Marketing Oops! The Untold Insights EP.9 Travelers Untold Insights นักท่องเที่ยวยุคใหม่ เป็นแบบไหนกัน

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

 

Marketing Oops! The Untold Insights EP.9 ชวนฟังเรื่องราวสนุกๆ ข้อมูลชิงลึก ที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน โดย ณีว มาวิจักขณ์ Managing Partner – Marketing & Development, GroupM Thailand และ แพน จรุงธนาภิบาล Director – Marketing & Development, GroupM Thailand ซึ่ง Episode นี้จะมาชวนพูดคุย Insights ของคนชอบเที่ยว หลังการเปิดประเทศมาพักใหญ่ รวมถึงต้นปีนี้เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่คึกคักน่าสนใจจากการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว แบรนด์ นักการตลาด และธุรกิจ จะเข้าไปจับหัวใจของกลุ่มคนชอบเที่ยวนี้ได้อย่างไร โปรดติดตาม

ที่ผ่านมาผู้บริโภคอดทนกับหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาด หรือความไม่มั่นคงทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถจะออกไปใช้ชีวิต ไปท่องเที่ยวได้เหมือนเมื่อก่อน แต่ตอนนี้ภาพของประเทศเราเริ่มดีขึ้น เริ่มมีความหวัง ทำให้คนมีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตมากขึ้น ดังนั้น การท่องเที่ยวจึงเป็นภาพหนึ่งที่สะท้อนว่า ความอึดอัดนี้ผ่อนคลายลง และความตึงเครียดจากสถานการณ์ที่ผ่านมาก็ถูกปลดปล่อย

หลายคนเห็นจากที่มีประโยคฮิตที่บอกว่า #ให้รางวัลกับตัวเอง หนึ่งในนั้นคือ “การท่องเที่ยว” แต่เป็นเพราะอะไร?
เมื่อลองมาวิเคราะห์ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ การให้รางวัลกับตัวเองคือการท่องเที่ยว เพราะว่า ผู้คนเสพคอนเทนต์จากคนรอบตัว หรือเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่ได้เดินทางไปท่องเที่ยวกันมากขึ้น สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดความต้องการ ทำให้เกิดดีมานด์ สอดคล้องกับหลักของการตลาดที่ว่า การจะสร้างดีมานด์ได้ ก็ต้องเริ่มจากการสร้างการตระหนัก (Awareness) เพราะฉะนั้นผู้บริโภคก็เกิดดีมานด์จากการเห็นเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และผู้คนต่างๆ จากนั้นก็จะเกิด Consideration เริ่มคิดแล้วว่าจะไปหาข้อมูล ตรวจสอบบัดเจ็ท และสานต่อด้วย Action คือการเดินทางไปเที่ยว จบด้วยการแชร์ต่อให้เพื่อนหรือบนโลกโซเชียลฯ (Advocacy) มันคือการวนลูปของการสร้างดีมานด์ต่อไปเรื่อยๆ สำหรับ Journey ที่เกิดขึ้นยังพบว่า คอนเทนต์ส่วนใหญ่เกิดจาก User generated content ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นโปรดักส์ชั่นดีๆ ก็ได้ ยิ่งทำให้เกิดวงจรของ Journey ที่หมุนเร็วขึ้นอย่างมาก

 

นักท่องเที่ยวไทยแบ่งเป็น 3 ประเภท

#1 Escape Seeker
คนทั่วไปที่อยากจะหนีออกไปจากโลกแห่งความเป็น จริง เพราะสังคมเต็มไปด้วยแรงกดดันและการแข่งขัน ไม่ได้แข่งกับคนอื่นเท่านั้น แต่ตอนนี้อาจจะต้องแข่งกับเทคโนโลยีอีกด้วย เกิดความตึงเครียดในโลกที่เขาใช้ชีวิตอยู่ ดังนั้น เขาก็ต้องการที่จะหนีออกไปอยู่กับความสงบของชีวิตบ้าง ไม่ต้องเครียดเรื่องงานหรือความรัก และก็ไม่ได้จำกัดแค่ว่าหนีไปเที่ยวใกล้ๆ ในประเทศ แต่อาจจะไปต่างประเทศในระยะสั้นๆ หรือประเทศเพื่อนบ้านก็ได้ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของคนกลุ่มนี้มากที่สุดคือ “ข้อมูล” เพราะเมื่อตัดสินใจอย่างฉับไวรวดเร็วว่าจะไป ดังนั้น ข้อมูลก็ต้องมีความพร้อมในระดับหนึ่งด้วย ขณะที่บัดเจ็ทในการเที่ยวแบบนี้ก็สำคัญ แต่อาจจะไม่ได้มาก เป็น Small pocket เป็นปุ๊ปปั๊บทัวร์ที่เงินที่มีอยู่สามารถนำมาใช้ได้เลย

#2 Self Rewarder
กลุ่มที่ชอบให้รางวัลตัวเอง ต่างจากกลุ่มแรกตรงที่มีการวางแผนมาค่อนข้างนาน การให้รางวัลตัวเองตรงนี้ ก็อาจจะเป็นการที่เขาเก็บเงินสะสมมาทั้งปีเลยก็ได้ และรูปแบบการเดินทางก็อาจจะไกลขึ้นมาหน่อย และอาจจะใช้เวลาเที่ยวที่นานขึ้น ส่วนเรื่องการใช้เงิน ค่อนข้างที่จะลงทุนกับทริปที่ไป ไม่ว่าจะเป็น ค่าที่พัก ค่ากิน รวมถึงตั๋วเดินทางด้วย เช่น บางคนให้รางวัลตัวเองด้วยการบิน Business Class ส่วนสิ่งที่คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญมากที่สุดคือเรื่องของ “ความปลอดภัย”

#3 Explorer
คือกลุ่มคนที่ออกไปหาประสบการณ์ใหม่ และความพิเศษคือ ไม่ใช่แค่ประสบการณ์ธรรมดา แต่ต้องเป็นประสบการณ์ใหม่ๆๆๆๆ (New new new experiencer) กลุ่มนี้ไม่ได้สนใจว่าจะไประยะเวลาสั้นหรือยาว แต่สถานที่ที่เขาไปจะต้องเป็นสถานที่ใหม่ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้เขาได้ ส่วนการใช้บัดเจ็ตเป็นได้หมดทั้งก้อนใหญ่และก้อนเล็ก ขณะที่สถานที่ที่จะไปก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นต่างประเทศ หรือประเทศแปลกๆ เท่านั้น แต่ถ้าเป็นในประเทศ หรือพื้นที่ใกล้ๆ แต่แปลกใหม่ เขาก็สนใจที่จะไปเลย เช่น ร้านลับกรุงเทพฯ เมืองลับเชียงใหม่ เป็นต้น

 

จากอินไซต์ดังกล่าวนักการตลาดและแบรนด์ จะสร้างโอกาสในการนำไปใช้ได้อย่างไร

สำหรับกลุ่ม “Escape Seeker” เมื่อพวกเขาต้องการข้อมูล แบรนด์จะต้องเข้าไปในจังหวะ On going strategy เมื่อผู้บริโภคอยากได้อะไร เราอาจจะต้องมีข้อมูลที่เตรียมพร้อมให้ไว้กับผู้บริโภค โดยเป็นบริการที่สามารถสื่อสารแบบ 2 ทางให้กับผู้บริโภคได้ แบรดน์จะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวของเขาสมูท โดยต้องระวังว่าแบรนด์จะต้องเข้าไปแบบ Human to human communication เพราะผู้บริโภคไม่ต้องการคุยกับโรบ็อท

กลุ่ม “Self Rewarder” ซึ่งเป็นกลุ่มที่วางแผนมาอย่างดี อยากจะให้สิ่งที่ตัวเองทุ่มเทมาคุ้มค่าด้วยการให้รางวัล สิ่งที่เขาต้องการคือความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่แค่ความปลอดภัยของตัวเอง แต่ยังรวมถึงทรัพย์สินต่างๆ ด้วย ดังนั้น แบรนด์ต้องกำจัดสิ่งที่จะสร้างความไม่ปลอดภัย หรือก่อให้เกิดความกังวลแก่เขาออกไปให้ได้ โดยช่วงเวลาที่แบรนด์ควรจะเข้าไปนั้น จะต้องเป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างที่คนกลุ่มนี้กำลังวางแผนเที่ยว ซึ่งอยู่ในระหว่างการตัดสินใจว่าเขาจะซื้อสินค้าหรือบริการใดที่จะทำให้เขาหมดความกังวลต่างๆ ได้ เช่น ประกันการเดินทาง ซิมมือถือ เสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง ฯลฯ

สุดท้ายกลุ่ม “Explorer” อันนี้ไม่อยากให้แบรนด์มองว่าสถานที่คือที่ใหม่ๆ เสมอไป เพราะมันอาจจะเป็นประสบการณ์ใหม่จากที่เก่าก็ได้ แต่จะทำอย่างไรให้คนอยากมา อย่างการจัดอีเวนต์ต่างๆ เราจะทำอย่างไรที่จะดึงให้เขากลับมา

ทั้งหมดนี้ ก็มองว่าไม่ได้หมายความว่าถ้าคุณไม่ใช่แบรนด์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวจะทำไม่ได้เลย แต่หากพิจารณาดีๆ ก็จะพบโอกาสและช่องทางในการวางตัวเองเข้าไปใน Insight นี้อย่างแน่นอน.

 

Google Podcasts


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •