[ข่าวประชาสัมพันธ์]
ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยเป็นหนึ่งในปัญหาที่ไม่อาจเพิกเฉยได้ เมื่อปี 2558 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 จากการจัดอันดับการเฝ้าระวังการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นกลุ่มสุดท้าย ตกจากกลุ่มที่ 2 เมื่อปี 2554 – 2557 และในปี 2558 มีรายงานการค้ามนุษย์ในประเทศเป็นจำนวนทั้งหมด 317 คดีที่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีผู้เสียหายเป็นจำนวน 720 คน ซึ่งปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยมีหลายรูปแบบ อาทิ การใช้แรงงานเด็ก โสเภณี ขอทานและแรงงานบังคับ
ไมโครซอฟท์เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหา จึงถือกำเนิดโครงการ Microsoft YouthSpark – เพื่อเสริมสร้างความสามารถให้แก่เยาวชนผู้มีความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ด้วยทักษะไอซีทีและวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยร่วมมือกับพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกันในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น โครงการความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำสหประชาชาติ (UN-ACT) มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย (World Vision) โครงการรณรงค์เสริมสร้างความรู้ด้านปัญหาการค้ามนุษย์ ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM X) และสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ฯ (สอ.ดย.) จัดกิจกรรมอบรมความรู้ด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เยาวชนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจากกระบวนการค้ามนุษย์เข้าถึงเครื่องมือและข้อมูล อีกทั้งให้เยาวชนเหล่านั้นมีโอกาสสร้างสรรค์สื่อที่เป็นประโยชน์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจปัญหาในระดับลึก และที่สำคัญเป็นการสร้างเกราะป้องกันให้แก่ตนเองและชุมชนจากปัญหาการค้ามนุษย์อีกด้วย
นายสมศักดิ์ มุกดาวรรณกร ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ปัญหาการค้ามนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัวและใกล้ตัวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการทำงานเป็นขบวนการที่มีเครือข่ายกว้างขวาง ไมโครซอฟท์พร้อมที่จะสนับสนุนกระบวนการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในประเทศไทย โดยใช้พลังของเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความสามารถให้แก่เยาวชนผู้มีความเสี่ยง เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังได้ฝึกความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงความสามารถของตนเอง สร้างโอกาสทางอาชีพและร่วมเป็นกำลังเสริมในการพัฒนาสังคมหรือชุมชนของพวกเขาต่อไป”
เยาวชนที่เข้าร่วมจะได้รับการอบรมเกี่ยวกับการผลิตสื่อ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของโปสเตอร์ วิดีโอ หรือเว็บไซต์ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาค้ามษุษย์ด้วยโปรแกรม Microsoft Word, Microsoft PowerPoint, Sway และแชร์สื่อที่ผลิตไปยังโซเชียลมีเดียหรือสื่อในชุมชนของตนเอง โดยเนื้อหาของการอบรมจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ อันตรายอาจที่อาจเกิดขึ้นและความเสี่ยงจากการค้ามนุษย์ เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้มีการตระหนักและมีการตัดสินใจที่ดีขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับบุคคลหรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีการฝึกเขียนโค้ดผ่านเกม Minecraft จะช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐานให้เยาวชนได้ใช้วิเคราะห์ แก้ปัญหาและใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในทุกอาชีพและเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน
“การมีทำงานร่วมกับเยาวชนและหน่วยงานภาคเอกชนนั้นถือว่าเป็นงานหลักของ UN-ACT เนื่องจากเยาวชนนั้นมีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาการค้ามนุษย์ ในนามของ UN-ACT เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในโครงการที่เป็นประโยชน์ ด้วยการมอบทักษะด้านคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นซึ่งจะช่วยเสริมสร้างโอกาสทางอาชีพให้แก่เยาวชน และลดความเสี่ยงต่อการเอารัดเอาเปรียบด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป” นางสาวคาโอริ คาวาราบายาชิ ผู้จัดการโครงการระดับภูมิภาค โครงการความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำสหประชาชาติ (UN-ACT) กล่าว
“พลังของสื่อและเทคโนโลยี มีอิทธิพลในการรณรงค์ระดับภูมิภาคเพื่อช่วยป้องกันกระบวนการค้ามนุษย์ ในขณะที่การสร้างความรู้ความเข้าใจในระดับชุมชนนั้นจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน ด้วยการทำให้เยาวชนให้เป็นกระบอกเสียงภายในชุมชน ด้วยมีความหวังว่าเด็กๆ จะสร้างสื่อดีเพื่อเตือนภัยให้กับเพื่อนๆ ในชุมชนของพวกเขาได้ IOM X เชื่อว่า โครงการ YouthSpark จะเสริมสร้างความสามารถให้แก่เยาวชนผู้มีความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ ด้วยโอกาสอันมีค่าโดยให้เยาวชนได้รับความรู้ด้านเทคโนโลยี และพวกเขายังสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตและชุมชนเพื่อป้องกันกระบวนการค้ามนุษย์ได้ต่อไป” คุณทาร่า เดอมอท หัวหน้าโครงการรณรงค์เสริมสร้างความรู้ด้านปัญหาการค้ามนุษย์ ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM X) กล่าว
“มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยมีเป้าหมายในการปกป้องการค้ามนุษย์ ภายใต้ ‘โครงการปกป้องคุ้มครองเด็กและยุติการค้ามนุษย์’ โดยทางมูลนิธิมีเป้าหมายที่จะเข้าถึงพื้นที่ 6 จังหวัดชายแดน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เยาวชนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์ในระดับต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายมากของมูลนิธิเป็นอย่างมาก การร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในการอบรมเยาวชนในโครงการ Microsoft YouthSpark – เพื่อเสริมสร้างความสามารถให้แก่เยาวชนผู้มีความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ด้วยทักษะไอซีทีและวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทำให้แกนนำเยาวชนได้รับทักษะทางไอซีทีที่จำเป็น เพื่อให้พวกเขากลับไปสอนทักษะเหล่านั้นให้กับน้องๆ ในชุมชน สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการอบรมคือเยาวชนมีความกระตือรือร้นและให้ความสนใจในการเรียนรู้เป็นอย่างมาก ด้วยเนื้อหาที่กระตุ้นความคิด เยาวชนสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดกับสิ่งที่ชุมชนได้ดำเนินงานมา ซึ่งเยาวชนเองก็ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการร่วมมือแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยเฉพาะในด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและการรณรงค์ป้องกันการค้ามนุษย์” ดร.บรรจงเศก ทรัพย์โสภา ผู้อำนวยการฝ่ายระดมทุนและการตลาด มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ใน กล่าว
“ไมโครซอฟท์ได้ร่วมมือกับสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน มอบทักษะด้านไอทีและคอมพิวเตอร์แก่เยาวชนภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล มาตั้งแต่ปี 2556 และในปีนี้ เรามุ่งไปที่การปกป้องเยาวชนจากปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งจะทำให้เยาวชนเรียนรู้ที่จะใช้ความรู้ที่ได้ในการปกป้องตนเอง สร้างอาชีพเพื่อการพึ่งพาตนเองและสามารถสร้างสรรค์และแบ่งปันทักษะเหล่านี้ให้แก่เพื่อนหรือชุมชนได้ต่อไป เราหวังว่าการร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในครั้งนี้จะทำให้เยาวชนได้รับประโยชน์ต่อไปในอนาคต” นางศรีศักดิ์ ไทยอารี ผู้อำนวยการสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ฯ (สอ.ดย.) กล่าว
“โครงการนี้ทำให้รับรู้เกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์และทำให้เราระมัดระวังตนเองมากขึ้น ข้อสำคัญคือ อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า เพราะในชุมชนที่อาศัยอยู่อาจมีคนที่เราไม่คุ้ยเคยและเป็นอันตราย เช่น คนต่างถิ่นที่มาอาศัยอยู่ในชุมชนอาจจะเป็นหนึ่งในกระบวนการค้ามนุษย์ก็ได้ หรือแม้แต่สื่อในอินเตอร์เน็ตตอนนี้ก็มีผลอย่างมาก เป็นเรื่องที่ต้องระวังมากขึ้นค่ะ กิจกรรมนี้ให้หนูและเพื่อนๆ มีโอกาสสร้างสื่อดีๆ ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์หรือเว็บไซต์บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นเรื่องที่หนูคิดว่าจะสามารถช่วยเตือนภัยเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้เพื่อนๆ ได้ นอกจากการเข้าร่วมกิจกรรมการสร้างสื่อที่มีความสนุกแล้ว ยังทำให้เห็นว่าเรามีศักยภาพในการช่วยแก้ปัญหามากกว่าที่เราคิดและทำให้เรามีแรงบันดาลใจไปบอกคนอื่นๆ ถึงปัญหานี้ต่อไปด้วยค่ะ” นางสาวจีรวรรณ พรบรรจงกุล เยาวชนผู้เข้ารับการอบรม กล่าว
โครงการ Microsoft YouthSpark – จัดตั้งเพื่อเสริมสร้างความสามารถให้แก่เยาวชนผู้มีความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ด้วยทักษะไอซีทีและวิทยาการคอมพิวเตอร์ จะขยายผลไปยัง 10 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะเข้าถึงเยาวชนกลุ่มเสี่ยงจำนวนกว่า 1,300 คนทั่วประเทศ
[ข่าวประชาสัมพันธ์]