คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลการสำรวจผู้หญิงวัยทำงาน อายุ 15-60 ปี จำนวน 1,074 คน พบว่า ผู้หญิงวัยทำงาน 1 คนมีบทบาทในการดูแลสุขภาพของคนรอบข้าง 2.2 คนโดยเฉลี่ย ซึ่ง ร้อยละ 34.9 ของผู้หญิงวัยทำงานดูแลแม่ของตนเอง ร้อยละ 31.7 ดูแลลูก และร้อยละ 30.4 ดูแลสามี
httpv://www.youtube.com/watch?v=OoeACLWStAc
ผู้หญิงวัยทำงานร้อยละ 91.5 เข้าถึงไลน์ เฟซบุ๊ก และยูทูป ผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ ทุกวัน และรับทราบข้อมูลสุขภาพผ่านช่องทางดังกล่าว
เนื้อหาที่ผู้หญิงวัยทำงานต้องการ ได้แก่ การใช้เวลากับครอบครัว การให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ การเป็นพ่อแม่ที่ดี การช่วยเหลือสังคม การส่งเสริมการมีน้ำใจ การให้คำแนะนำ การให้กำลังใจ การออมเงิน การเพิ่มรายได้ด้วยอาชีพเสริม การประหยัดค่าใช้จ่าย การพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมคนพิการ เป็นต้น
จากการรวบรวมข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ด้วยเครื่องมือ Zocial Eye จำนวน 1.6 ล้านข้อความ พบว่า ผู้หญิงแสดงการมีส่วนร่วมมากกว่าผู้ชายโดยเฉลี่ยร้อยละ 23.5 โดยกดไลค์แสดงความคิดเห็นและแชร์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความสุขของครอบครัว เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ การพัฒนาความสุขจากภายในจิตใจ อันดับ3 คือการผ่อนคลายความเครียด คิดเป็นร้อยละ 71.1, 66.3 และ 66.4 ตามลำดับ
ในขณะที่ผู้ชายจะกดไลค์แสดงความคิดเห็นและแชร์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือสังคม เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ การบริหารจัดการเงิน อันดับ3 การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คิดเป็นร้อยละ 47.9, 43.8 และ 40.1 ตามลำดับ
คุณหมอชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลการวิจัยนี้ชี้ชัดเจนว่าการส่งเสริมความรู้ทางสุขภาพให้ผู้หญิงจะทำให้การส่งเสริมสุขภาพในองค์กร หรือ Happy Workplace บรรลุเป้าหมายได้ เพราะผู้หญิงในองค์กรภาครัฐ เอกชน โรงงาน และสถานประกอบการล้วนเป็นผู้ที่ศักยภาพในการจัดการข้อมูลสุขภาพ ตั้งแต่การค้นหา กลั่นกรอง นำไปใช้ประโยชน์ และส่งต่อ ซึ่งต่อจากนี้จะเร่งให้หน่วยงานภาคีต่าง ๆ ดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงวัยทำงานอย่างจริงจัง แนะให้ช่วยกันสร้างสรรค์เนื้อหาออนไลน์ที่ถูกต้อง ชัดเจน เข้าใจง่าย
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสถาบันพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวว่า การส่งเสริมให้ผู้หญิงวัยทำงานมีความรู้ในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องจะทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดูแลสุขภาพได้อย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า บทบาทของผู้หญิงไทยในการเป็นผู้นำมีมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน จนมีคำที่ใช้ยกย่องบทบาทสตรีอยู่หลายคำ เช่น คำว่า “แม่บ้าน” ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและจัดการทุกอย่างในบ้าน รวมถึงเรื่องสุขภาพของสมาชิกที่อยู่ในบ้าน ซึ่งตอนนี้ก็ขยายไปถึงสมาชิกในองค์กร เพราะหน่วยงานต่าง ๆ มีผู้หญิงทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นบทบาทของผู้หญิงในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ และบทบาทการเป็นผู้ส่งเสริมสุขภาพในที่ทำงานก็เป็นบทบาทหนึ่งของผู้หญิงซึ่งมีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมด้านสุขภาพได้อย่างมาก
อนึ่ง การศึกษาวิจัยนี้มูลนิธิสถาบันพัฒนาการเรียนรู้และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ดำเนินโครงการภายใต้การสนับสนุนงบประมาณ โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)