Mindshare Think Tank 2025 ได้เปิดเผย 4 เทรนด์สำคัญที่กำลังพลิกโฉมพฤติกรรมผู้บริโภคและกลยุทธ์การตลาดทั่วโลก โดยมีแก่นสำคัญคือ “ความคุ้มค่า” (Value), “AI ที่ขับเคลื่อนพฤติกรรม” (AI-driven Behavior), “การตลาดที่เน้นตัวตนของผู้บริโภค” (Identity-driven Marketing) และ “คอนเทนต์ที่เร็ว กระชับ โดนใจ” (Short-form Content Culture)
“ผู้บริโภคไม่ได้เลือกสินค้าเพราะแบรนด์อีกต่อไป แต่เลือกเพราะความคุ้มค่าและประสบการณ์ที่ได้รับ” คุณวรวิล สนเจริญ ผู้อำนวยการแผนกวางแผนกลยุทธ์ Mindshare ประเทศไทย กล่าว
เพื่อให้แบรนด์สามารถปรับตัวและเติบโตได้ในยุคที่ท้าทายนี้ Mindshare ได้สรุป 4 เทรนด์หลัก พร้อมแนวทางที่แบรนด์สามารถนำไปใช้ได้จริง
1. ยุคใหม่ของการช้อปปิ้ง คุณภาพต้องมาก่อนราคา (Volume Up Value)
- 4 ใน 5 ของผู้บริโภค มีการปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจที่ผันผวน
- 73% ของชาว Gen-Z จะซื้อก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าคุ้มค่าที่สุด
- เทรนด์ “Dupe Culture” หรือการหาสินค้าทางเลือกคุณภาพดีในราคาที่คุ้มค่ากำลังมาแรง โดย TikTok มียอดค้นหาสินค้าผ่านแฮชแท็ก #Dupe มากกว่า 6,000 ล้านครั้ง
- ตัวอย่างสินค้าที่ได้รับความนิยมจากกลุ่ม Gen Z ได้แก่
- Zara Red Temptation น้ำหอมที่มีกลิ่นคล้าย MFK 540 ในราคาถูกกว่าหลายเท่า
- Cute Press Hybrid Foundation ที่ถูกเปรียบเทียบว่าให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับ Bobbi Brown แต่ราคาเพียง 1 ใน 5
- Dreamme Hair Dryer คู่แข่งโดยตรงของ Dyson ที่มีฟีเจอร์คล้ายกันแต่ราคาถูกกว่าถึง 3 เท่า
Key Takeaway: ในยุคที่ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าได้ง่าย แบรนด์ต้องนำเสนอคุณค่าที่แท้จริง และทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าพวกเขาตัดสินใจได้อย่างฉลาด
- สร้างคุณค่าในทุก Touchpoint ตั้งแต่คุณภาพสินค้า ราคาที่เหมาะสม ไปจนถึงประสบการณ์การซื้อที่โปร่งใส
- ใช้กลยุทธ์ช่วยประหยัดต้นทุนให้ลูกค้า เช่น ระบบสะสมแต้ม, โค้ดส่วนลด, โปรโมชั่น On-top
- สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคเห็นถึงความคุ้มค่าที่แท้จริง
2. AI ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือ แต่เป็นตัวขับเคลื่อนพฤติกรรมใหม่ (AI and Then What?)
- การสะกดคำและตรวจไวยากรณ์ (30%)
- การช่วยค้นหาข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจง (29%)
- การสรุปเอกสารและร่างอีเมล (24%)
ที่สำคัญคือ AI กำลังเปลี่ยนแปลง “วิธีที่ชาว Gen Z ค้นหาสินค้า”
- 74% ใช้ TikTok เป็นแพลตฟอร์มค้นหา
- 51% ชอบ TikTok Search มากกว่า Google
- 43% ระบุว่าค้นหาผลลัพธ์ที่เป็นรูป หรือวิดีโอมากกว่าข้อความ
- 30% (2025) ชอบใช้รูปในการค้นหาผลลัพธ์ที่ต้องการ
- หมวดหมู่ยอดนิยมของการค้นหาในกลุ่ม Gen Z ได้แก่ แฟชั่น DIY และข้อมูลสินค้า
Real is RAD!
ในยุคที่ AI เนรมิตให้เราได้ทุกสิ่งอย่าง ‘ความเป็นจริง’ จึงกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคชื่นชอบมากขึ้น กล่าวคือ ณ วันนี้ ผู้บริโภคสามารถแยกออกได้ว่าอันไหนคือผลลานจาก AI หรือผลงานที่ประกอบสร้างขึ้นอย่างประณีตโดยฝีมือของมนุษย์
โดยปัจจุบันเรามักจะเห็นงาน ‘Art&Craft’ หลายประเภท ตั้งแต่โปสเตอร์ภาพยนตร์ ไปจนถึงภาพวาดศิลปะ มีการใช้ AI เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่งานที่ไม่มีความช่วยเหลือของ AI เลยจะถูกใจผู้บริโภคมากกว่าในยุคนี้
มากไปกว่านั้น สิ่งที่ผู้บริโภครู้สึกว่า AI ยังสู้มนุษย์ไม่ได้มากที่สุดคือ ‘อารมณ์ขัน’ ที่สามารถเติมสีสันลงในงานศิลปะได้อย่างสวยงาม และสมบูรณ์แบบ ขณะที่เอไอไม่สามารถเติมเต็มสิ่งนี้ได้ไม่ว่าจะพยายามเท่าไหร่ก็ตาม
Key Takeaway: AI เป็นตัวช่วยสำคัญในการทำตลาด แต่แบรนด์ต้องไม่ลืมสร้างประสบการณ์จริงที่ AI ทดแทนไม่ได้
- สร้างคอนเทนต์ให้เหมาะกับ AI-driven Search เช่น การเพิ่ม SEO สำหรับ TikTok และแพลตฟอร์มอื่นๆ
- ผสานระหว่าง AI กับความเป็นมนุษย์ เพราะ AI แม้จะมีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่สามารถแทนที่ “อารมณ์” หรือ “Sense of Humor” ได้
- ใช้ AI เพื่อพัฒนาการตลาดแบบเฉพาะบุคคล (Hyper-Personalization)
3. ยุคของ “This is ME” และพลังของ Niche Community (COM ‘ME’ NITY)
คอนเทนต์สไตล์ “This is ME” กำลังมาแรง แบรนด์ที่สามารถทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า “นี่คือฉัน” จะสามารถเชื่อมโยงกับลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง
- แบรนด์ K-beauty อย่าง Etude เปิดตัวอายแชโดว์ MBT Eye Palette ที่ให้ลูกค้าเลือกสีตามบุคลิกภาพ MBTI ของตัวเอง
- Niche Community กลายเป็นพลังสำคัญ เช่น กลุ่มซับคัลเจอร์ในไทยที่กำลังไปไกลในระดับโลก
การตลาดแบบ ‘ยกมือ’ (ฉันเอง!)
สามารถมองได้ว่าเป็นการต่อยอดจากการใช้ Data ซึ่งนำไปสู่การ Personalization ที่ก่อนหน้านี้เราจะได้ยินสองคำนี้อยู่บ่อยๆ ไม่แพ้คำว่า AI เลย
This is ME Marketing เป็นกลยุทธ์ที่จะสำเร็จได้ เมื่อแบรนด์ธุรกิจรู้จักกับลูกค้าของตัวเองจริงๆ และเข้าใจว่าลูกค้าของตนไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียว แต่มีกลุ่มคนที่แยกย่อยออกไปอีกอย่างหลากหลาย และบางครั้งก็มากกว่าที่แบรนด์กำหนดคาดคะเนไว้เสียอีก สิ่งที่แบรนด์ควรทำเป็นอย่างแรกๆ คือการยอมรับว่ามีลูกค้ากลุ่มนี้อยู่จริงๆ และทำความเข้าใจว่าความต้องการเฉพาะตัวของลุกค้ากลุ่มนี้คืออะไร
ด้านคุณวรวิล เผยตัวอย่างถึงร้านอาหารแห่งหนึ่ง ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นครอบครัว แต่กลับพบว่ามีลูกค้าที่มากินคนเดียวอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญลูกค้ากลุ่มนี้ มากินเป็นประจำ และมียอดใช้จ่ายต่อบิลสูงมาก คงเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อยหากแบรนด์ยืนยันที่จะโฟกัสลูกค้ากลุ่มครอบครัวเพียงอย่างเดียว โดยไม่เหลียวแลลูกค้ากลุ่มทานคนเดียวนี้เลย
Micro identity to Micro Opinion Leader but ‘Strong Leader’
จากที่กล่าวไปว่าลูกค้ามีอยู่มากมายหลายประเภท บางกลุ่มอาจเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่ก็สามารถสร้างอิมแพคกับแบรนด์ได้ไม่น้อยเช่นกัน การจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ก็อาจไม่สามารถใช้วิธีพื้นๆ ทั่วไป แต่อาจต้องทำความเข้าใจว่าลูกค้ากลุ่มนี้กำลังชอบอะไร เชื่อในอะไร หรือใครอยู่ ซึ่งอาจไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์ Tier สูงๆ แต่อาจเป็นระดับ Micro บางคนที่ลูกค้ากลุ่มนี้รักอย่างเหนียวแน่น
คุณวรวิล ยกตัวอย่าง ‘คุณฟาโรส’ จากช่อง ‘FAROSE’ ที่โด่งดังบนแพลตฟอร์ม Youtube ด้วยผู้ติดตามกว่า 857,000 คน และแม้จะมียอดผู้ติดตามบน Instagram อยู่ที่หลักแสน แต่เราจะเห็นได้ว่าคอมมิวนีตี้ตรงนี้ที่มีคุณฟาโรสเป็น Opnion Leader อยู่มีความเหนียวแน่นมาก โดยผู้ติดตามมีแนวโน้มจะเชื่อ รัก กระทั่งทำตาม อย่างไม่ตั้งคำถามมากนัก
จึงเป็นตัวอย่างที่สะท้อนไปสู่ทุกธุรกิจว่า ‘เรารู้จัก ลูกค้าของตัวเองจริงๆ แล้วหรือยัง?’
Key Takeaway: การตลาดที่มุ่งเน้นความเป็นตัวตนและความเฉพาะตัว จะช่วยให้แบรนด์สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้าได้มากขึ้น
- ทำการตลาดที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคล โดยใช้ข้อมูลลูกค้าเพื่อสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคล
- ใช้ Micro-Influencer และ Community Leader แทนการใช้แมสมาร์เก็ตติ้ง
- ปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์และวัฒนธรรมย่อย เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง
4. “Speed-up Culture” เร็วขึ้นแต่ต้องยังคงคุณภาพ (Short n Bitter)
ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z นิยมดูวิดีโอด้วยความเร็วที่เร็วขึ้น (Speed-Watching)
- ผู้ใช้ iOS และ Android นิยมดูคอนเทนต์ที่ความเร็ว 1.5x
- ผู้ใช้เว็บเบราว์เซอร์เลือกดูที่ 2x
- แต่คอนเทนต์ที่นานกว่า 1 นาที ยังคงได้รับความสนใจสูงถึง 50% บน TikTok
“เร็วอย่างเดียว อาจไม่ดีเสมอไป” – 55% ชาว Gen Z ชอบทั้งคอนเทนต์สั้น-ยาว
จากเดิมที่เรามักจะได้ยินว่า ‘คอนเทนต์ ยิ่งสั้น ยิ่งดี’ วันนี้อาจจะไม่จริงเสมอไปแล้ว ด้านคุณวรวิล แชร์ว่า ช่วงนี้ผู้บริโภคชอบคอนเทนต์ที่มีความยาวมากขึ้น เพราะได้เนื้อหาที่ครอบคลุม และตอบโจทย์คำถามของตนได้จริงๆ มากกว่าคอนเทนต์ที่สั้นเกินไป แม้จะสามารถดูจนจบได้ แต่กลับไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาอะไรได้เลย สุดท้ายก็จะถูกลืมไปในระยะเวลาไม่นาน
จากสถิติการศึกษาผู้รับชมคอนเทนต์บน YouTube พบว่า
- 57% ชอบทั้งคอนเทนต์สั้น และคอนเทนต์ยาว
- 55% ของ Gen Z ดูทั้งคอนเทนต์สั้น และยาว
Key Takeaway: แม้คอนเทนต์ที่สั้นจะได้รับความนิยม แต่แบรนด์ต้องหาสมดุลระหว่างความกระชับกับเนื้อหาที่มีคุณค่า
- ออกแบบเนื้อหาให้เหมาะสมกับแต่ละแพลตฟอร์ม
- ใช้ Storytelling ที่ดึงดูดภายใน 3 วินาทีแรก
- ทดลองและวิเคราะห์ความยาวของคอนเทนต์ที่เหมาะสม
เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แบรนด์ที่สามารถปรับตัวได้ก่อนย่อมได้เปรียบ ทั้งนี้การปรับตัวไม่ได้หมายถึงการวิ่งตามทุกเทรนด์ แต่เป็นการเลือกใช้แนวทางที่เหมาะสมกับตัวตนของแบรนด์แ ละความต้องการของกลุ่มเป้าหมายจริงๆ คำถามสำคัญไม่ใช่แค่ ‘จะตามทันหรือไม่’ แต่คือ ‘จะสร้างคุณค่าอะไรให้ผู้บริโภคในยุคใหม่นี้’