ทีเอ็มบีธนชาต เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณา “เราเปลี่ยน คุณเปลี่ยน” ชวนคนไทย “เปลี่ยน” พฤติกรรมการเงิน เพื่อชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

[ข่าวประชาสัมพันธ์]

 

ทีเอ็มบีธนชาต ตอกย้ำปรัชญา Make REAL Change เปิดตัวงานภาพยนตร์โฆษณา “เราเปลี่ยน คุณเปลี่ยน” ที่ฉีกกฎของงานโฆษณาธนาคารทั่วไป เผยครั้งแรกของธนาคารไทยที่กล้าหยิบความจริงมาเล่าอย่างตรงไปตรงมา พร้อมเปิดอินไซต์ชีวิตการเงินของคนไทย และสะท้อนให้เห็นความจริงใจของธนาคารที่เริ่มต้น “เปลี่ยน” ตนเอง และเชิญชวนให้คนไทยมา “เปลี่ยน” ไปด้วยกัน โดยแนะนำโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย (Financial Well-being) ทั้งวันนี้และอนาคต

 

 

นางกาญจนา โรจวทัญญู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตลาด ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb เปิดเผยว่า ก้าวสำคัญหลังการรวมธนาคารเสร็จสมบูรณ์ของทีเอ็มบีธนชาต คือ การสื่อสารภาพลักษณ์และเป้าหมายของแบรนด์ภายใต้ปรัชญาของธนาคาร คือ “Make REAL Change เปลี่ยน…เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น” ซึ่งคำว่า “เปลี่ยน” ของทีเอ็มบีธนชาตไม่ได้หมายถึงแค่การเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนโลโก้ แต่การเปลี่ยนครั้งนี้ คือ การเปลี่ยนวิธีการคิด วิธีการทำงาน และวิธีการส่งมอบโซลูชันทางการเงินที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการของแต่ละคน ตลอดทุกช่วงชีวิต และสามารถสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม

จากความตั้งใจของธนาคาร เราจึงจัดทำภาพยนตร์โฆษณาชุด “เราเปลี่ยน คุณเปลี่ยน” โดยนำเอาปรัชญา Make REAL Change ซึ่งเป็นวิธีคิดและวิถีการทำงานของทีเอ็มบีธนชาตมาถ่ายทอดเป็นงานภาพยนตร์โฆษณาแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ เวอร์ชันเต็ม ความยาว 3 นาที และเวอร์ชันย่อย ความยาว 30 วินาที ที่แบ่งตาม 5 โซลูชันทางการเงินให้กับลูกค้าที่แตกต่างกัน โดยเปิดตัวผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ในวันนี้ (วันที่ 16 กันยายน 2564) เป็นวันแรก

ทั้งนี้ ภาพยนตร์โฆษณา “เราเปลี่ยน…คุณเปลี่ยน” ใช้ความจริงใจเป็นแกนในการสื่อสารเรื่องราว โดยเปิดประเด็นเรื่องนิยามการมีชีวิตที่ดีของผู้คนในสังคม ที่อาจทำให้เกิดพฤติกรรมการใช้เงินที่ผิดพลาดเกินตัว ทำให้หลายคนต้องกลายเป็นหนี้ และต้องทำงานอย่างหนักตลอดชีวิตเพื่อไปใช้หนี้ และสถานการณ์ยิ่งแย่ลงเมื่อประสบกับวิกฤตทางการเงินในช่วงโควิด-19 ที่ต้องใช้ชีวิตบนความเสี่ยงเพราะไม่เคยมีเงินเก็บออม มีรายได้จากการทำงานน้อยลง หรือกลายเป็นคนว่างงาน บางคนลงทุนผิดพลาดเพราะขาดความรู้ในช่วงตลาดผันผวน ซึ่งธนาคารเองก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ที่ผ่านมาธนาคารก็มีส่วนทำให้ชีวิตผู้คนเป็นแบบนั้น เพราะพยายามชักชวนให้คนมากู้เงินไปใช้ได้ง่าย ๆ ชวนใช้เงินมากกว่าเก็บเงิน ปล่อยเงินกู้ที่อาจเกินความจำเป็นโดยไม่ทักท้วง และไม่ได้ให้ความรู้ทางการเงินที่เพียงพอ และในวันนี้ ทีเอ็มบีธนชาตตั้งใจจะช่วยเปลี่ยนทุกอย่างให้ดีขึ้น โดยทำหน้าที่ที่ธนาคารพึงกระทำ และเริ่มที่ “เราเปลี่ยน” ซึ่งหมายถึงธนาคารจะเปลี่ยนตนเองก่อน อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ “คุณเปลี่ยน” ซึ่งหมายถึงลูกค้าทุกคนมาเปลี่ยนไปด้วยกัน เพื่อให้มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง

นางกาญจนา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความตั้งใจจริงของทีเอ็มบีธนชาตในการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย นำมาสู่โซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยโฆษณาเวอร์ชันย่อยทั้ง 5 เวอร์ชัน จะนำเสนอแต่ละโซลูชันของธนาคาร ได้แก่ การแนะนำให้ลูกค้าเปลี่ยนมาเริ่มชีวิตใหม่ที่ไม่มีหนี้จนเกินตัวด้วย 1) ttb debt consolidation โซลูชันรวบหนี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ย 2) ttb cash2care โซลูชันที่ให้ดอกเบี้ยถูกลง เมื่อกู้ไปใช้ในสิ่งที่จำเป็น จากนั้นเปลี่ยนมาเก็บออมให้ได้ประโยชน์สูงสุดด้วย 3) ttb no fixed บัญชีเพื่อออม ที่ให้ดอกสูงเหมือนฝากประจำ แต่ถอนได้เหมือนออมทรัพย์ นอกจากนี้ 4) ttb smart portโซลูชันพอร์ตลงทุน ที่ใคร ๆ ก็ลงทุนได้อย่างสบายใจ เพราะเริ่มลงทุนเท่าไรก็ได้ พร้อมดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ และ 5) ttb all free บัญชีฟรีค่าธรรมเนียม พร้อมมอบประกันอุบัติเหตุฟรีทั้งค่ารักษาและความคุ้มครองชีวิต ซึ่งถือเป็นความคุ้มครองพื้นฐานที่ทุกคนควรมี

 

 

“ปรัชญา ‘Make REAL Change เปลี่ยน…เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น’ เป็นการสื่อสารเพื่อแสดงความตั้งใจและความจริงใจของทีเอ็มบีธนชาตในการที่จะทำให้ชีวิตทางการเงินของคนไทยทุกคนดีขึ้น และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนที่ธนาคารเองก็ทำไม่ได้ ถ้าลูกค้าไม่เปลี่ยนไปด้วยกันกับเรา แม้อาจจะไม่ได้เปลี่ยนทุกคนหรือทุกอย่างได้ตั้งแต่วันแรก แต่เราเชื่อว่าลูกค้าของเราจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ตามที่เราได้สื่อสารออกไป และเกิดเป็นพลังให้คนไทย พร้อมเดินหน้าเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ทั้งในวันนี้และอนาคต” นางกาญจนา กล่าวสรุป

[ข่าวประชาสัมพันธ์]


  •  
  •  
  •  
  •  
  •