[ข่าวประชาสัมพันธ์]
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เปิดเผยรายงานล่าสุด เกี่ยวกับวิกฤตการณ์การศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัย ที่ส่งผลให้เด็กผู้ลี้ภัยอายุระหว่าง 5 -17 ปี กว่า 3.5 ล้านคน ไม่มีโอกาสเข้าเรียนในปีการศึกษาล่าสุด ซึ่งรวมถึงเด็กผู้ลี้ภัยกว่า 1.5 ล้านคนที่ไม่ได้เข้าเรียนในระดับประถมศึกษาในขณะที่เยาวชนผู้ลี้ภัยอีกกว่า 2 ล้านคนขาดโอกาสศึกษาต่อในระดับมัธยม
นายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า “ขณะนี้มีผู้ลี้ภัยทั่วโลกกว่า 17.2 ล้านคนที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของ UNHCR ซึ่งครึ่งหนึ่งนั้นคือเด็ก การศึกษาสำหรับเด็กผู้ลี้ภัยเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศที่ให้การดูแลพวกเขา รวมถึงประเทศของพวกเขาเองเมื่อพวกเขาสามารถเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดได้ในอนาคต ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการศึกษาของเด็กและเยาวชนทั่วโลกแล้วนั้น ช่องว่างทางโอกาสในการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยก็มีแต่จะขยายตัวกว้างขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่เคยเป็นมากก่อน”
รายงาน “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง: วิกฤตการณ์การศึกษาผู้ลี้ภัย” เป็นรายงานที่เปรียบเทียบระหว่างแหล่งข้อมูล และสถิติของ UNHCR เกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษาของผู้ลี้ภัย กับข้อมูลการสมัครเข้าศึกษาในโรงเรียนของเด็กทั่วโลก จาก UNESCO ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ โดยจากสถิติของ UNESCO นั้นแสดงให้เห็นว่าในขณะที่ร้อยละ 91 ของเด็กทั่วโลกได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับประถม หากแต่สำหรับเด็กผู้ลี้ภัยแล้วนั้น มีเพียงร้อยละ 61 เท่านั้นที่มีโอกาสศึกษาในระดับเดียวกัน ยังไม่รวมถึงในประเทศที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีเด็กผู้ลี้ภัยน้อยกว่าร้อยละ 50 ที่ได้รับการศึกษาในระดับประถม
สถิตินี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ในขณะที่เด็กผู้ลี้ภัยเติบโตขึ้น อุปสรรคในการศึกษาก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับเยาวชนทั่วโลกที่ร้อยละ 84 ได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับมัธยม หากแต่สำหรับเยาวชนผู้ลี้ภัย มีเพียงร้อยละ 23 ที่ได้ศึกษาต่อในระดับเดียวกัน และจะเหลือเพียงแค่ร้อยละ 9ในประเทศที่มีรายได้น้อย
นอกจากนั้นสถิติการได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของผู้ลี้ภัยก็ยังเข้าขั้นวิกฤต โดยจากสถิติทั่วโลกอัตราการเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาของเยาวชนนั้นอยู่ที่ร้อยละ 36 หากแต่สำหรับเยาวชนผู้ลี้ภัย ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาโอกาสทางการศึกษาในทุกๆด้าน ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนในเรื่องทุนการศึกษาและหลักสูตรการเรียนต่างๆ หากแต่อัตราการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของเยาวชนผู้ลี้ภัยก็ยังคงอยู่ที่เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
ปัญหาด้านการศึกษาของผู้ลี้ภัยเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมโลกไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ที่ตั้งเป้าไว้ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยเฉพาะข้อที่ 4 ซึ่งกล่าวถึง “การรับรองการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต” โดยเป้าหมายนี้จะไม่สามารถบรรลุผลได้หากปัญหาด้านการศึกษาของประชากรที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัย และผู้ที่ถูกบังคับให้ออกจากบ้านของตนเองด้วยเหตุต่างๆ นอกจากนั้นเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านอื่นๆ เช่น ด้านสุขภาพ ความเจริญรุ่งเรือง ความเท่าเทียมกันในสังคม รวมถึง สันติภาพ ก็จะเป็นไปอย่างเชื่องช้า หากไม่ใส่ใจเรื่องการศึกษา
สำหรับรายงาน “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง: วิกฤตการณ์การศึกษาผู้ลี้ภัย” ของ UNHCR เป็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อเรียกร้องให้การศึกษาของผู้ลี้ภัยกลายเป็นหนึ่งในพื้นฐานที่ต้องให้ความสำคัญสำหรับการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย รวมถึงควรได้รับการสนับสนุนในระยะยาว ทั้งในส่วนของแผนงานและเงินทุน รายงานนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ รวมผู้ลี้ภัยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา ซึ่งควรมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อให้เกิดความเท่าเทียม และเป็นไปอย่างยั่งยืน รวมถึงเน้นย้ำความพยายามอย่างมาก ในการผลักดันและดำเนินแผนนโยบายเหล่านี้ แม้สำหรับในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด
ผลศึกษาจากรายงานยังแสดงให้เห็นว่า ความสำคัญของคุณภาพของการสอน รวมถึงการสนับสนุนจากเครือข่ายการศึกษาทั้งในและนอกประเทศ นั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพัฒนาและฝึกฝนผู้สอนให้เกิดแรงจูงใจที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่ชั้นเรียนที่ลำบากที่สุดในโลกเหล่านี้ รายงานยังเปิดเผยเรื่องราวอันหลากหลายเกี่ยวกับบรรดาผู้ลี้ภัยซึ่งต้องดิ้นรนเป็นอย่างมากเพื่อให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา หรือผู้ลี้ภัยซึ่งรู้ซึ้งถึงความสำคัญของการศึกษาที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขา โดยในขณะนี้ จำนวนของครู ห้องเรียน หนังสือเรียน และระบบการศึกษาที่รองรับยังขาดแคลนอยู่มากเมื่อเทียบกับความต้องการที่มีอยู่
รายงาน “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง: วิกฤตการณ์การศึกษาผู้ลี้ภัย” ฉบับนี้ถือเป็นรายงานประจำปีเกี่ยวกับการศึกษาฉบับที่สองของ UNHCR โดยฉบับแรกที่มีชื่อว่า“สิ่งที่ขาดหายไป”นั้นถูกนำเสนอก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ วาระเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งก่อให้เกิดปฏิญญานิวยอร์กว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ที่ลงนามโดยชาติสมาชิกกว่า 193 ประเทศ โดยถือเรื่องการศึกษาเป็นของผู้ลี้ภัย เป็นเรื่องเร่งด่วนระดับสากล
“แม้ว่าปฏิญญานิวยอร์ก ว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ จะได้รับการสนับสนุนอย่างมาก หากแต่ 1 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการศึกษาของผู้ลี้ภัยก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องเผชิญอยู่” นายกรันดี ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “การรับรองว่าผู้ลี้ภัยจะสามารถเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาที่เท่าเทียมนั้น เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของเราทุกคน ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะช่วยกันเปลี่ยนคำมั่นที่ให้ไว้ร่วมกัน ให้กลายเป็นรูปธรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย”
รายงาน “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง: วิกฤตการณ์การศึกษาผู้ลี้ภัย” ของ UNHCR ยังแสดงให้เห็นอีกว่า สถิติการเข้าศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยปฐมวัยนั้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 เป็น ร้อยละ 61 ในช่วงปีการศึกษาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงนโยบาย และการลงทุนเพื่อการศึกษาสำหรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย รวมถึงการที่เด็กผู้ลี้ภัยเดินทางไปยังประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งการศึกษาภาคบังคับนั้นเปิดกว้างสำหรับทุกคน หากแต่ในขณะเดียวกันการเข้าถึงการศึกษาในระดับมัธยมของผู้ลี้ภัยนั้นยังคงเป็นเรื่องที่ไม่คืบหน้านัก โดยน้อยกว่า 1 ใน 4 ของเยาวชนผู้ลี้ภัยเท่านั้นที่ได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับมัธยม
จากรายงานนั้นทำให้เห็นว่า ปัญหาที่ยังคงมีอยู่ในเรื่องการศึกษาของผู้ลี้ภัย หลัก ๆ แล้วเป็นเพราะ 1 ใน 3 ของผู้ลี้ภัยนั้นอาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อย ซึ่งผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้น้อยที่สุด เพราะประเทศที่รองรับและดูแลผู้ลี้ภัยเองก็ยังต้องดิ้นรนเพื่อจัดหาการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในประเทศของตัวเองเช่นกัน รวมถึงการต้องจัดหาโรงเรียน การพัฒนาผู้สอนที่ได้คุณภาพ และการต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อรองรับเด็กๆผู้ลี้ภัยหลายแสนคน ที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน และส่วนมากต้องหยุดเรียนมาประมาณ 4 ปี
“ความคืบหน้าของการแก้ปัญหาการศึกษาของผู้ลี้ภัยนั้น เห็นได้จากการที่เราสามารถช่วยให้เด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรียได้เข้าเรียน ซึ่งสิ่งนี้บ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงศักยภาพในการรับมือกับวิกฤตการณ์การศึกษาของผู้ลี้ภัย” นายกรันดี กล่าวต่อไปว่า “แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในตอนนี้ คืออัตราการได้รับการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยในภูมิภาคที่มีรายได้น้อย ซึ่งสิ่งนี้บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าเราต้องไม่ลืมที่จะลงทุนเพื่อการศึกษาในประเทศที่รองรับและให้การดูแลผู้ลี้ภัยเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน”
สำหรับข้อมูลอื่นๆเกี่ยวกับ รายงาน “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง: วิกฤตการณ์การศึกษาผู้ลี้ภัย” http://www.unhcr.org/left-behind-media
[ข่าวประชาสัมพันธ์]