สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) จับมือกรมการท่องเที่ยว เปิดโครงการนำร่องเปิดตัวคาแร็คเตอร์ประจำจังหวัดทั่วไทย

  • 45
  •  
  •  
  •  
  •  

[ข่าวประชาสัมพันธ์]

DEPA_11

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ประกาศความสำเร็จโครงการคาแร็คเตอร์ ดีไซน์ เวิร์คชอป (Character Design Workshop) หลังจัดโครงการพัฒนาศักยภาพนักออกแบบไทยพร้อมจัดกิจกรรมเวิร์คชอปและการประกวดเพื่อเฟ้นหาสุดยอดคาแร็คเตอร์ดีไซน์ในหัวข้อ “คาแร็คเตอร์ ประจำจังหวัดในประเทศไทย” ล่าสุดได้คัดเลือก 20 ผลงานที่มีความโดดเด่น และ 5 ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และประกาศความพร้อมเปิดตัวโครงการนำร่องล่าสุด ด้วยความร่วมมือกับกรมการท่องเที่ยว ต่อยอดความสำเร็จของผลงานที่ชนะเลิศในเชิงพาณิชย์สู่การเป็นคาแร็คเตอร์ประจำจังหวัดที่จะถูกนำไปใช้จริง

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ และผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เผยว่า “ในปัจจุบันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์นับเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่สามารถเติบโตและส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศได้มหาศาลในอนาคต ผลการสารวจในปี 2558 มีมูลค่าตลาดรวมสูงกว่า 12,000 ล้านบาท โดยพบว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและได้รับการยอมรับในระดับสากลในการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งมีข้อมูลการส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาท โดยมีทิศทางเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูงสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น อุตสาหกรรมเกม และธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ฝีมือคนไทย ก็มีความโดดเด่นไม่แพ้ระดับสากล เป็นที่จดจำ คนไทยรู้จักกันดี อาทิ การ์ตูนแอนิเมชั่นก้านกล้วย ปังปอนด์ คุณทองแดง อย่างล่าสุด ยักษ์ ที่ทำออกมาได้อย่างมีเอกลักษณ์ มีความร่วมสมัย แต่ยังคงความเป็นไทย ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชม หรือน้องมะม่วง ผลงานของนักวาดการ์ตูนไทยรุ่นใหม่ ที่มีลายเส้นน่ารัก เข้าใจง่าย โด่งดังไกลถึงประเทศญี่ปุ่น จากผลงานเหล่านี้จะเห็นได้ว่าแนวโน้มของวงการดิจิทัลคอนเทนต์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น คนไทยก็เริ่มหันมานิยมงานฝีมือคนไทยด้วยกันเองมากขึ้น ทั้งยังสามารถต่อยอดทางธุรกิจได้ในหลากหลายทาง”

เหล่านี้จึงเป็นที่มาของโครงการ คาแร็คเตอร์ ดีไซน์ เวิร์คชอป (Character Design Workshop) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) โดยโจทย์ในโครงการครั้งนี้คือ การออกแบบ “คาแร็คเตอร์ ประจำจังหวัดในประเทศไทย” โดยมีจุดประสงค์ที่จะสร้างคาแร็คเตอร์ตัวการ์ตูนไทยให้เป็นที่จดจำ สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ตอบรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นกรอบการขับเคลื่อนประเทศ โดยที่มีส่วนของ New S Curve ที่เป็นการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการพัฒนาและผลิตสินค้า หรือบริการใหม่ๆ จากธุรกิจเดิมให้มีมูลค่ามากขึ้น พร้อมมุ่งสู่ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ระดับโลก และยังได้รับความร่วมมือจากกรมการท่องเที่ยว เพื่อผลักดันโครงการสู่ความร่วมมือในการส่งต่อคาแร็คเตอร์ไปยังจังหวัดและชุมชน สร้างความเป็นอัตลักษณ์และส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งนี้คาแร็คเตอร์ดีไซน์ยังสามารถถูกพัฒนา ต่อยอดใช้กับสินค้าประจำจังหวัด สร้างมูลค่าเพิ่ม บอกเล่าเรื่องราวของจังหวัดนั้นๆได้ หรือจะสร้างเป็นเกม ของเล่น ของสะสม กลายเป็นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับจังหวัดอีกด้วย

DEPA_3

นางสาววรรณสิริ โมรากุล อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เผยว่า “ในความร่วมมือในครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากภาครัฐเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรม Creative Economy ที่จะสามารถผลักดันและสร้างมูลค่าเพิ่มในส่วนต่างๆได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการท่องเที่ยว ที่ผ่านมากรมการท่องเที่ยวได้มีการจัดทำสินค้าต้นแบบของชุมชน เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ที่จะผลักดันสู่ชุมชนให้เกิดรายได้ ซึ่งความคิดดังกล่าวไปสอดคล้องกับโครงการ Character Design Workshop ที่ DEPA ได้ดำเนินการ จึงเห็นว่าน่าจะเกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน เพื่อนำตัวคาแร็คเตอร์ประจำจังหวัดดังกล่าวเป็นส่วนผลักดันให้คาแร็คเตอร์เป็นที่จดจำ และช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยคาดหวังที่จะปั้นคาแร็คเตอร์ฝีมือคนไทย ให้เป็นฑูตประจำจังหวัด ทั้งนี้ข้อสำคัญในการที่จะทำให้คาแร็คเตอร์ให้เป็นที่จดจำ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้นั้น คาแร็คเตอร์เหล่านั้นจะต้องมีการนำเสนอแต่ละจังหวัดอย่างชัดเจน โดยสร้างชีวิตและจิตวิญญานลงไปเสมือนมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ ในเบื้องต้นทางกรมท่องเที่ยวจะเริ่มจากการเอาคาแร็คเตอร์เหล่านี้ไปใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัด เพื่อสร้างการจดจำในจุดเด่น พร้อมด้วยการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เช่น การทำ merchandising โดยการนำคาแร็คเตอร์เหล่านี้ไปใช้ในผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ของแต่ละจังหวัด”

สำหรับรางวัลของ 5 ผลงานชนะเลิศของโครงการฯ จะได้รับโอกาสไปฝึกงานในสตูดิโอเกล (Gale) ผู้สร้างตัวการ์ตูน โพโรโระที่โด่งดังในเกาหลี เป็นเวลา 1 เดือน โดยทั้ง 5 ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกมานี้ ได้แสดงให้เห็นถึงที่มาของแรงบันดาลและแนวคิดในการสร้างสรรค์คาแร็คเตอร์ ให้มีความโดดเด่น พร้อมจะต่อยอดสู่การเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัด ได้แก่

DEPA_7
บวมแต้ม / Buatam คาแร็คเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานี โดย นวรรณ ชุณหสิริ (อะตอม)
DEPA_4
ขอน / Khon Little Dinosaur คาแร็คเตอร์ จังหวัดขอนแก่น โดย พิมพ์อัปสร ไชยศิริ (ยะหยา)
DEPA_5
ไข่นุ้ย / Kai Nui คาแร็คเตอร์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดย วริศรา รัตนะโสภณชัย (ปอ)
DEPA_8
ภูหมอก / Phumork คาแร็คเตอร์ จังหวัดเลย โดย ศรณ์ ศรไพศาล (จ้อบ)
DEPA_6
บอราก้อน / Boragon คาแร็คเตอร์ จังหวัดนครสวรรค์ โดย เอกราช วรสมุทรปราการ (อ้น)

“ทาง DEPA มีเป้าหมายที่จะผลักดันนักออกแบบไทย ต่อยอดอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทย ให้ก้าวไกลสู่ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ระดับโลก ในยุคที่เราใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลเป็นกำลังขับเคลื่อนประเทศ ด้านการทำงานจึงต้องมียุทธศาสตร์ และมีแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจน ด้วยกลยุทธ์ในการสร้างสภาพแวดล้อม พัฒนาขีดความสามารถ ให้นักออกแบบไทยเป็นนักคิด และนักสร้างสรรค์ นักเล่าเรื่องราว ผ่านการ์ตูนที่มีคาแร็คเตอร์ เฉพาะตัว ในวัฒนธรรมร่วมสมัย และคาดหวังว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทย ที่มีความพร้อมทางด้านฝีมือและบุคลากร และด้วยการสนับสนุนของภาครัฐ จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดิจิตอลคอนเทนต์ในภูมิภาคอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้” ดร.ณัฐพล กล่าวปิดท้าย

[ข่าวประชาสัมพันธ์]


  • 45
  •  
  •  
  •  
  •