บทบาทใหม่ของ NFTs กลายเป็นเครื่องมือธุรกิจที่ช่วยสร้าง Consumer Loyalty ในยุคใหม่?

  • 426
  •  
  •  
  •  
  •  

 

มีข้อสังเกตน่าสนใจจากบทความของ Carla Calandra จาก Wunderman Thompson เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่าง NFTs และ การสร้างความภักดีของผู้บริโภค (Consumer Loyalty) ซึ่งมีหลายแบรนด์ที่พยายามใช้ประโยชน์จากการให้ผู้บริโภคเข้าถึงเอกสิทธิ์เฉพาะบุคคลเกี่ยวกับ NFTs เพื่อปลดล็อก consumer loyalty และสร้างการมีส่วนร่วมในโลก Metaverse

 

 

จากสมาชิกดิจิทัลสู่ร้านออฟไลน์ Flyfish Club

ตัวอย่างแรกจากร้านอาหาร NFT แห่งแรกในนครนิวยอร์ก ‘Flyfish Club’ ตั้งเป้าเตรียมจะเปิดร้านจริงๆ ที่เป็นร้านกายภาพในปี 2023 ซึ่งน่าสนใจคือ ร้านดังกล่าวจะรองรับเฉพาะลูกค้าที่เป็นสมาชิกของ Flyfish Club เท่านั้น ความพิเศษอีกอย่างก็คือ ลูกค้าจะใช้วิธีการชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัลเหมือนที่ใช้จ่ายใน NFTs

ตามแพลนร้านอาหารของสมาชิก Flyfish Club คาดว่าจะมีการออกแบบร้านที่หรูหราสไตล์ Omakase เป็นร้านอาหารซีฟู้ด มีค็อกเทลเลานจ์

Carla Calandra ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ Flyfish Club เปิดร้านออฟไลน์มีโอกาสสูงมากที่สมาชิกสามารถเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ที่ถืออยู่ (สมาชิก) ด้วยการปล่อยเช่า, ขายการเข้าถึงสิทธิของคนที่เป็นสมาชิกให้กับผู้อื่นเป็นรายเดือน แต่ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากของวงการอุตสาหกรรมร้านอาหาร และ NFTs ที่ทำแบบนี้

 

 

Coachella เทศกาลดนตรีใหญ่ระดับโลก

ทุกๆ ซัมเมอร์เราจะได้ยินเทศกาลดนตรีที่ชื่อว่า Coachella ซึ่งได้เปิด NFTs ไปเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรก โดยเป็นการแบ่งขายคอลเลคชั่น NFTs เป็น 3 แบบ ความน่าสนใจของ NFTs ของ Coachella ก็คือ การซื้อ Coachella Keys Collection ในแต่ละครั้งจะเป็นรูปแบบกลุ่ม 10 NFTs โดยผู้ซื้อจะได้รับบัตรผ่านสำหรับเทศกาลนี้แบบตลอดชีพไปเลย

สิทธิ NFTs ที่ว่านั้นนอกจากจะได้บัตรผ่านตลอดชีพ ยังรวมไปถึงร่วมรับประทานอาหารค่ำจากเชฟผู้มีชื่อเสียงและการเข้าถึงกิจกรรมแถวหน้า

ทั้งนี้ DJ Steve Aoki ซึ่งเป็นดีเจชาวอเมริกันชื่อดัง ได้พูดถึง A0K1VERSE ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผานมาว่า เป็นระบบนิเวศใหม่ที่เกี่ยวกับ Metaverse แบบไดนามิกที่ออกแบบมาสำหรับนักสะสม NFTs และเขาเป็นหนึ่งของคนที่สนับสนุน Passport NFT โดยทำงานร่วมกับสตูดิโอ Manifold ที่ต้องการมอบสิทธิพิเศษให้กับกลุ่มนักชมคอนเสิร์ตที่ถือ Passport NFT จะมีสิทธิ์เข้าชมคอนเสิร์ตเสมือนจริงและแบบตัวต่อตัว, ได้สิทธิ์ในการเข้าถึงการเผยแพร่ NFT ก่อนใคร รวมไปถึงกิจกรรมส่วนตัว และเครื่องแต่งกาย

 

 

Hennessy เปิดตัว NFTs เพื่อเป็นเจ้าของขวดแรกขวดสุดท้าย

Hennessy แบรนด์ Cognac ที่มีชื่อเสียงระดับโลกและในฐานะที่เป็นผู้ผลิต Cognac ยักษ์ใหญ่อีกรายของโลกทำให้มีคนสนใจอย่างมาก หลังจากที่ Hennessy เปิดตัว NFTs เป็นครั้งแรกในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ในราคา 226,450 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ NFT ผ่านแพลตฟอร์ม NFT BlockBar

ที่น่าสนใจเพราะว่า NFTs ที่ว่านั้นเป็นการเปิดขายสิทธิเป็นเจ้าของ “ขวดแรกและขวดสุดท้าย” สำหรับ Hennessy 8 รุ่นลิมิเต็ดจากบ้าน LVMH

กระบวนการซื้อง่ายๆ ก็คือ เมื่อนักสะสมซื้อ NFTs ขวด Hennessy เวอร์ชั่นดิจิทัลเพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของแล้ว นักสะสมแต่ละคนจะสามารถขอทรัพย์สินทางกายภาพได้ เช่น รูปปั้นที่ระลึก, โถเป่าบาคาร่าที่แกะสลัก, ปิเปต, ที่ยึดไม้ก๊อก, หีบและแผ่นรับรอง ฯลฯ

 

 

Patrón เปิดตัว NFT เป็นเจ้าของขวดผสมสูตรพิเศษ

Patrón แบรนด์ผลิตภัณฑ์เตกีล่าก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เปิดตัว NFT ตัวแรกเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อเปิดโอกาสให้นักสะสมซื้อสิทธิการเป็นเจ้าของ ‘ขวดผสมสูตรพิเศษ’ ที่มีแค่ 150 ขวดเท่านั้น ซึ่งเป็นรุ่นลิมิเต็ดอิดิชั่นที่ผลิตขึ้นมาเพื่อ NFT โดยเฉพาะ ซึ่งขายในราคา1.5 ETH ต่อขวด (ประมาณ 4,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยหาซื้อได้ที่ BlockBar.com การันตีว่าเป็นรุ่นที่หายาก ไม่สามารถทำซ้ำได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ระบบของ BlockBar จะพร้อมบันทึกความถูกต้องและการเป็นเจ้าของให้แบบดิจิทัล และสามารถส่งมอบ, ซื้อขาย หรือมอบผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ผ่านตลาด BlockBar.com

 

Credit: PATRÓN

 

จากหลายๆ ตัวอย่างที่เล่ามาจะเห็นว่าแบรนด์หรือธุรกิจพยายามเล่นกับกระแส NFTs ที่กำลังมาแรง แต่ก็ไม่ลืมที่จะสร้าง engagement กับผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะการสร้าง consumer loyalty ที่เป็นกลยุทธ์เพื่อสร้าง Top of Mind ให้กับแบรนด์ได้ดีอีกวิธีหนึ่งในปัจจุบัน

 

 

 

ที่มา: wunderman thompson


  • 426
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม