรสชาติอาหารที่อร่อย 77% และเมนูที่หลากหลาย 71% นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างยังคาดหวังว่าอาหารแช่เย็น-แช่แข็งจะใช้วัตถุดิบที่มีความสดใหม่และมีคุณภาพ มีตัวแทนจำหน่ายใกล้บ้าน มีใบรับรองระบบมาตรฐาน มีฉลากบอกปริมาณสารอาหารข้างกล่อง มีโปรโมชั่น และมีเมนูเพื่อสุขภาพ

เนื่องจากปัจจุบัน คนในสังคมมีการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ความสะอาด ถูกสุขอนามัย และเมนูเพื่อสุขภาพ จึงเป็นสิ่งที่หลายๆคนคาดหวังว่าจะได้จากอาหารแช่เย็น/แช่แข็ง ซึ่งก็มีผู้ประกอบ การหลายรายที่หันมาปรับปรุงเมนูอาหารเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคเหล่านี้มากขึ้น เช่น เมนูข้าวกล้อง อาหารมังสวิรัติ หรืออาหารเจ เป็นต้น

เมนูสุขภาพ ตลาดใหม่ในอนาคต

จากการศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมการรับประทานอาหารแช่เย็น/แช่แข็ง แม้จะพบว่า คนส่วนใหญ่รู้จักและเคยรับประทานอาหารแช่เย็น/แช่แข็ง แต่หลายคนก็ยังไม่นิยมรับประทานอาหารประเภทนี้ ซึ่งอาจเนื่องมาจากความเคยชินของคนในสังคมไทยที่นิยมรับประทานอาหารมื้อหลักที่ปรุงสุกใหม่ และไม่นิยมรับประทานอาหารที่เก็บค้างคืนมากนัก

ดังนั้นหากผู้ประกอบการต้องการขยายตลาดและกระตุ้นยอดขาย ควรจะต้องคำนึงถึงความต้อง การของผู้บริโภคให้มากขึ้น เนื่องจากอาหารแช่เย็น/แช่แข็งเป็นอาหารที่จะต้องอุ่นร้อนก่อนรับประทาน ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็มักจะอุ่นทั้งบรรจุภัณฑ์ จึงมีบางคนที่กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้บรรจุภัณฑ์นั้นๆ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยเพียงพอจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะความทนทานต่อความร้อนในการอุ่นอาหาร

นอกจากนี้การปรับปรุงตัวอาหารก็ถือเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเรื่องของ ความสะอาด ถูกสุขอนามัย รสชาติ หรือแม้แต่เมนูที่หลากหลาย อย่างเช่น การปรับปรุงเมนูเพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคที่รักการดูแลสุขภาพ ว่ารับประทานแล้วดีต่อสุขภาพ และได้คุณค่าทางอาหารเหมือนรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ เป็นต้น

ซึ่งเมนูสุขภาพนั้น ถือว่าเป็นทางเลือกที่มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากคนในสังคมมีการรับรู้เรื่องของสุขภาพกันมากขึ้น อย่างในปัจจุบันที่ผู้บริโภคเริ่มนิยมการรับประทานอาหารที่เหมาะกับกรุ๊ปเลือดมากขึ้น เช่น คนเลือดกรุ๊ปโอนั้น มักจะมีปัญหาระบบเผาผลาญพลังงานไม่ดี และมีความเสี่ยงต่อโรคเลือดแข็งตัวช้า ไทรอยด์ และลำไส้อักเสบมากกว่าคนอื่น จึงควรรับประทานอาหารที่บำรุงเลือดและให้ไอโอดีนสูงอย่างอาหารทะเล รวมถึงผักใบเขียวที่ให้วิตามินเคสูง เพื่อช่วยให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น

ต่อมาคือคนเลือดกรุ๊ปเอ ที่มักจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง เบาหวาน และโรคหัวใจมากกว่าคนเลือดกรุ๊ปอื่น ควรรับประทานผักผลไม้ และหลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าว

สำหรับคนเลือดกรุ๊ปบี ซึ่งมักจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าคนเลือดกรุ๊ปอื่น ดังนั้น ควรรับประทานข้าวกล้องและผักใบเขียวที่มีวิตามินและแร่ธาตุ เพื่อช่วยต้านไวรัสและทำให้เม็ดเลือดขาวแข็งแรงขึ้น

สุดท้ายคือคนเลือดกรุ๊ปเอบี ซึ่งควรรับประทานผัก อีกทั้งมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี ควรรับประทานผักเพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันที่เป็นเบส และเพื่อปรับสภาพกรดในกระเพาะอาหารให้สมดุล เนื่องจากคนเลือดกรุ๊ปนี้มักจะมีกรดในกระเพาะน้อย จึงควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ไก่ เป็ด เป็นต้น

ซึ่งในอนาคต นอกจากเมนูสุขภาพแล้ว เชื่อว่าอาหารแช่เย็น/แช่แข็งเมนูอื่นๆก็คงจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนที่ทำงานจนไม่มีเวลา และต้องการความสะดวกรวดเร็ว หรือแม้แต่คนที่มีเวลา แต่ไม่ชอบทำอาหาร ซึ่งคงต้องดูกันต่อไปว่าอาหารแช่เย็น/แช่แข็งจะเป็นที่นิยมจนสามารถทดแทนอาหารปรุงสุกใหม่ในทุกๆ มื้อได้หรือไม่

ขณะที่ทางฟากฝั่งของเครือเจริญโภคภัณฑ์พี่เพิ้มธุรกิจอาหารของไทย โดยมีบริษัทซีพีเอฟ ที่เป็นบริษัทในเครือเป็นผู้รับบทบาท เปิดฉากลุยอาหารพร้อมรับประทานไม่หยุดยั้งด้วยการแตกแบรนด์ออกหลายแบรนด์ เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันไป เป็นการครอบคลุมตลาดให้กว้างมากที่สุด โดยเฉพาะตลาดที่ตอบรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่ผ่านมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10%
      
นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานอาหารสำเร็จรูป บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เจ้าของสโลแกน “ครัวไทยครัวโลก” เปิดเผยว่า จากแนวโน้มตลาดอาหารแช่แข็งพร้อมทานมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทฯมีแผนจะรุกตลาดเต็มที่ ทั้งในแบรนด์ต่างๆที่บริษัทฯมีอยู่อย่าง ซีพีมีล บีเคมีล และอีซี่ส์โก ที่มีอยู่แล้ว แต่จะแตกต่างกันตรงที่ ช่องทางจำหน่าย ทีมขาย กลุ่มเป้าหมาย และระดับราคา ก็มีอัตราการเติบโตอยู่อย่างต่อเนื่องทุกปีเฉลี่ย 35% และแบรนด์ใหม่ๆที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
      
“คาดว่าภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าตลาดอาหารแช่แข็งพร้อมทานยังมีการเติบโตอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันนี้ตลาดรวมอาหารกล่องแช่แข็งยังเป็นตลาดที่เล็กมีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาทเท่านั้นเอง เมื่อมีผู้ประกอบการรายใหญ่ลงมาเล่นมากขึ้น ทำตลาดมากขึ้น ก็จะทำให้ตลาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย”

Source: Business Thai


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •