ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ (มธ.) ผู้กำกับดูแลและขับเคลื่อนนโยบายด้านการต่างประเทศของ มธ.เปิดเผยว่า นโยบายความเป็นนานาชาติของ มธ. ถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนด้านความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับสากลของ มธ. โดยฝ่ายวิเทศสัมพันธ์มีหน้าที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศทั่วโลก รวมทั้งประสานความร่วมมือกับสถานทูตต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาในบริบทของต่างประเทศ และนำธรรมศาสตร์ก้าวออกไปสู่เวทีโลกมากยิ่งขึ้น
ล่าสุด มธ.ได้รับการประเมินระดับ 5 ดาวในด้านความเป็นนานาชาติ (Internationalization) จาก QS สถาบันจัดอันดับและประเมินมาตรฐานด้านการศึกษาระดับโลก โดยพิจารณาจากเครือข่ายความร่วมมือเชิงวิชาการและการทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยนานาชาติ มีจำนวนนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มาจากต่างประเทศและไปต่างประเทศสูงกว่าเกณฑ์ และมีนักศึกษาต่างชาติศึกษาที่ มธ.จากกว่า 50 ประเทศ
ปัจจุบัน มธ. มีความร่วมมือด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กว่า 300 แห่งจาก 40 ประเทศทั่วโลก ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ครอบคลุมทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และอาเซียน โดยมีขอบเขตความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษา (student exchange) การแลกเปลี่ยนอาจารย์ (faculty exchange) การทำวิจัยร่วม (research collaboration) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ (knowledge exchange) และการจัดทำโครงการการศึกษาต่างๆ
“มธ. ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบการเทียบโอนรายวิชา หน่วยกิต และการแสดงผลการเรียนบนทรานสคริปต์ ครบทั้งระบบ ระหว่าง มธ. กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มีข้อตกลงความร่วมมือ ทำให้นักศึกษา มธ. ที่ไปแลกเปลี่ยน 1 ภาคการศึกษา หรือ 1 ปีการศึกษาในต่างประเทศสามารถสำเร็จการศึกษาในเวลาที่กำหนดในหลักสูตร โดย มธ. เปิดกว้างการเรียนวิชาต่าง ๆ ในต่างประเทศ โดยกำหนดเป็นวิชาการศึกษาเฉพาะเรื่อง (Selected topic) เพื่อให้นักศึกษาสามารถไปเรียนวิชาที่สนใจและไม่ได้เปิดสอนที่ มธ. และโอนหน่วยกิตมาที่ มธ. ได้ โดยไม่กระทบเวลาเรียนทั้ง 4 ปี”
ทั้งนี้ มธ. มีหลักสูตรนานาชาติและภาคภาษาอังกฤษกว่า 300 หลักสูตรครอบคลุมในทุกคณะ ทั้งด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการจัดตั้งสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ศูนย์อาเซียนศึกษา ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเปิดสอนภาษาอาเซียน เช่น ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาเวียดนาม ที่บรรจุเข้าไว้ในหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“นอกจากการเรียนรู้ศิลปวิทยาการทั้งศาสตร์และศิลป์แล้ว มธ. ยังมุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมสากล เพื่อการสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถแบบองค์รวม มีความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และมีทักษะทางการสื่อสารและการใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีคุณภาพ” รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในตอนท้าย