7 ข้อธุรกิจต้องรู้ ว่าด้วยเรื่อง ‘เศรษฐกิจไทย 2568’ เปลี่ยน ‘ความท้าทาย’ เป็น ‘โอกาสทอง’

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

 

Thai-Econmy-2025-Cover 2

 

เข้าสู่ ปี 2025 ทิศทางของเศรษฐกิจไทยยังคงซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง โดยหนึ่งในปัจจัยที่น่าจับตามองที่สุด คือบทบาทของ AI ที่กำลังขยับจาก ‘ทางเลือก’ สู่ ‘ทางรอด’ สำหรับธุรกิจไทย ในขณะเดียวกัน Influencers และการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัลยังคงมีความสำคัญ ที่จะเป็นประตูสู่ ‘โอกาสทอง’ ท่ามกลางความยากลำบากในสนามแข่งธุรกิจยุคนี้

 

มุมมองภาพรวมเศรษฐกิจ 2568 เมื่อโอกาสและความเสี่ยงมาคู่กัน

 

ตลอดเดือนแรกของปี 2568 เห็นได้ชัดว่ากิจกรรมและเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจมีความเคลื่อนไหวที่คึกคักขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายกระตุ้นระยะสั้น อย่างเช่น เทศกาลตรุษจีน ที่ช่วยสร้างบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอย และเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่อาจเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงการแข่งขันจากจีน อาจกดดันตลาดไทยอยู่ไม่น้อย

สำหรับปัจจัยบวก เราจะได้เห็นธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI และอุตสาหกรรม Data Center รวมไปถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ยังมาแรง โดยเฉพาะในกลุ่ม Wellness Tourism, MICE และการเป็น Wedding Destination ของนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ ตอบรับกฏหมายสมรสเท่าเทียม

 

1. Agentic AI ขยายบทบาท จุดเปลี่ยนธุรกิจไทย

 

ในปี 2025 คำว่า ‘AI’ จะไม่ใช่แค่คำยอดฮิตอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ธุรกิจต้องจริงจัง โดยเฉพาะเรื่อง ‘Agentic AI’ ที่จะเข้ามามีบทบาทในวงการธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำ AI มาใช้ในงานบริการลูกค้า การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ไปจนถึงการจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain) จากเดิมที่จะคุ้นชื่อกันอยู่ไม่กี่ธุรกิจเท่านั้น 

โดย Agentic AI มีความสามารถในการตัดสินใจได้เองแบบอัตโนมัติ ตั้งแต่ต้น จนจบกระบวนการ โดยที่มนุษย์ไม่ต้องมาสั่งการทีละขั้นตอน แต่เพียงกำหนดเป้าหมาย หรือ purpose เท่านั้น ซึ่งจะลดขั้นตอนการทำงานของมนุษย์ลงได้อย่างมาก รวมไปถึงต้นทุนต่างๆ ที่ถูกลง แต่ประสิทธิภาพสูงขึ้น 

การตื่นตัวในเทคโนโลยี AI นี้ยังได้รับแรงหนุนจากอุตสาหกรรม Cloud Service และ Data Center ที่กำลังเติบโตหลายเท่าตัว มีการประกาศลงทุนและวางโครงการในไทยกว่า 50 โครงการ (ข้อมูลจาก BOI) เพราะไทยอยู่ในจุดที่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายได้อย่างสะดวก และมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมรองรับการเติบโตของเทคโนโลยี

 

2. การท่องเที่ยวไทย ‘Quick Win’ ที่ยังส่งสัญญาณบวก

 

ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็น ‘พระเอก’ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวสูงถึง 40 ล้านคน หรือเติบโตราว +13% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งใกล้เคียงระดับนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนโควิด ปี 2019 โดยเฉพาะกลุ่มที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และธุรกิจการประชุมสัมมนา หรืองานอีเวนต์ (MICE) อีกทั้งนโยบายสมรสเท่าเทียมยังสร้างภาพลักษณ์ที่เปิดกว้าง ส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดหมายสำหรับกลุ่มคู่รักทั่วโลก

 

Wellness Tourism & Medical Hub

 

ปีนี้ไทยกำลังขยับสู่การเป็น ‘Global Medical Hub’ หรือศูนย์กลางสุขภาพระดับโลกอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องการแพทย์แผนปัจจุบันที่ได้มาตรฐานในระดับสากล จนถึงอุตสาหกรรม Wellness & Preventive Healthcare ที่เติบโตเพื่อรับมือสังคมผู้สูงวัยซึ่งเป็นเทรนด์ระดับโลก นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจึงมีแนวโน้มหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการในไทยมากขึ้น

 

3. Soft Power ไทย ที่โด่งดังไกล

 

นอกจากมิติด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว อีกหนึ่งปัจจัยบวกที่กำลังสร้างสีสันให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทย คือ Soft Power ที่ไม่ว่าจะเป็น T-Pop, สายวาย (BL), ยูริ (GL) ล้วนกำลังได้รับความนิยม และการยอมรับในตลาดสากลแบบต่อเนื่อง

ไม่เพียงแค่วงการเพลงและซีรีส์ แต่ยังรวมถึงอาหารไทยที่ขึ้นชื่อ เรื่องแฟชั่น และความเป็นไทยที่มีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร ประกอบกับคนรุ่นใหม่ที่เป็น Creator มากขึ้น ยิ่งส่งออกความเป็นไทยผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสู่สายตาชาวโลกมากขึ้นไปอีก นับเป็นอีกทางที่ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย

 

Thai Economy-02

 

4. ไทยได้อานิสงส์จากนโยบายแข็งกร้าวของสหรัฐฯ

 

ผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติจำนวนไม่น้อยมองหาฐานการผลิตใหม่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยถือเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นด้วยสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่เป็นมิตร มีโครงสร้างพื้นฐานแข็งแกร่งทั้งพลังงานไฟฟ้าและระบบคมนาคม รวมถึงการมี EEC (ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) ซึ่งออกนโยบายเอื้อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ เช่น EV แบตเตอรี่ และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง

 

5. ปัจจัยลบที่ไม่อาจมองข้าม

 

แม้โอกาสจะมีมาก แต่ยังมีอุปสรรคที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมืออย่างรอบคอบ ได้แก่

1. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง: ประเทศคู่ค้าหลักของไทยบางแห่งยังไม่ฟื้นตัวสมบูรณ์ ส่งผลต่อการส่งออกและความเชื่อมั่นของนักลงทุน

2. ดอกเบี้ยสูงในสหรัฐฯ และยุโรป: อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอาจกระทบต่อภาคธุรกิจไทยที่ต้องกู้ยืมหรือต้องทำธุรกรรมระหว่างประเทศ

3. การแข่งขันจากจีน: สินค้าราคาถูกและหลากหลายที่ไหลทะลักเข้ามาในไทย ทำให้ SMEs ไทยเจอแรงกดดันในการรักษาส่วนแบ่งตลาด

4. การบริโภคและลงทุนภายในประเทศยังไม่ฟื้นเต็มที่: แม้ผู้บริโภคเริ่มใช้จ่าย แต่การฟื้นตัวยังไม่กลับมาสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤต ทำให้บางธุรกิจต้องใช้ความระมัดระวัง

 

6. กลยุทธ์การตลาด 2568 จาก Influencer ถึง Affiliate Marketing

 

ในยุคที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลและโซเชียลมีเดียเป็นหลัก “Influencer Marketing” จึงกลายเป็นเครื่องมือทำการตลาดที่ทรงพลัง โดยปีนี้จำนวน Influencers ในไทยอาจแตะ 3 ล้านราย หรือคิดเป็น 4.5% ของประชากร ซึ่งรวมถึงกลุ่ม Micro และ Nano Influencers ที่มีอิทธิพลในชุมชนหรือกลุ่มเฉพาะมากขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ การตลาดแบบ Affiliate Marketing ก็มีแนวโน้มเติบโตเป็นช่องทางหลักในการขายออนไลน์ เพราะแบรนด์สามารถใช้กลยุทธ์จ่ายค่าคอมมิชชั่นต่อยอดขายจริง (Performance-based) ซึ่งช่วยบริหารต้นทุนการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ KOC (Key Opinion Consumers) หรือผู้บริโภคที่มีบทบาทในการบอกต่อความคิดเห็นจริงของตน ก็กลายเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าและบริการมากกว่าเดิม

 

Thai Economy-01

 

7. ธุรกิจไหนมาแรง – ธุรกิจไหนแผ่วลงในปีนี้

 

จากภาพรวมและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปต่อเนื่อง ทำให้มีการคาดการณ์การใช้งบประมาณทางการตลาดในปี 2568 ดังนี้

 

กลุ่มสินค้าที่ใช้งบการตลาดเพิ่มขึ้น

1. ธุรกิจท่องเที่ยวและการพักผ่อน (โรงแรม สายการบิน แพลตฟอร์มท่องเที่ยว)

2. ประกันชีวิตและสุขภาพ

3. วิตามิน อาหารเสริม และยา

4. โฆษณาภาครัฐ

5. บริการขนส่ง เช่น Food Delivery และ Logistics

6. สินค้าและอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง

7. สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร

 

กลุ่มสินค้าที่ใช้งบการตลาดลดลง

 

1. E-Marketplace เช่น Shopee, Lazada

2. เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น น้ำอัดลม กาแฟ

3. ร้านอาหาร

4. ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน

5. ผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตร

 

ผนึกกำลังพลิกความท้าทายให้เป็นโอกาส

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเปราะบางและการแข่งขันก็ทวีความเข้มข้น แต่ปี 2568 ก็ได้เริ่มต้นด้วยสัญญาณเชิงบวกหลายอย่าง ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่าง AI และการขยายตัวของอุตสาหกรรม Data Center รวมไปถึงพลังขับเคลื่อนของภาคการท่องเที่ยว Wellness Tourism และ Soft Power ที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ประเทศ

เมื่อทุกฝ่ายขับเคลื่อนและสนับสนุนกันอย่างจริงจัง ความท้าทายที่วางอยู่เบื้องหน้าในปี 2568 ก็อาจกลายเป็น “โอกาสทอง” ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนทั่วโลกได้ในที่สุด

 

Source: MI LEARN LAB, DAAT


  •  
  •  
  •  
  •  
  •