[ข่าวประชาสัมพันธ์]
วูบ หน้ามืด หมดสติ อย่ามองข้าม เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการที่หัวใจเต้นช้าหรือเร็วมากเกินไป ทำให้หัวใจปั๊มเลือดได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จึงมีอาการเป็นลมหมดสติได้
นายแพทย์ปริวัตร เพ็งแก้ว อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานีกล่าวว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ การที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ เป็นภาวะที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยสามารถสังเกตอาการโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ดังนี้
- ใจสั่น
- เจ็บหน้าอก
- หายใจหอบ
- วิงเวียนศีรษะ และหน้ามืด
ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง อาจหมดสติจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์อาจพิจาณาการตรวจโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเพิ่มเติม ได้แก่
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) คือ การตรวจหาความผิดปกติของลักษณะไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งการตรวจนี้ สามารถนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ที่มีผลต่อหัวใจ โดยใช้เวลาในการตรวจไม่เกิน 5 นาที
- Holter Monitoring คือ การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบตลอดเวลา ในช่วงระยะเวลา 24 – 48 ชั่วโมง เป็นการตรวจที่ใช้บ่อยในผู้ป่วยที่มาด้วยอาการใจสั่นหรือเป็นลม
เมื่อพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ การรักษาทั่วไปแพทย์จะพิจารณาการใช้ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ หรือรักษาโดยการจี้ไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งการจี้ไฟฟ้าเป็นการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด ไร้แผล ไม่ต้องใช้ยาสลบและไม่เจ็บตัวขณะที่ทำการรักษา
“การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยเทคนิคการจี้ไฟฟ้าหัวใจ มีโอกาสหายขาดถึง 95-98% โดยใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล 1 คืน หลังจากทำเสร็จผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำเพียงแค่ 1% เท่านั้น” นายแพทย์ปริวัตร กล่าว
[ข่าวประชาสัมพันธ์]