นิติศาสตร์ จุฬา และ Chula UTC จับมือที่ปรึกษาทางกฎหมาย เปิดตัว “คลินิกกฎหมายเพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่การพาณิชย์” หรือ Law Clinic for Tech & Spin-off

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

[ข่าวประชาสัมพันธ์]

 

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UTC) และบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย Tilleke & Gibbins International และ Kudun & Partners เปิดตัว “โครงการคลินิกกฎหมายเพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่การพาณิชย์” หรือ Law Clinic for Tech & Spin-off เพื่อให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย แก่นักวิจัย นวัตกร ส่งเสริมการขับเคลื่อนนวัตกรรม ผลงานวิจัยออกสู่ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมจัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “ประเด็นกฎหมายกับการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่การพาณิชย์”

 

 

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการคลินิกกฎหมายเพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่การพาณิชย์ ได้จัดตั้งขึ้น สืบเนื่องจากได้เล็งเห็นถึงประเด็นปัญหากฎหมายที่อาจเกิดขึ้นได้ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมผลงานวิจัยออกสู่ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความรับผิดทางกฎหมายสำหรับนักวิจัย นวัตกร และทำให้ผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีหรือด้านนวัตกรรมต่าง ๆ ไม่สามารถสร้างผลผลิตเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มศักยภาพ อันเนื่องมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจและความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย ประกอบกับทางคณะนิติศาสตร์มีทิศทางในการปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนโดยเพิ่มการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติการจริงหรือ Legal Experiential Learning เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมที่ต้องการนักกฎหมายที่มีความพร้อมในการทำงานหลังจากสำเร็จการศึกษา จึงเป็นที่มาของความร่วมมือโครงการดังกล่าว

 

 

อ.ดร.ประวีร์ เครือโชติกุล หัวหน้าโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UTC) กล่าวว่า UTC เป็นหน่วยงานที่ช่วยขับเคลื่อนงานวิจัยที่มีพื้นฐานเทคโนโลยีเชิงลึกจากห้องวิจัยไปสู่ตลาด โดยที่มุ่งเน้นใน 3 แกนหลัก ได้แก่ MedTech, AI/DS/Robotics และBioTech โดย UTC ทำหน้าที่เสมือนเป็นคนกลางในการเชื่อมโยงองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อให้การพัฒนางานวิจัยเป็นไปอย่างมุ่งเป้า มีทิศทางและสามารถที่จะสร้างคุณค่าให้กับเศรษฐกิจและสังคมได้จริง ซึ่ง UTC จะทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาคการศึกษาและภาครัฐ ช่วยนักวิจัยในเรื่องการทำ Tech Market fit และทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆทั้งในและต่างประเทศ ในการหาพื้นที่ทดสอบนวัตกรรม เก็บผลและนำผลมาปรับปรุง พร้อมช่วยให้คำแนะนำและวางกลยุทธ์ให้แก่นักวิจัยในการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงให้คำแนะนำพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner) ที่จะเพิ่มมุมมองทางธุรกิจให้กับนักวิจัยได้ สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปได้

โดยคลินิกกฎหมายเพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่การพาณิชย์ จะแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ คลินิกกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (IP Clinic) ซึ่งจะมีการจัดอบรมให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาตลอดจนให้ความช่วยเหลือในประเด็นต่าง ๆ สำหรับงานวิจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการวิจัยที่มีศักยภาพภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนของ UTC ซึ่งจะขยายต่อไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ในอนาคตทั้งในและนอกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคลินิกกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจะมีการดำเนินงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายTilleke & Gibbins International และคลินิกกฎหมายธุรกิจ (Corporate Law Clinic) ซึ่งจะร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย Kudun & Partners ทั้งนี้ Law Clinic for Tech & Spin-off มีความคาดหวังที่จะขับเคลื่อนให้นวัตกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่องเต็มศักยภาพลดทอนความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย รวมทั้งก่อให้เกิดคุณค่าทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างและเป็นรูปธรรม

 

 

อ.ดร.ภูมิศิริ ดำรงวุฒิ รองคณบดี ด้านงานวิรัชกิจและนิตินวัตกรรม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่เข้าไปช่วยดูแลนั้น จะเป็นโครงการที่ผ่านการบ่มเพาะโดย UTC แต่ความจริงแล้วในจุฬาฯ ยังมีนวัตกรรมและโครงการที่มีคุณค่าจำนวนมากที่พร้อมจะถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือเป็น spin-off ต่อไป ซึ่งความต้องการนี้เป็นสิ่งที่ Law Clinic พยายามที่จะตอบสนอง อีกทั้งยังมีโครงการหลายอย่างในประเทศไทยที่มีคุณค่ามากและเป็นเทคโนโลยีที่สามารถผลักดันเข้าสู่การพาณิชย์ได้จริง ๆ แต่เมื่อมีประเด็นข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เหล่านักวิจัยอาจจะไม่ทราบทำให้เกิดความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย หรือไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่ถูกต้อง ซึ่งทาง Law Clinic จะเสนอบริการที่รอบด้าน (comprehensive service) ที่นักวิจัยในเครือข่ายสามารถเดินเข้ามาสอบถามและดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นจนจบเหมือนมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศที่มีหน่วยงานเฉพาะที่พร้อมให้บริการอย่างครบวงจร ซึ่งในอนาคต จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศก็ควรที่จะสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมของไทยให้ได้ในระดับเดียวกัน Law Clinic จึงเข้ามาช่วยเป็นโมเดลในการตอบโจทย์ด้านกฎหมายในส่วนนี้

 

 

นอกจากนี้ยังได้มีงานจัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “ประเด็นกฎหมายกับการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่การพาณิชย์” เพื่อถ่ายทอดแบ่งปันประเด็นปัญหาหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่พบเจอ จากนักวิจัย และนักกฎหมาย อาทิ   ศ.น.สพ.ดร. เผด็จ ธรรมรักษ์ หัวหน้าโครงการ Progesterone Test Kit หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์ เธนูเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, อ.ดร. เอกพล ช่วงสุวนิช หัวหน้าโครงการ Gowajee อาจารย์ประจำภาควิชา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ, คุณสืบสิริ ทวีผล ทนายความหุ้นส่วน บริษัท ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และคุณกุดั่น สุขุมานนท์ ผู้ก่อตั้งและทนายความหุ้นส่วน บริษัท กุดั่น แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด

[ข่าวประชาสัมพันธ์]


  •  
  •  
  •  
  •  
  •