“เอสซีจี” แนะวิธีติดตั้งฉนวนกันเสียง ใน 3 ห้องสำคัญของบ้าน พร้อมเคล็ดลับมิกซ์แอนด์แมทช์ให้สวยมีดีไซน์ ไร้เสียงรบกวน

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

[ข่าวประชาสัมพันธ์]

“เสียงรบกวน” เป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่มักพบ ทั้งจากการอาศัยอยู่ร่วมกันของคนในบ้าน และเสียงรบกวนจากภายนอก ปัญหาเรื่องเสียงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากการอยู่อาศัยร่วมกันต้องมีการติดต่อสื่อสาร มีการทำกิจกรรมทั้งในรูปแบบส่วนบุคคล และการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว จึงเกิดเสียงรบกวนได้ตลอดเวลา เช่น เสียงพูดคุย เสียงทีวี หรือเสียงโฮมเธียร์เตอร์ สำหรับเสียงรบกวนจากภายนอกบ้านอาจเกิดได้จาก เสียงรถยนต์ เสียงรบกวนจากข้างบ้าน หรือเสียงการก่อสร้าง ซึ่งมลพิษทางเสียงเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ผู้อยู่อาศัยเกิดความรำคาญเท่านั้น ยังรบกวนการพักผ่อนและลดทอนความสุขในการใช้เวลาภายในบ้าน ดังนั้น “เอสซีจี” ในฐานะผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง จึงขอแนะนำเทคนิคลดปัญหาเสียงรบกวนให้กับ 3 ห้องสำคัญของบ้าน เพื่อสร้างความสุขในการอยู่อาศัยร่วมกัน และยังทำให้บ้านสวยมีดีไซน์ได้อีกด้วย

scg-2

นายทศพล  ป้องเกียรติชัย สถาปนิกจากเอสซีจี กล่าวว่า “เสียงรบกวน” ถือเป็นเรื่องที่ดูเหมือนไม่สำคัญ ไม่เป็นปัญหา แต่ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อความสุขของการอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างสมาชิกภายในบ้าน แม้เสียงรบกวนที่เกิดบริเวณที่พักอาศัยจะไม่เกินเกณฑ์ค่าเสียง 85 เดซิเบล ที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาท แต่ก็สร้างความรบกวนทางอารมณ์และความรู้สึกไม่น้อย เพราะโดยปกติผู้ฟังจะวัดค่าเสียงจากการได้ยินและความรู้สึกมากกว่าการใช้อุปกรณ์วัดค่าเสียง

scg-7

­­สำหรับแนวทางในการป้องกันเสียงทำได้หลากหลายวิธี อาทิ ปลูกต้นไม้เพื่อลดทอนเสียงจากภายนอก สร้างผนังด้านนอกของบ้าน หรือผนังกั้นระหว่างห้องให้มีความหนาที่มากขึ้น เพื่อไม่ให้เสียงลอดผ่านเข้าไปได้ แต่ก็จะเสียพื้นที่ใช้สอยบางส่วนไป อย่างไรก็ตามเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ที่อยู่อาศัยในปัจจุบันที่มีพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านที่ค่อนข้างจำกัด “เอสซีจี” จึงแนะเทคนิคลดปัญหากวนใจเรื่องเสียงด้วยการติดตั้ง “วัสดุอะคูสติก” ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ฉนวนป้องกันเสียง ช่วยป้องกันเสียงจากภายนอกไม่ให้เข้าสู่ภายในบ้าน และป้องกันเสียงจากภายในห้องไม่ให้ออกไปภายนอก ติดตั้งโดยสอดเข้าไปในระบบโครงคร่าว ระหว่างการก่อสร้าง หรือกรีดผนังเพื่อใส่ฉนวนเข้าไปก็ได้เช่นกัน ฉนวนดูดซับเสียง ช่วยดูดซับเสียง ลดเสียงก้องเสียงสะท้อน และยังใช้ตกแต่งผนังให้สวยงามด้วยนวัตกรรมการขึ้นรูปให้เป็นแผ่นแข็งรูปทรงต่างๆ อาทิ สี่เหลี่ยม  หรือสามเหลี่ยม หรือหกเหลี่ยม หุ้มด้วยผ้าเฟอร์นิเจอร์สีสันสวยงาม ติดตั้งโดยทากาวตะปูไปที่หลังแผ่นฉนวนและนำไปติดกับผนังได้ตามต้องการ

scg-5

นอกจากเทคนิดในการป้องกันและดูดซับเสียงรบกวนแล้ว เพื่อความสวยงามของห้องต่างๆ ภายในบ้าน “เอสซีจี” ขอแนะนำเคล็ดลับมิกซ์แอนด์แมทช์ 3 ห้องสำคัญของบ้าน ให้สวยมีดีไซน์ ไร้เสียงรบกวน เริ่มด้วยห้องแรก ห้องนอน ห้องที่ต้องการความสงบ เพื่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่ จึงควรติดตั้งฉนวนป้องกันเสียงในโครงคร่าวที่บริเวณผนังด้านที่ติดกับห้องข้างๆ เพื่อป้องกันเสียงจากภายนอกเข้ามารบกวน และติดตั้งฉนวนดูดซับเสียงผนังบริเวณหัวนอนซึ่งเป็นจุดตรงข้ามกับแหล่งกำเนิดเสียง เพื่อลดเสียงสะท้อน และเป็นการเพิ่มจุดสนใจให้กับห้อง โดยอาจใช้ฉนวนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส จัดเรียงสลับสีกันจนเกิดเป็นลวดลายมีดีไซน์ โทนสีที่เหมาะกับห้องนอนควรเป็นสีอ่อนที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เช่น สีขาว ครีม น้ำตาลอ่อน และอาจจะแซมสีที่ดูหวานแต่ยังอยู่ในโทนเย็น เช่น สีชมพู เขียวอ่อน เป็นต้น

scg-6

ถัดมา ห้องนั่งเล่น เนื่องจากเป็นห้องที่มีปริมาณการใช้เสียงสูงกว่าห้องนอน เพราะมักเป็นห้องศูนย์รวมของสมาชิกภายในบ้าน เพื่อใช้ทำกิจกรรมยามว่างร่วมกัน อย่างดูทีวี ฟังเพลง หรือจัดกิจกรรมที่ส่งเสียงดัง จึงแนะนำ ให้ติดตั้งฉนวนป้องกันเสียงในโครงคร่าวเพื่อป้องกันเสียงรบกวน จากนั้นติดตั้งฉนวนดูดซับเสียงประมาณ 35% ของพื้นที่ผนังทั้ง 4 ด้าน เพื่อลดเสียงสะท้อนและดูดซับเสียงภายในห้องไม่ให้ออกไปรบกวนภายนอก สำหรับโทนสีที่เหมาะควรคำนึงถึงสไตล์ของห้องและเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ อาจเน้นให้เลือกสีที่ดูสบายตา อบอุ่น หากต้องการใช้มากกว่า 2 สี ควรคุมโทนสีให้มีความใกล้เคียงกัน  เช่น สีเบจ สีขาว ครีม หรือ  ดำ น้ำตาล เทา เป็นต้น รูปแบบการจัดเรียงอาจใช้แผ่นสีเหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กเรียงสลับกับขนาดใหญ่ สร้างสรรค์ให้ผนังดูมีดีไซน์

scg-1

ปิดท้ายด้วย ห้องเอนเตอร์เทนเม้นท์ เช่น ห้องซ้อมดนตรี ห้องคาราโอเกะ หรือห้องโฮมเธียร์เตอร์ ลักษณะการใช้งานอาจคล้ายกับห้องนั่งเล่น แต่ห้องเอนเตอร์เทนเม้นท์อาจมีการใช้เสียงที่มีค่าเสียงรบกวนสูงกว่า จึงเป็นห้องที่ควรเก็บเสียงไม่ให้รบกวนพื้นที่ข้างเคียง และป้องกันเสียงจากภายนอกเข้ามารบกวน ดังนั้นแนะนำให้ติดตั้งฉนวนป้องกันเสียงในโครงคร่าวและฉนวนดูดซับเสียงบริเวณผนังทั้ง 4 ด้าน ดีไซน์และรูปแบบการจัดเรียงฉนวนให้คำนึงถึงไลฟ์สไตล์การใช้งานของห้อง เช่น ห้องโฮมเธียร์เตอร์เน้นการจัดเรียงแบบเรียบง่ายไม่มีลวดลายมากนัก อาจใช้ฉนวนรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่วางเรียงต่อกัน โดยใช้โทนสีเข้ม หรือดำ เพื่อลดการดึงดูดทางสายตา เนื่องจากเป็นห้องที่ต้องการการโฟกัสไปที่จุดๆ เดียว สำหรับห้องคาราโอเกะหรือห้องซ้อมดนตรี มัเน้นดีไซน์ที่สร้างความตื่นตัวและความสนุกสนานด้วยสีสันที่สดใส เรียงตัดกัน เช่น สีแดง ฟ้า เหลือง ดำ หรือหากเจ้าของบ้านชอบห้องที่ดูเรียบง่าย สบายตา ก็สามารถดีไซน์ผนังโดยใช้ฉนวนโทนสีอ่อน อย่างเทา ขาว เบจ ในการตกแต่งได้เช่นกัน

นอกจาก 3 ห้องภายในบ้านพักอาศัยแล้ว ยังสามารถติดตั้งฉนวนกันเสียงในห้องอื่นๆ ได้เช่นกัน โดยเลือกประเภทฉนวนตามฟังก์ชั่นการให้งานของห้อง และค่าเสียงรบกวนที่เกิดขึ้น  ซึ่งเจ้าของบ้านสามารถเลือกดีไซน์ ขนาด และสีสันของฉนวนได้ตามความชื่นชอบ ทั้งนี้หากต้องการติดตั้งฉนวนป้องกันเสียงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินติดตั้ง สำหรับฉนวนดูดซับเสียงเจ้าของบ้านสามารถ DIY ได้ตามต้องการ เพราะติดตั้งง่าย และมีน้ำหนักเบา โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอคำแนะนำได้ที่ เอสซีจี คอนแทค เซ็นเตอร์ โทร. 02-586-2222  หรือคลิกเว็บไซต์ www.scgbuildingmaterials.com

[ข่าวประชาสัมพันธ์]


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •