WWF-International หรือ กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานใหญ่ยกย่องพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นหนึ่งในสองพื้นที่ที่มีการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย (The Best Practice in Asia for Human-Elephant Conflict Mitigation) อันเกิดจากความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช WWF-ประเทศไทย (กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย) เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี หรือ POWER of Kuiburi และชุมชนในพื้นที่
จากข้อมูลเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2553 ยังไม่มีสถิติการตายของช้างป่าจากการถูกล่าในพื้นที่ (Zero poaching) เพื่อเอางา อวัยวะ และการจับลูกช้างออกจากป่า ขณะที่การตายของช้างป่าฯ จากสาเหตุความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า มีอัตราลดลงถึงร้อยละ 64.64% เมื่อเทียบกับตลอด 9 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันมีกรณีช้างป่าตายจากสาเหตุความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เพียง 4 ตัว เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2540-2548 ซึ่งมีการตายของช้างป่าฯ กว่า 11 ตัว นอกจากนี้สถิติความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดจากการทำลายผลผลิตทางการเกษตรลดลงกว่า 46.72% เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี คือ 274 ครั้งในปี 2556 ลดลงเหลือ 146 ครั้งในปี 2557 และปี 2548 มีสถิติฯ สูงสุด คือ 332 ครั้ง โดยอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้คือ โครงการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติคาซีรังกา (Kaziranga) รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ซึ่งมีสถิติช้างป่าตายลดลงต่อเนื่องทั้งสาเหตุจากการล่าเอางาและความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า
ความสำเร็จนี้เป็นผลจากการลาดตระเวนอย่างเข้มข้นร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทหารหลัก ทหารพราน และตำรวจตระเวนชายแดน และระบบการข่าวจากฝ่ายปกครอง หน่วยงานสนับสนุนการอนุรักษ์ และชุมชนในพื้นที่เพื่อป้องกันการล่าสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี รวมถึงการปรับปรุงแปลงหญ้าและฟื้นฟูแหล่งอาหารและแหล่งน้ำของช้างป่าในอุทยานฯ ให้อุดมสมบูรณ์ การสร้างความเข้าใจกับชุมชนในการจัดการกับความขัดแย้งฯ และปัญหาการล่าสัตว์ และที่สำคัญคือ ความร่วมมือระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่เพื่อรับมือและผลักดันช้างป่าที่ออกมาหากินและทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านให้กลับเข้าป่าด้วยวิธีที่ปลอดภัยต่อชีวิตของทั้งช้างและคน โดยได้รับการสนับสนุนการทำงานจาก WWF-ประเทศไทยและองค์กรพันธมิตรเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรีในพื้นที่ ในเรื่องขององค์ความรู้ การอบรมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol Training) ชุมชนสัมพันธ์ อุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงการประสานงานและการสนับสนุนการใช้พื้นที่อย่างยั่งยืน
“บริเวณพื้นที่กุยบุรีนี้ คือ พื้นที่คอขวดที่เชื่อมต่อที่ราบภาคกลางกับคาบสมุทรมลายูอันเป็นจุดที่รวมความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของช้างป่าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก WWF จึงได้คัดเลือกพื้นที่นี้ในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในเขตเทือกเขาตะนาวศรีตอนล่าง” วายุพงศ์ จิตรวิจักษณ์ ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี WWF-ประเทศไทยกล่าว “เป้าหมายของโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี คือ การจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าและการต่อต้านการล่าสัตว์ป่า เราใช้ตัวชี้วัดคือจำนวนช้างและคนที่ตายและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ขณะเดียวกันเป้าหมายของการต่อต้านการล่าสัตว์ป่า คือ การล่าช้างเพื่อเอางาหรือการจับลูกช้างในพื้นที่ไปขายจะต้องเป็นศูนย์”
อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีพื้นที่ประมาณ 969 ตารางกิโลเมตร หรือ 605,625 ไร่ โดยได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 90 ของประเทศเมื่อปี พ.ศ.2542 และยังรวมป่าที่ต่อเนื่องข้างเคียงอีกกว่า 242 ตารางกิโลเมตร หรือ 151,250 ไร่ รวมพื้นที่ป่ากว่า 750,000 ไร่ เป็นแหล่งอาศัยหากินตามธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก สำหรับช้างป่า กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง และสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับการจัดตั้งเป็นโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีแนวทางและเป้าหมายชัดเจนในการอนุรักษ์สัตว์ป่า จัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า และส่งเสริมให้ประชาชนเกิดทัศนคติที่ดีต่อสัตว์ป่าและอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติ และประโยชน์ที่ได้รับจากการอนุรักษ์
ปัจจุบันผืนป่ากุยบุรีมีประชากรช้างป่าไม่ต่ำกว่า 250 ตัวในพื้นที่ฯ โดยในทุกฤดูแล้งในช่วงต้นปี จะประสบปัญหาวิกฤตภัยแล้งทำให้สัตว์ป่าต้องย้ายแหล่งหากินไปทางตอนเหนือของพื้นที่ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลทำให้สัตว์ป่าอาจเจ็บป่วยและทำให้เสี่ยงต่อการถูกล่าได้ การฟื้นฟูแหล่งอาหารของสัตว์ป่า เช่น โป่งเทียม การรดน้ำในแปลงหญ้า เติมน้ำในแหล่งน้ำและกระทะน้ำในพื้นที่ในช่วงภัยแล้งนี้เป็นหนึ่งในภารกิจที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ชุมชน องค์กร-พันธมิตร และ WWF ร่วมกันทำเพื่อป้องกันไม่ให้ช้างป่าออกมาหากินผลิตผลทางการเกษตรของชาวบ้านอันอาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งกับคนและช้างป่าได้
ปัจจุบันมีจำนวนช้างเอเชียเหลืออยู่ทั่วโลกเพียง 20,000-25,000 ตัว โดยมีอยู่ในประเทศไทยประมาณ 2,500-3,200 ตัว ใน 30 ปีที่ผ่านมา จำนวนช้างเอเชียลดลงกว่าร้อยละ 70 โดยปัจจุบันช้างเอเชียมีสถานะการอนุรักษ์ คือ ใกล้สูญพันธุ์ (endangered) ในขณะที่ช้างแอฟริกาก็กำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์การถูกล่าอย่างโหดร้ายเพื่อเอางาไม่ต่ำกว่าปีละ 30,000 ตัว
ในปี 2558 นี้ นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทยทั้งในภาคประชาชน รัฐบาล และภาคธุรกิจในทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันใส่ใจและลงมือกับการอนุรักษ์ช้างป่า โดยเริ่มจากการที่คนไทยกว่า 1.3 ล้านคนแสดงเจตจำนงค์ร่วมแสดงความรักและความห่วงใยต่อช้าง แสดงพลังต่อต้านการฆ่าช้างเอางาและไม่สนับสนุนการค้างาช้าง ผ่านแคมเปญโซเชียลมีเดีย “ช.ช้าง ช่วยช้าง” ของ WWF เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตลอดจนการการออกพระราชบัญญัติ
งาช้างเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยในปีนี้ รวมไปถึงการเผาทำลายงาช้างของกลางในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเพื่อย้ำจุดยืนไม่อ่อนข้อให้การค้างาช้างผิดกฎหมายอีกต่อไป และในเดือนพฤศจิกายนนี้ กลุ่มบริษัท เซ็นทรัลพัฒนาจำกัด (มหาชน) ร่วมกับขั่วศิลปะ จังหวัดเชียงราย นำโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ได้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญในการสร้างสรรค์ประติมากรรมช้าง 999 ตัว ในนิทรรศการ “ศิลปะเส้นทางช้างไทย” หรือ “Journey of 999 Elephants” ในระหว่างวันที่ 6-15 พฤศจิกายน 2558 นี้ ณ Central Bangkok ณ บริเวณ CentralWorld Central Chidlom และ Central Embassy เพื่อปลุกกระแสการอนุรักษ์ช้างป่าในประเทศไทยก่อนที่จะส่งศิลปะช้างไทยนี้สู่นครมิลาน
“ในปี 2558 ที่ผ่านมา นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับการอนุรักษ์ช้างป่าทั้งการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรู้ว่าในแต่ละปีมีช้างแอฟริกาถูกฆ่าอย่างโหดร้ายไม่ต่ำกว่า 30,000 ตัวเพื่อเอางา การที่ภาคธุรกิจและกลุ่มศิลปินชั้นนำของประเทศไทยได้แสดงพลังในการอนุรักษ์ช้างป่าผ่านผลงานศิลปะในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการสร้างมิติใหม่ให้กับงานอนุรักษ์ช้างที่เปิดกว้างให้ทั้งคนไทย นักท่องเที่ยวและทั่วโลกได้ตระหนักและสัมผัสถึงคุณค่าของช้างป่า สัญลักษณ์ของชาติและพี่ใหญ่ในระบบนิเวศของเราทุกคน” จันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้จัดการงานรณรงค์ต่อต้านการค้าสัตว์ป่า WWF-ประเทศไทย กล่าว “เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาครัฐจะสามารถจัดการกับความท้าทายที่มีอยู่ทั้งการบังคับใช้ข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ การปราบปรามผู้ค้างาช้างผิดกฎหมาย รวมถึงการลดอุปสงค์ในสินค้าจากงาช้างอย่างต่อเนื่องและจริงจังเพื่อขจัดปัญหางาช้างผิดกฎหมายในประเทศ รวมถึงการยับยั้งการก่ออาชญากรรมสัตว์ป่าในอนาคต”
ความร่วมมือเพื่อปกป้องช้างทั้งจากรัฐบาล ภาคเอกชน ประชาชนคนไทย ศิลปิน และหน่วยงานต่างๆ ตลอดปี 2558 นี้ นับได้ว่าเป็นปีที่น่าภูมิใจสำหรับประเทศไทยและคนไทยทุกคนเป็นอย่างยิ่งที่ได้แสดงความทุ่มเทให้ทั่วโลกเห็นว่า คนไทยรักช้าง ต้องการปกป้องช้าง และเราสามารถอยู่ร่วมกับช้างป่าได้อย่างพึ่งพาและดูแลกันและกันได้
“เป้าหมายของ WWF คือ การรักษาช้างป่านี้ไว้ให้ลูกหลานของเราได้เห็นสืบไปด้วยการมุ่งจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าให้ไม่มีการสูญเสียของชีวิตด้วยการทำผืนป่าให้เป็นบ้านที่ปลอดภัยและมีอาหารที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งการต้านการฆ่าช้างเอางา WWFต้องการการสนับสนุนและความร่วมมือจากคนไทยทุกคนทั้งการบอกต่อ การหยุดการใช้สินค้างาช้าง รวมทั้งการบริจาคเพื่อสนับสนุนการทำงานของเรา หากคนไทยในทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยก็จะสามารถเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ช้างป่าของโลกได้อย่างแน่นอน” เยาวลักษณ์ เธียรเชาวน์ ผู้อำนวยการ WWF-ประเทศไทยกล่าว
โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี WWF-ประเทศไทย
httpv://youtu.be/uvt952UwyQQ