‘กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย’ ดีเดย์จองซื้อ 12-19 ต.ค.นี้ เสนอขายที่ราคาหน่วยละ 10 บาท

  • 41
  •  
  •  
  •  
  •  

กองทุน

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยหรือ Thailand Future Fund (TFFIF) เตรียมเข้าลงทุนครั้งแรกในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยจะออกและเสนอขายหน่วยลงทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) จำนวนประมาณ 4,000 ถึง 4,470 ล้านหน่วย ราคาหน่วยละ 10 บาท กำหนดเงื่อนไขจองซื้อขั้นต่ำที่ 1,000 หน่วย เปิดจองซื้อหน่วยลงทุนในวันที่ 12-19 ตุลาคมนี้ เพื่อนำมาใช้ลงทุนในในสิทธิในการรับส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิ ที่จัดเก็บได้เป็นระยะเวลา 30 ปีของทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี ซึ่งเป็นสินทรัพย์กิจการโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานที่ดี มีความมั่นคงสูงและมีศักยภาพในการเติบโต โดยประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในปีแรกอยู่ที่ร้อยละ 4.75 – 5.30

นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทจัดการและที่ปรึกษาทางการเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการและร่างหนังสือชี้ชวนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยหรือ Thailand Future Fund (TFFIF) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขออนุมัติเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนเป็นครั้งแรก ล่าสุดกองทุน TFFIF ได้รับอนุมัติให้เพิ่มเงินทุนจดทะเบียนครั้งแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ TFFIF จะเข้าลงทุนครั้งแรกในสิทธิในการรับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางของทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งได้แก่ ทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี ระยะทางรวม 83.2 กิโลเมตร โดยเป็นการลงทุนในสิทธิในการรับรายได้ร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิที่จัดเก็บได้จากทางพิเศษทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าว เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันโอนสิทธิตามสัญญาโอนและรับโอนสิทธิในรายได้ (Revenue Transfer Agreement หรือ RTA) โดยคาดว่า กทพ. จะนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนในครั้งนี้ไปใช้พัฒนาโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกและส่วนต่อขยายทดแทน ตอน N1

การเข้าลงทุนครั้งนี้ TFFIF จะไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาทางพิเศษทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าว และตามสัญญา RTA จะมีการพิจารณาทบทวนอัตราค่าผ่านทางทุกๆ 5 ปี โดยจะเริ่มพิจารณาอัตราค่าผ่านทางครั้งแรกในวันที่ 1 มีนาคม 2566 หรือ 5 ปีนับจากการเริ่มพิจารณาอัตราค่าผ่านทางของทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

สำหรับราคาเสนอขายหน่วยลงทุน TFFIF อยู่ที่ราคาหน่วยละ 10 บาท โดยผู้จองซื้อทั่วไปหรือประชาชนทั่วไปสามารถขอรับหนังสือชี้ชวน ใบจองซื้อ รวมทั้งจองซื้อหน่วยลงทุน TFFIF ได้ตั้งแต่วันที่ 12 – 19 ตุลาคม 2561 (ในวันและเวลาทำการของสถานที่ที่ผู้รับจองซื้อแต่ละรายกำหนด) ได้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาของ 1. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 2. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ยกเว้นสาขาไมโคร) 3. บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด 4. บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) (เฉพาะลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เท่านั้น) 5. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)  และ 6. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) โดยผู้จองซื้อทั่วไปสามารถจองซื้อขั้นต่ำที่จำนวน 1,000 หน่วย (หรือ 10,000 บาท) และเป็นจำนวนทวีคูณของ 100 หน่วย (หรือ 1,000 บาท) โดยไม่จำกัดจำนวนที่จองซื้อต่อ 1 ใบจองซื้อ

โดยการจัดสรรหน่วยลงทุน TFFIF ให้แก่ผู้จองซื้อทั่วไปในครั้งนี้จะใช้วิธีการจัดสรรแบบ Small Lot First ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการโดยบริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยวิธีดังกล่าวเป็นการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อทั่วไปทุกราย ตามจำนวนหน่วยจองซื้อขั้นต่ำที่ 1,000 หน่วยในรอบแรกและวนไปเรื่อยๆ รอบละ 100 หน่วย จนกว่าจะจัดสรรครบตามจำนวนหน่วยลงทุนที่เสนอขายสุดท้ายสำหรับผู้จองซื้อทั่วไปเพื่อให้ได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน โดยผู้จองซื้อที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรต้องเป็นผู้จองซื้อที่ยื่นใบจองซื้อหน่วยลงทุนส่วนเพิ่มทุนสำหรับผู้จองซื้อทั่วไปที่กรอกครบถ้วนและเอกสารประกอบในการจองซื้อหน่วยลงทุน พร้อมกับเช็ค ดราฟต์ แคชเชียร์เช็คหรือหลักฐานการชำระเงินอื่นภายในวันและเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจำนวนหน่วยลงทุนส่วนเพิ่มทุนที่จะเสนอขายให้แก่ผู้จองซื้อทั่วไปมีจำนวนประมาณ 1,845.0 – 2,056.5 ล้านหน่วย โดยคาดว่าจะสามารถประกาศกำหนดจำนวนหน่วยลงทุนเสนอขายสุดท้าย พร้อมทั้งประกาศผลการจัดสรรหน่วยลงทุนสำหรับผู้จองซื้อทั่วไป ได้ในวันที่ 22 ตุลาคม 2561

ในกรณีที่ผู้จองซื้อทั่วไปไม่ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุน บริษัทจัดการจะคืน หรือดำเนินการให้ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน หรือผู้สนับสนุนการขายหน่วยลงทุนแต่ละราย (แล้วแต่กรณี) คืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุน ให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุน ภายใน 3 วันทำการหลังจากวันที่ประกาศผลการจัดสรรหน่วยลงทุนสำหรับผู้จองซื้อทั่วไป โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน

ตัวแทนที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุน TFFIF ได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากนักลงทุน โดยเฉพาะการจัดโรดโชว์นำเสนอข้อมูลแก่นักลงทุนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งมีนักลงทุนสนใจเข้าฟังข้อมูลเป็นอย่างดี เนื่องจากทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีที่ TFFIF จะเข้าลงทุนครั้งแรกในสิทธิในการรับส่วนแบ่งรายได้นั้น เป็นทรัพย์สินที่สร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ และมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากการขยายโครงข่ายทางพิเศษในอนาคต

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนบริษัทจัดการ กล่าวว่า TFFIF มีนโยบายที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ในกรณีที่กองทุนมีกำไรสะสมเพียงพอ และโดยรวมแล้วในแต่ละรอบปีบัญชีจะจ่ายในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว นอกจากนี้ ประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในปีแรก (สิ้นสุด 30 กันยายน 2562) อยู่ที่ร้อยละ 4.75 ถึง 5.30

โดยทางพิเศษทั้ง 2 สายทางดังกล่าว มีผลการดำเนินงานย้อนหลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2558 ถึง 2560 (1 ต.ค. ถึง 30 ก.ย.) มีรายได้จากค่าผ่านทางของทางพิเศษทั้ง 2 สายทางอยู่ที่ 4,650 ล้านบาท 4,787 ล้านบาท และ 4,999 ล้านบาทต่อปีตามลำดับ มีการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.7 ต่อปี และปริมาณการจราจรรวมทั้ง 2 สายทาง โดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 3.37 แสนคัน 3.53 แสนคัน และ 3.69 แสนคัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.7 ต่อปี

ขณะที่งวด 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (1 ต.ค. ถึง 30 มิ.ย.2561) มีรายได้จากค่าผ่านทางของทางพิเศษทั้ง 2 สายทางรวม 3,844 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีปริมาณการจราจรรวมทั้ง 2 สายทาง โดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 3.87 แสนคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ทางพิเศษฉลองรัช มีความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรได้ถึง 3.5 แสนคันต่อวัน และทางพิเศษบูรพาวิถี สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้ถึงวันละ 3.6 แสนคัน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเข้าถือหน่วยลงทุนของ TFFIF ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหน่วยลงทุน เป็นระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่หน่วยลงทุนเริ่มการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตัวแทนบริษัทจัดการ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนใน TFFIF ถือว่ามีความน่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่จ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ และมีความผันผวนต่ำกว่าการลงทุนในหุ้น นอกจากนี้นักลงทุนรายย่อย (บุคคลธรรมดา) จะได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากเงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนฯ เป็นระยะเวลา 8 ปีอีกด้วย

นอกจากนี้ TFFIF ยังมีศักยภาพในการเติบโต จากการเข้าลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของภาครัฐในอนาคตได้ทุกประเภท เช่น ทางหลวง สนามบิน ท่าเรือ ระบบราง ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลดีต่อขนาดของกองทุนและยังจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหน่วยลงทุนในอนาคต

[ข่าวประชาสัมพันธ์]


  • 41
  •  
  •  
  •  
  •