ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ประกาศการลงทุนของ ‘กรุงศรี ฟินโนเวต’ ใน Grab ผู้ให้บริการซุปเปอร์แอป (Super App) ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ก่อนหน้านี้ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป หรือ MUFG ได้ประกาศถึงการลงทุนใน Grab ด้วยจำนวนเงินสูงสุดถึง 706 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านธุรกิจการเงินในเครือข่าย MUFG อันได้แก่ MUFG Bank MUFG Innovation Partners และกรุงศรี ฟินโนเวต ในการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรมด้านการเงินจากความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในลูกค้า เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินของผู้ใช้บริการ ผู้ขับขี่ และร้านค้าพันธมิตรของ Grab ได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับประเทศไทย ความร่วมมือระหว่างกรุงศรีและ Grab จะช่วยทำให้กรุงศรีสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าใหม่ในประเทศ อีกทั้งยังเสริมสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุมและทั่วถึงในกลุ่มลูกค้าใหม่ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจ “การธนาคารอย่างยั่งยืน” ของกรุงศรี
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว Grab Financial Group จะเปิดตัวบริการสินเชื่อในประเทศไทย โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อรายย่อยของกรุงศรี ทั้งนี้ Grab Financial Group และกรุงศรีจะร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศทางธุรกิจของ Grab ซึ่งประกอบไปด้วยลูกค้า ผู้ขับขี่ยานพาหนะ และร้านค้าพันธมิตรของ Grab Food นอกจากนี้ Grab และกรุงศรีจะใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Technology) เพื่อพัฒนารูปแบบจำลองคะแนนเครดิต (Credit Scoring Models) และส่งมอบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่อให้แก่ผู้บริโภคที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศไทย
เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Grab เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนไทย การเป็นพันธมิตรและร่วมอยู่ในระบบนิเวศทางธุรกิจของ Grab ทำให้กรุงศรีสามารถส่งมอบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้แก่ลูกค้า ร้านค้า และผู้ขับขี่ของ Grab ซึ่งอาจมีบางส่วนที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน
“เมื่อเชื่อมโยงกับพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลของกรุงศรี ความร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจแก่ธนาคาร แต่ยังสร้างผลลัพท์เชิงบวกด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการสร้างงานและการกระจายรายได้ ซึ่งจะนำสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในประเทศต่อไป” นายอาคิตะกล่าวเพิ่มเติม
รูเบ็น ไล กรรมการผู้จัดการอาวุโส แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป กล่าวว่าเชื่อว่าการสร้างพันธมิตรของระบบนิเวศทางธุรกิจมีความจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจะผสานความร่วมมือกับกรุงศรีในการใช้ความรู้ความเข้าใจในลูกค้าของเราและความเชี่ยวชาญด้านการเงินของกรุงศรีเพื่อส่งมอบโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อรายย่อยและบริการการเงินอื่นๆ ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและแรงงานอิสระของระบบเศรษฐกิจแห่งอนาคต (Gig Economy)
ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรมของกรุงศรี กล่าวว่า “ความร่วมมือของกรุงศรี ฟินโนเวต MUFG Bank และ MUFG Innovation Partners ในการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกับ Grab นับเป็นการผสานพลังพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทย ในฐานะผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กรุงศรีจะใช้ศักยภาพความเป็นผู้นำตลาดด้านสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อส่งมอบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ภายใต้ความร่วมมือนี้ กรุงศรีและ Grab จะร่วมกันพัฒนาวิธีการพิจารณาสินเชื่อและรูปแบบจำลองคะแนนเครดิตระบบใหม่ อาทิ ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าจากแพลตฟอร์มของทั้งสองฝ่าย และร่วมกันพิจารณาสินเชื่อสำหรับผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศทางธุรกิจของ Grab ซึ่งรวมถึงผู้ใช้ ผู้ขับขี่และพันธมิตรร้านอาหาร”
วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า “การเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐาน เช่น บริการสินเชื่อ ยังคงเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยากสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย หรือธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทย แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ได้บุกเบิกการให้บริการสินเชื่อเพื่อพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่แกร็บ ผู้ประกอบการรายย่อย และร้านอาหารพันธมิตรของแกร็บฟู้ด ความร่วมมือกับกรุงศรีด้านนวัตกรรมของข้อมูลในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของแกร็บในการสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินในชีวิตประจำวันให้แก่คนไทย”
ภายใต้กลยุทธ์ด้านดิจิทัล “Think Digital First” และการสร้างประสบการณ์เหนือระดับ “Enhance Customers’ Experience” กรุงศรีสามารถรวบรวมข้อมูลด้านความต้องการลูกค้าจากการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ AI เพื่อให้ธนาคารสามารถส่งมอบบริการทางการเงินที่เหมาะสมผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ลูกค้าสามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน