[ข่าวประชาสัมพันธ์]
ทีซีดีซี เปิดให้ประชาชนเข้าชม “นิทรรศการครั้งประวัติศาสตร์ “ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลและการออกแบบ” โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ 11 ตุลาคม นี้
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จัดสร้างนิทรรศการ “ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลและการออกแบบ” (Insight | Thai | Architecture) ถ่ายทอดองค์ความรู้ ศิลปะวิทยาการและความคิดสร้างสรรค์ทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ผ่านกรณีศึกษาพระเมรุมาศและพระที่นั่งทรงธรรม สถาปัตยกรรมชั่วคราวในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยนำเสนอผ่าน 5 ส่วนจัดแสดง ได้แก่ 1) โซน “คติจักรวาลและงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย” นำเสนอความเชื่อทางศาสนาที่ส่งผลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยและบอกเล่าถึงเนื้อหาการจัดสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบจากกรมศิลปากร รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางหลักวัสดุและเทคโนโลยีการก่อสร้างพระเมรุมาศในรัชกาลก่อนหน้า 2) โซน “โรงขยายแบบเท่าจริง ศิลปกรรม และศิลปสำหรับงานสถาปัตยกรรม” แสดงกระบวนการร่างแบบพระเมรุมาศขนาดเท่าจริง และการจัดแสดงแบบร่างมือในส่วนงานสร้างพระเมรุมาศและพระที่นั่งทรงธรรม รวมถึงจัดแสดงศิลปะที่เป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมชั่วคราวในพระราชพิธี 3) โซน “ครูสร้างนักออกแบบให้เป็นคน” บอกเล่าแนวคิดและวิถีการถ่ายทอดความรู้ทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม 4) โซน “เวิร์กช็อปตามรอยสถาปนิกไทย” เปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถทดลองทำงานศิลปะ อาทิ การฝึกเขียนแบบร่างลายไทยเบื้องต้น การทำตบสี
นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้สร้างสรรค์ (OKMD) โดยความร่วมมือจากกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ จัดนิทรรศการ “ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลและการออกแบบ” (Insight | Thai | Architecture) นิทรรศการที่นำเสนอองค์ความรู้ด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทย โดยมีกระบวนการออกแบบพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นศูนย์กลางในการบอกเล่าศิลปะวิทยาการและความคิดสร้างสรรค์ทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทย อันถือเป็นอาวุธสำคัญในการออกแบบ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า ศาสตรา ในชื่อนิทรรศการครั้งนี้
นายกิตติรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นิทรรศการดังกล่าว มุ่งนำเสนอคติความเชื่อและหลักคิดเกี่ยวกับความเหมาะสม อันเป็นแรงบันดาลใจที่มาของการจัดการองค์ความรู้ในกระบวนการออกแบบ ขั้นตอนการผลิตชิ้นงาน และวิถีการถ่ายทอดความรู้จากครูสู่ศิษย์ด้านสถาปัตยกรรมไทย โดยตัวนิทรรศการจะมีการแบ่งเนื้อหานิทรรศการและวัตถุจัดแสดงออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้
1) โซน “คติจักรวาลและงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย” นำเสนอความเชื่อทางศาสนาและคติจักรวาล ที่เป็นพื้นฐานในการจัดผังของสถาปัตยกรรมไทยโดยจัดให้มีการฉายภาพเคลื่อนไหวของจักรวาลผ่านแบบจำลองพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ที่มีแกนกลางเป็นเขาพระสุเมรุ และมีสัตตบริภัณฑคีรีล้อมรอบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่สะท้อนการวางแผนผังตามหลักคติจักรวาลได้อย่างสมบูรณ์ ตลอดจนมีการจัดแสดงหุ่นจำลองพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ ขนาด 1:50 และเนื้อหาการจัดสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบจากกรมศิลปากร รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางหลักวัสดุและเทคโนโลยีการก่อสร้างพระเมรุมาศในรัชกาลก่อนหน้า
2) โซน “โรงขยายแบบเท่าจริง ศิลปกรรม และศิลปสำหรับงานสถาปัตยกรรม” เนื่องจากสถาปัตยกรรมไทยเป็นศาสตร์ที่ไม่สามารถใช้การคำนวณแบบย่อส่วนก่อนการจัดสร้างได้อย่างสมบูรณ์แบบ ก่อนการสร้างสถาปัตยกรรมจึงต้องมีการออกแบบและการขยายลาย ในส่วนจัดแสดงนี้จึงจำลองบรรยากาศโรงขยายแบบ หรือวิธานสถาปกศาลา พร้อมวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือในการออกแบบและขยายลาย รวมไปถึงจัดแสดงแบบร่างมือเท่าขนาดจริง (1:1) ในส่วนงานสร้างพระเมรุมาศ และอาคารประกอบ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอศิลปะต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมชั่วคราวในงานพระราชพิธีฯ อาทิ ศิลปะการซ้อนไม้ ที่ใช้แทนการแกะสลักในสถาปัตยกรรมถาวร, ศิลปะการฉลุผ้าทองย่น สาบสี สอดแวว แทนการประดับกระจกสีสมัยโบราณในอาคารถาวร, และศิลปะการตบสี ลักษณะคล้ายการทำ stencil สมัยโบราณใช้การจุ่มสีทองคำเปลว
3) โซน “ครูสร้างนักออกแบบให้เป็นคน” บอกเล่าแนวความคิดและวิถีการถ่ายทอดความรู้จากครูทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม อันเป็นแรงบันดาลใจให้ศิษย์ ผู้ซึ่งเป็นกลุ่มสถาปนิกที่อยู่เบื้องหลังการทำงานออกแบบและปฏิบัติการสร้างพระเมรุมาศ ให้เกิดการสร้างสรรค์ในการพัฒนาความรู้ไปสู่กระบวนการทำงาน การใช้ชีวิต และการสืบทอดงานศิลป์สู่คนรุ่นหลัง
4) โซน “เวิร์กช็อปตามรอยสถาปัตย์ไทย” เปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้ศึกษาลักษณะการทำงานด้านจิตรกรรม ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมตามรอยศิษย์มีครู ด้วยการฝึกเขียนแบบร่างลายไทยเบื้องต้น การทำตบสี เพื่อให้เข้าใจความอดทนทุ่มเทฝึกมือ ฝึกตา ฝึกสมาธิของช่างไทย
ทั้งนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นิทรรศการนี้จะเป็นการสะท้อน และส่งต่อถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม องค์ความรู้ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมไทยผ่านงานพระเมรุมาศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นประโยชน์ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประเทศไทยในหลากมิติต่อไป นายกิตติรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลและการออกแบบ” (Insight | Thai | Architecture) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2560 – 7 มกราคม 2561 เวลา 10.30 – 21.00 น. ทุกวันอังคาร – อาทิตย์ (ปิดทุกวันจันทร์) ณ ห้องแกลอรี่ ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 02-105-7441
[ข่าวประชาสัมพันธ์]